ชีวิตที่ต้องเลือกของ “”คนเก็บขยะ” เมื่อ “โควิด” ไม่น่ากลัวเท่า “ปากท้อง”

by ThaiQuote, 7 มกราคม 2564

วันนี้ เมื่อโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในระลอกใหม่ ทุกอาชีพต่างสาละวนกับการระวังป้องกัน และความนึกคิดที่พร่างพรู พร้อมกับการต้องแอบลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าอาชีพของตัวเองนั้น มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

“คนเก็บขยะ” อาชีพที่ดูด้อยค่าในสังคม และเราก็ถือวิสาสะแปลบทบาทของเขาในภาษาที่สวยหรูว่า “นักรีไซเคิลฐานราก” ต้องเผชิญชะตากรรมที่เสี่ยงต่อภัยเงียบอย่าง “การติดเชื้อโควิด-19” ไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่นๆ

ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่ กทม. ทั้ง 50 เขต มีปริมาณขยะมูลฝอยของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-ก.ย.63) ประมาณ 3.48 ล้านตัน โดยเฉลี่ย 9.5 พันตันต่อวัน ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ประมาณร้อยละ 9.89 โดยมีนัยยะสำคัญ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกและเศษอาหาร จากปัจจัยของการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ” ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือน ม.ค.-เม.ย.63 ที่มีปริมาณสูงกว่าปี 62 โดยเฉพาะเดือน เม.ย.เดือนเดียว มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 36.94% หรือคิดเป็น 3,453 ตันต่อวัน จากขยะทั้งหมด 9,347 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้สามารถแบ่งเป็นขยะพลาสติกที่สามารถใช้ประโยชน์ โดยนำมารีไซเคิลได้ประมาณร้อยละ 22

ในจำนวนขยะที่มากกว่า 9 พันตันต่อวันนั้น เราไม่มีโอกาสรู้หรอกว่า จะมีการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 หรือเชื้อโรคอื่นๆ อยู่มากน้อยแค่ไหน แม้จะไม่เคยมีรายงานว่า “คนเก็บขยะ” ติดชื้อโควิดเลยก็ตาม

ลุงชัย อายุ 60 ปี ชาวสระบุรี ย้ายถิ่นฐานสำมะโนครัว มาลงหลักปักฐานที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้กว่า 10 ปีแล้ว พร้อมกับ ภรรยา และลูกชายวัย 18 ปี อาชีพที่ทำมาตลอดคือ การตระเวนเก็บขยะ ในพื้นที่ ลำลูกกา และบริเวณถนนเลียบมอเตอร์เวย์ รอยต่อ กทม.และปทุมธานี

“ทุกวันก็ตระเวนเก็บดูของที่พอจะขายได้ไปเรื่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้รายได้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน จากที่เคยได้วันละ 500-600 บาท หักค่าน้ำมันแล้วเหลือวันละไม่กี่บาท ยิ่งช่วงนี้ยิ่งเสี่ยงกับโควิด-19 ด้วย” ลุงชัยบอกกับเรา เมื่อถามถึงรายได้ในแต่ละวัน

ช่วงโควิดระบาด ทุกอาชีพล้วนมีการป้องกันตัวเองตามมาตรการที่รัฐบาลแนะนำ ในส่วนของอาชีพคนเก็บขยะนั้น “ลุงชัย” บอกว่า “แล้วแต่เวรแต่กรรม”

แน่นอนว่า “กองขยะ” หรือ “ถังขยะ” เป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 และเชื้อโรคชนิดอื่นๆได้ง่าย ด้วยระบบการคัดแยกที่เริ่มต้นจากครัวเรือนของเรานั้น ยังไม่เป็นระบบอย่างเป็นมาตรฐาน ทำให้เราไม่รู้ว่าในขยะแต่ละถุง แต่ละถังนั้น มีเชื้อโควิด หรือขยะติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งมีตั้งแต่ ทิชชู่ หน้ากากอนามัย และสิ่งของอื่นๆ ที่เราไม่อยากจะนึกถึงผสมปนเปกับขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นสิ่งของมีค่าของ “นักรีไซเคิลฐานราก” อยู่ด้วยหรือไม่

“ไม่มีการป้องกันอะไร เราต้องระวังตัวเอง ระวังทุกอย่าง แล้วแต่ดวงมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดีกว่าอยู่บ้านแล้วอด ต้องออกมาเสี่ยงเอา แล้วแต่ดวงของเรา เพราะเราก็ทำเป็นอยู่อย่างเดียว ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไรจากรัฐ เพราะเราก็รู้ว่าเขาต้องทำหลายอย่างยิ่งมาเจอโควิด 2 รอบอย่างนี้ เราก็จำเป็นต้องพึ่งตัวเองก็เก็บหมดทุกอย่าง ขวดน้ำ เศษเหล็ก เตียง ที่นอน เอาเฉพาะสปริงที่อยู่ข้างใน โต๊ะ เก้าอี้ เลือกไม่ได้ต้องเอาหมดทุกอย่าง”

เมื่อพูดถึงความช่วยเหลือที่ต้องการจากรัฐบาล ลุงชัย นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกว่า “ไม่รู้จะให้เขาช่วยอย่างไร ที่ผ่านมาก็ถือว่าช่วยมาหมดทุกอย่างแล้ว ส่วนลุงเองไม่ได้เข้าร่วมโครงการอะไรเขา ทั้ง “เราไม่ทิ้งกัน” ที่แจกเงินคนละ 3,000 บาทต่อเดือน หรือว่า “คนละครึ่ง” เพราะเราทำไม่เป็น”

วันนี้ “ลุงชัย” มีแค่เพียงสิทธิจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ลุงบอกว่า พอได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่าง ข้าวสาร ไข่ไก่ และเครื่องปรุงรสต่างๆ

“ได้แต่บัตรคนจน ก็ดีว่าเขาเพิ่มให้อีก 3 เดือน เดือนละ 500 บาท ก็เอามาไว้ซื้อของ กดเป็นเงินไม่ได้ แต่ก็มีของมาไว้กิน ก็พอทุเลา ส่วนเงินที่ได้จากการเก็บขยะไปขายก็เอามาไว้ซื้อกับข้าว และใช้ในความจำเป็นอื่นๆ”

เสียงหัวเราะส่งท้ายการพูดคุย แม้จะดูลดบรรยากาศความอึมครึมลงได้บ้าง เพราะอาจบอกว่าได้ว่า แม้ลุงจะมีอาชีพ ที่อยู่ในจุดเล็กของสังคม ซึ่งไม่มีแสงสปอตไลต์ส่องลงมาถึง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะสิ้นไร้หนทางในการดำเนินชีวิตต่อไป

 

ข่าวที่น่าสนใจ

เฮลั่น! เกษตรฯ จ่อเยียวยา เกษตรกรกว่า 7 ล้านคน โดนพิษโควิด-19