ชวนคนเมืองไป “ดูวาฬ” เติมแรงบันดาลใจ ผ่านท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์

by คเชนทร์ พลประดิษฐ์, 21 กันยายน 2564

จากกลุ่มช่างภาพผู้นิยมบันทึกเรื่องราวชีวิตสัตว์ป่า สู่กลุ่ม “ดูวาฬ” ในชื่อกลุ่ม “Whale Watching Group Thailand” จัดกิจกรรม “ดูวาฬ” ในอ่าวไทย พื้นที่จ.สมุทรสงคราม และ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เมื่อมีการเผยแพร่ภาพวาฬ ออกไป จนทำให้เริ่มมีคนสนใจมาชม วาฬ มากขึ้น

 

“กลุ่มช่างภาพเหล่านี้ คือคนนำเรื่องราวของชุมชน ออกไปสร้างการรับรู้ให้กับคนภายนอก ภาพวาฬเหล่านี้ มันสามารถสื่อความหมายได้มากกว่า 1 คำ หรือ 1 ประโยค” “โน้ต” ผู้ประสานงานกลุ่ม “Whale Watching Group Thailand” บอกกับเรา

 

 

“วาฬ ที่บางตะบูน มีมาเป็น 20-30 ปีแล้ว การดูวาฬ มันถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของคนหลายๆคน อย่างตัวเราเองก็ต้องไปถึงต่างประเทศ เพื่อจะไปดูวาฬซักครั้ง จนลุงจรูญ (ผู้นำกลุ่มเรือดูวาฬ บางตะบูน) บอกว่าที่นี่ก็มีวาฬ เราก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะจริงๆหลายคนยังไม่รู้ว่าในอ่าวไทยมีวาฬอาศัยอยู่ ความตั้งใจของการตั้งกลุ่มมันจึงมาจาก เราอยากให้คนไทยไม่ต้องไปไกลถึงต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยก็มีวาฬให้ดู”

จากจุดนั้นกลายมาเป็นการสร้างวิถีของการท่องเที่ยวชุมชนของชาวบ้านที่ทำประมงพื้นบ้าน แล่นเรือชมวิถีชุมชน 2 ข้างทาง จนกระทั่งหน่วยงานต่างๆเริ่มเข้ามาสนับสนุนเกิดเป็นเรื่องของท่องเที่ยวชุมชน และ Community

และเมื่อ “Whale Watching Group Thailand” คือจุดเริ่มต้นของการดูวาฬ ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจึงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่ม ทั้งเรื่องของการประสานโรงแรมที่พัก ให้กับนักท่องเที่ยว การให้รวบรวมข้อมูลความรู้ การประสานงานเรื่องอาหาร และเรือสำหรับรับนักท่องเที่ยว ดังนั้นกลุ่มจึงกลายเป็นเหมือนหัวใจหลักของการท่องเที่ยวชุมชนแบบกลายๆ

 

 

 

“ทุกครั้งในวันที่เรามีกิจกรรมการรวมตัวของกลุ่มคนดูวาฬ เราจะพยายามหามุมมอง ของดีของชุมชนบางตะบูนมานำเสนอ ประสานระหว่างชุมชน และนักท่องเที่ยวจากจุดเริ่มต้นแค่กลุ่มดูวาฬเล็ก วันนี้ การท่องเที่ยวบางตะบูน ได้ขยายใหญ่ขึ้นกว่าที่เราคิดไปมาก ทั้งเรือพาชมวาฬ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งในภาคส่วนท่องเที่ยวชุมชนเองก็จะมีการประสานงานระหว่างชุมชน กับจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น”

โน้ต บอกกับเราว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้กลุ่มประทับใจ ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา คือ การสร้างแรงบันดาล เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตให้กับคนหลายๆคน พร้อมทั้งการสร้างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในใจของใครหลายๆคน

“จริงๆเราไม่ได้มุ่งหวังอะไรมากไปกว่า การที่นักท่องเที่ยวคนหนึ่งจะเกิด inspiration ในการใช้ชีวิต ส่วนผลที่ตามมาของการจัดการท่องเที่ยวแบบนี้ แน่นอนว่ารายได้กว่า 70% จะลงไปสู่ชุมชน ขณะเดียวกันผลพลอยได้ ที่ดูว่าจะสำคัญมากที่สุดก็คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นสีน้ำทะเลที่เปลี่ยน ได้เห็นขยะที่ลอยออกมาจากแม่น้ำลงสู่ทะเล นักท่องเที่ยวจะเกิดคำถามขึ้นมา นี่คือเหตุการณ์จริงที่เราจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยวได้”

 

 

จะไปดูวาฬ ต้องทำอย่างไรบ้าง... เรื่องสำคัญคือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การใส่เสื้อชูชีพ การจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวต่อเรือ 1 ลำ ขณะที่ช่วงนี้จะมีมาตรการเสริมเรื่องป้องกันการแพรร่ะรบาดของโควิด-19 ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ร่วมกิจกรรมจะต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มีผลตรวจ ATK เป็นลบมาแสดง

เรื่องหลักการปฏิบัติถ้าจะเข้าไปใกล้วาฬ จะต้องปฏิบัติตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดไว้ หากบินโดรนจะอยู่ที่ 50 ม.จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ในระดับแนวน้ำ ถ้าเป็นเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ (เรือแคนู ซึ่งไม่แนะนำ) จะอยู่ที่ระยะห่างประมาณ 50 ม. ถ้าเป็นเรื่อที่มีเครื่องยนต์จะอยู่ที่ 100-300 ม. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วแต่นิสัยของวาฬแต่ละตัว และประสบการณ์ของเรือแต่ละลำ

 

 

“โดยปกติวาฬจะมีสมองจับการรับรู้ของสิ่งที่จะเข้ามามาหาตัวเขา เขาจะจำเสียงเครื่องเรือได้ทุกลำว่า เรือลำนี้สามารถเข้าใกล้ได้ บางครั้งเขาเข้ามาใกล้ จนสามารถเอามือแตะได้ แต่เราก็จะบอกนักท่องเที่ยวว่าขออย่าเอามือแตะเขา ซึ่งเขาอาจจะแค่มาดู เพราะวาฬมีนิสัยช่างสงสัย อาจจะว่ายเข้ามามองแล้วว่ายออกไป หรืออาจจะคิดว่าเรือบางลำเหมือนเพื่อนจึงว่ายเข้ามาเล่นด้วย เพราะขนาดของเรือบางลำมีขนาดใกล้เคียงกับตัวเขา” โน้ต บอกถึงข้อปฏิบัติของการดูวาฬ กับเรา

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของ ตัวแทนกลุ่ม “Whale Watching Group Thailand” กลุ่มคนรักการ “ดูวาฬ” ที่มีเป้าหมายหลักคืออยากให้คนไทย ได้เห็นวาฬ ซักครั้งในชีวิต เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ หรือได้เติมไฟเติมพลังให้กับชีวิต โดยไม่คิดว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดขึ้น

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ศิริราช เผยผลวิจัย การฉีดวัคซีนไขว้ พบ แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงสุด