ก้าวสู่ เกษตรอัจฉริยะ HandySense ช่วยเกษตรกรเข้าถึงนวัตกรรมเกษตรแบบเปิด

by ThaiQuote, 25 กันยายน 2564

การพัฒนาในแนวทางเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ดูเป็นคำพูดที่ห่างไกลกับการทำการเกษตร ของเกษตรกรไทยโดยทั่วไป เนื่องจากมีต้นทุนการเข้าถึงในราคาสูง

 

แต่ด้วยระบบ HandySense ที่พัฒนาโดย สวทช. จะช่วยให้เกษตรกร สามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและควบคุมคุณภาพทางการเกษตรได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นนวัตกรรมแบบเปิด ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้

 

“นริชพันธ์ เป็นผลดี” ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบเกษตรดิจิทัล (DAT) เนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense ผ่านการพูดคุยในประเด็น “Smart Farming ส่งเกษตรกรไทยก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี” รายการ “Future Talk by NXPO” สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ว่า

 

HandySense เป็นนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) เพื่อการเข้าถึงผู้ประกอบการและเกษตรกร ซึ่งนวัตกรรมนี้จชะช่วยให้สามารถทำเกษตรในพื้นที่น้อยๆ แต่ได้ผลผลิตในปริมาณมาก หรือได้คุณภาพที่สูงขึ้น

 

HandySense เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงควบคุมกระบวนการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ให้ธาตุอาหารต่างๆ ของพืช ซึ่งในปัจจุบันทำได้ถึงระดับ crop requirement หรือแบ่งความต้องการตามชนิดของพืชได้


อีกทั้งยังมีการเก็บข้อมูล ทำ Data Platform เพื่อที่ในอนาคตเกษตรกรจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้

 

ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เกษตรกรเริ่มเห็นประโยชน์ ทั้งเรื่องการเพิ่มผลผลิต การพยากรณ์ผลผลิต การรู้ช่วงเวลาในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว เรื่องของการบริหารจัดการต่างๆ สิ่งที่ต้องมองเพิ่มเติม คือเรื่องของความยั่งยืน ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และได้มาตรฐาน ของเกษตรกรและผู้ประกอบการ

 

อีกสิ่งหนึ่งคือการสร้างชุมชนหรือระบบนิเวศ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องการทำเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งการเป็นนวัตกรรมแบบเปิด ทำให้สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต วัตถุดิบต่างๆ เทคโนโลยีการผลิต การออกแบบ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ผ่านการทดสอบระดับมาตรฐาน เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละบริบทของพื้นที่

 

การทำเกษตรอัจฉริยะในประเทศไทย เกษตรกรผู้ใช้งานยังเป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มที่ปลูกพืชมูลค่าสูง หรือกลุ่มเกษตรพันธสัญญา ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ในมุมของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการมองภาพในอนาคต เมื่อเกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็จะไปตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ที่กลับมาหาตัวเกษตรกรเอง

 

ด้าน ดร. องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซันสวีท ได้ส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกแบบเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) โดยมีเกษตรกรอยู่ใน contract farming ทั่วพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนรวมกว่า 20,000 ครอบครัว

 

ทางบริษัทฯ ทำตั้งแต่เรื่องน้ำ โดยได้ร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยี ทำแอปพลิเคชันให้เกษตรกรใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วยพยากรณ์สภาพภูมิอากาศได้ล่วงหน้า ตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 9 เดือน มีความแม่นยำ 60-70% ทำให้เกษตรกรรู้ว่าในอนาคตพวกเขาจะมีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูกหรือไม่ และในปัจจุบันใช้น้ำได้เหมาะสมหรือไม่

 

อีกส่วนหนึ่งมีการทำแอปพลิเคชันการจองปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการปลูกพืชผลทางการเกษตรได้อย่างเป็นระบบ

 

ในส่วนการส่งขายสินค้า มีระบบส่งโดยใช้การจองผ่านโทรศัพท์มือถือเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรทำได้ เข้าถึงได้ง่าย และเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการทำการเกษตรได้อย่างครบวงจร ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยใช้เทคโนโลยีและด้วยการบริหารการจัดการที่ดี สุดท้ายแล้วจะเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการผลิตได้มากขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคง

 

สำหรับผู้ที่สนใจลงทะเบียนขอรับพิมพ์เขียว HandySense Open Innovation ผ่านเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/groups/handysense