อนุรักษ์ “พะยูน” เสียงสะท้อน รัฐ-ชุมชน ในวันครบรอบ 2 ปี การจากไปของ “มาเรียม”

by ThaiQuote, 16 สิงหาคม 2564

17 ส.ค.62 ครบรอบ 2 ปี วันที่ “มาเรียม” พะยูนน้อยเพศเมีย ขวัญใจของคนไทยและต่างชาติ เสียชีวิตลง ทั่วโลกต่างเศร้าใจ ผ่านมาแล้ว 2 ปี ขณะที่ความพยายามของภาครัฐ ได้แสดงถึงความตระหนักต่อการอนุรักษ์ “พะยูน” ในทะเลไทย เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ “มาเรียม โปรเจกต์”

“วราวุธ ศิลปะอาชา” รัฐมนตรี่ว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า มาเรียม เป็นบทเรียนราคาแพง จนเกิดเป็นแนวคิดในการอนุรักษ์และดูแลสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหายากอย่างเป็นระบบ ภายใต้ “มาเรียมโปรเจกต์” เพื่อสะท้อนความสำคัญและปัญหาด้านการจัดการสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหายาก

“มาเรียม โปรเจกต์” ถูกขับเคลื่อนไปสู่ “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” ระยะที่ 1 (2563-2565) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ การเพิ่มจำนวนประชากรพะยูน ในทะเลไทย ให้มีไม่น้อยกว่า 280 ตัว ในปี 2565


โดยมี Roadmap สำคัญที่ต้องขับเคลื่อน ได้แก่ 1) การอนุรักษ์และลดภัยคุกคามพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัย 2) การดำเนินการศึกษาวิจัยพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัย 3) การช่วยชีวิตและดูแลรักษาพะยูนเกยตื้น และ 4) การส่งเสริมการสร้างจิตสานึกและการมีส่วนร่วม ซึ่งข้อมูลการสำรวจล่าสุดในปีนี้ (ปี64) พบพะยูนในธรรมชาติแล้วกว่า 261 ตัว

อีกบทเรียนสำคัญ คือ ปัญหาขยะทะเล ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยเร่งขับเคลื่อนการจัดการขยะทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางก่อนลงสู่ทะเล

ขณะเดียวกันเพื่อการคุ้มครองและดูแลที่เข้มข้นขึ้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เตรียมประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อ.ปะเหลียน อ.หาดสำราญ อ.ย่านตาขาว อ.กันตัง และอ.สิเกา จ.ตรัง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทาทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกาศบังคับใช้ ต่อไป


ในส่วนของพื้นที่ จ.ตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กำหนดจัดงานสัปดาห์อนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 17-23 ส.ค.64 โดยจะมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้พะยูน ในพื้นที่ 4 อำเภอ ร่วมกับ ประชาชน จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” ของหน่วยงานรัฐ ที่ดำเนินการมากว่า 1 ปี จะสวนทางกับชุมชน และกลุ่มอนุรักษ์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวบ้านในพื้นที่แหล่งหากินของพะยูน

“สุวิท สารสิทธิ์” รองประธานกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวผ่าน “Thaiquote” ในโอกาสครบรอบ 2 ปี การจากไปของ “มาเรียม”ว่า

“ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม แม้ว่าทางกลุ่ม และชาวบ้านในชุมชน จะพยายามผลักดันข้อเสนอ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติมันสวนทางกับสภาพที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ชาวบ้านยังคงไม่มีส่วนร่วมเหมือนเดิม และหน่วยงานไม่ได้ลงทำงานในพื้นที่เป็นจริงเป็นจังเช่นเดิม”


ในวันครบรอบ 2 ปี การเสียชีวิตของ “มาเรียม” แม้ว่าทางจังหวัดจะจัดงานใหญ่โต แต่ในกลุ่มชาวบ้าน เกาะลิบง ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า “บ้านของมาเรียม” กำลังจะร่วมกันจัดกิจกรรมเล็กๆ ในแนวหญ้าทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของพะยูนต่อไป

“รัฐตั้งเป้าว่าจะต้องมีพะยูน 280 ตัวในปี 2565 ในความคิดผมหากเรายังนั่งวางแผนอยู่เพียงในกระดาษ ประกาศผ่านคำพูด ที่พูดได้ก็พูดกันไป ว่าจะทำอะไรให้พะยูน แต่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีหน่วยงานออกมาทำอะไร มีแค่ออกมาวางแนวทุ่น ไม่มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน ว่า “แนวทุ่น” เหล่านี้คืออะไร วางแนวทุ่นแล้วก็เชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาถ่ายรูปแล้วจบ จึงเกิดเป็นคำถามของชาวบ้าน ว่าเอามาวางเพื่ออะไร”

หากพูดถึงสารทุกข์สุขดิบ ของ “พะยูน” ในวันนี้ “สุวิท” บอกว่า ช่วงโควิด ทำให้เรือที่ไม่ใช่เรือหาปลาแล่นน้อยลง นักท่องเที่ยวหายไป แต่พะยูนกลับมา และเจอะเจอกันได้ทุกครั้งในช่วงเวลาน้ำลง ถือเป็นสัญญาณที่ดี ว่า “พะยูน ยังมีอยู่ที่ เกาะลิบง”

 

เรื่องที่น่าสนใจ

เสนอ เลิก “ล็อกดาวน์ทั้งเมือง” เหตุโควิดระบาดในบ้านมากขึ้น ยิ่งล็อกยอดยิ่งพุ่ง