นักวิจัย มอ. เผย “กระท่อม” แก้โรคซึมเศร้า เตรียมทดลองใช้บำบัดผู้เสพ “ยาบ้า-เฮโรอีน”

by ThaiQuote, 7 กันยายน 2564

ทีมวิจัยคณะคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) เผยผลวิจัยในสัตว์ทดลอง พบ “กระท่อม” ช่วยแก้โรคซึมเศร้า บรรเทาอาการโรคพาร์กินสัน พร้อมเตรียมต่อยอดวิจัยบำบัดอาการผู้ติดยาเสพติด ยาบ้า และเฮโรอีน

 

รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งเป็น 1 ในทีมศึกษาวิจัยการใช้พืชกระท่อม เปิดเผยว่า หลังใช้เวลากว่า 19 ปี ศึกษาวิจัยพืชกระท่อม ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นภาคใต้ ซึ่งมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา จากสารไมตรากไจนีน (mitragynine) โดยคนในท้องถิ่นใช้เพื่อ ทำให้ร่างกายพร้อมทำงาน แก้อาการปวดเมื่อย และรักษาโรคท้องร่วง

 

ทั้งนี้จากผลการวิจัยล่าสุด มิซึ่งเป็นผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง บ่งชี้ว่า พืชกระท่อมช่วยต้านอาการซึมเศร้า บรรเทาอาการโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของโรคสมองเสื่อมที่มีอัตราการเกิดสูง โดยผลวิจัยดังกล่าวจะเป็นความหวังและโอกาส ที่จะนำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าได้อีกมาก



สำหรับการวิจัยในหนูทดลอง ที่บ่งชี้ว่าแก้อาการซึมเศร้าได้นั้น วิเคราะห์จากรูปแบบคลื่นสมองของหนูทดลอง และพฤติกรรมของหนู โดยให้หนูทดลองว่ายน้ำ ซึ่งหนูที่ได้รับสารจากพืชกระท่อม จะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบกระฉับกระเฉง ไม่เซื่องซึม หรือหยุดนิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดจากใบกระท่อม โดยระยะต่อไปจะมีการศึกษาในคน

 

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัย ได้ร่วมกับ ทีมงานระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วางแผนทำการศึกษาการใช้กระท่อมเพื่อบำบัดยาเสพติด ยาบ้า และเฮโรอีน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

 

สำหรับโครงการนี้จะทำการศึกษา ผู้ที่เคยเสพยาเสพติด และใช้พืชกระท่อมเพื่อบำบัดอาการเสพติด ซึ่งกำหนดพื้นที่การศึกษา ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ,อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง จำนวนอาสาสมัครประมาณ 90 ราย

 

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยในมนุษย์ตามหลักจริยธรรมการวิจัย เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงใด ๆ ต่ออาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ และจะไม่มีการศึกษาในผู้ที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อมมาก่อน