“ทีโดรส” ยกย่อง “สมัชชาสุขภาพไทย” บันทึกลงคู่มือ WHO เผยแพร่ทั่วโลก

by ThaiQuote, 17 ธันวาคม 2563

“อนุทิน” ชี้ ไทยคุมโควิด-19 สำเร็จ เกิดจากบูรณาการทุกภาคส่วน ย้ำรักษาระยะห่างสังคมต่อไป “ทีโดรส” ชม กระบวนการสมัชชาสุขภาพไทย กลไกทรงพลัง พร้อมบันทึกเป็น “ผลงานเด่น” ในคู่มือ WHO เผยแพร่ทั่วโลก

วัน 17 ธ.ค.63 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ภายใต้ประเด็นหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน จากทั้งที่เดินทางมาเข้าร่วมภายในงาน และประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่เชื่อมต่อทุกจังหวัด

ภายในงานสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมง เพื่อถกแถลงและปรับแก้ร่างมติสมัชชาสุขภาพฯ อย่างรอบด้านครบทั้ง 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 2. การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกรณีโรคระบาดใหญ่ ก่อนจะให้ความเห็นชอบร่วมกันเป็นฉันทมติโดยที่ไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จะนำมติสมัชชาสุขภาพฯ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญของงานสมัชชาสุขภาพฯ คือการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเยาวชนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา และการปาฐกถาพิเศษผ่านทางออนไลน์ของนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO)

นายอนุทิน กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า โควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี โดยทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 73 ล้านคน แต่ประเทศไทยพบผู้ป่วยประมาณ 4,200 คนเท่านั้น และหากนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพียง 18 คน ขณะที่อีก 1,000 คน ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

แม้ในช่วงแรกประเทศไทยจะถูกจับตามองว่าอาจเป็นศูนย์กลางการระบาดต่อจากประเทศจีน หากแต่ด้วยมาตรการที่จริงจังของรัฐ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขและความร่วมมือของคนไทย ทำให้ประเทศยืนหยัดต่อสู้กับโควิด-19 มาได้จนได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ ความสำเร็จนี้เกิดจากความสามารถของแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน

 

“แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างมีเอกภาพ รวดเร็วและมีคุณภาพ ตั้งแต่หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ลงไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. และภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตามยังต้องผนึกกำลังกันให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะต่อไปในอนาคตจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคหลายประการ เพื่อให้การประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจดำเนินไปได้” นายอนุทิน กล่าว

สอดคล้องกับ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ที่ปาฐกถาผ่านระบบออนไลน์ ชื่นชมประเทศไทยที่ผนึกกำลังทั้งภาครัฐ และภาคสังคม รวมทั้งมีมาตรการที่รอบด้าน ทำให้ควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้เป็นที่น่ายกย่อง และยังกล่าวถึงสมัชชาสุขภาพของไทย ว่าเป็นตัวอย่างที่ทรงพลัง ทำให้เกิดกลไกการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมในระดับชาติ ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นและไว้ใจกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน ความเชื่อมั่นและความเนื้อเชื่อใจกันนี้เอง เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงวิกฤต

“เรื่องราวของสมัชชาสุขภาพของไทยถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในผลงานเด่นที่จะบันทึกลงในคู่มือขององค์การอนามัยโลก เราตัดสินใจโดยไม่ลังเลที่จะนำเสนอเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากภาคีเครือข่ายหลากหลาย ผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะเผยแพร่ไปทั่วโลกในเร็วๆ นี้” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว

ด้าน น.ส.ไครียะห์ ตัวแทนเยาวชนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า อำเภอจะนะ เป็นเมืองนกเขาชวาเสียง มีการแข่งขันระดับอาเซียน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีแหล่งเกษตรอินทรีย์ ขณะที่ทะเลก็มีความอุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งเกิดโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

และพบว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ชาวบ้านจึงได้ลุกขึ้นมาจัดทำข้อมูลทรัพยากรในพื้นที่ด้วยตัวเองและพบว่าทะเลจะนะมีสัตว์น้ำมากกว่า 157 ชนิด โดยข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ให้ทะเลจะนะเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนสงขลาและอาเซียน และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ติดตามสภาพชายหาดและเก็บข้อมูลทุกเดือน เพื่อใช้ต่อรองในกรณีที่มีโครงการของรัฐหรือเอกชนเข้ามาบุกรุก

 

ขณะเดียวกันได้ทำโครงการเกี่ยวกับการศึกษาภูมิปัญญา ซึ่งภายใน 1 ปี พบว่ามีถึง 17 ภูมิปัญญา นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมอนุรักษ์ มีการฝึกทักษะ มีการทำสื่อต่างๆ ทั้งหมดทำให้เยาวชนมีความรักบ้านเกิด รักถิ่นฐาน และรักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนเป็นตำนานการต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและทะเลของชาวจะนะในทุกวันนี้


ข่าวที่น่าสนใจ

ศบค.ปรับใหม่! ตรวจโควิด-19 ผู้กักตัว 3 ครั้ง ใน 14 วัน