นิวซีแลนด์ รวมตัว ส่งออก “กีวี” เปลี่ยน “แข่งขัน” สู่ “แบ่งปัน” อย่างยั่งยืน

by ThaiQuote, 7 ตุลาคม 2564

หากพูดถึง กีวี ผลไม้ที่ได้รับความนิยม เพราะมีรสชาติอร่อยและมีวิตามินซีสูง คงต้องนึกถึงประเทศนิวซีแลนด์ ขึ้นมาด้วย เพราะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า ดินแดนแห่งกีวี นิวซีแลนด์ส่งออกผลไม้ชนิดนี้ไปจำหน่ายในมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก คิดเป็น 99 % ผลผลิตที่ปลูกได้ในประเทศเลยทีเดียว

 

ดังนั้น ในแต่ละปีจะมีการส่งออกกีวีมากถึง 100 ล้านถาด (ถาดละ 3.5 กิโลกรัม) สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก และนั่นคือจุดที่ทำให้เกษตรกรของประเทศนิวซีแลนด์ สามารถสร้างความมั่งคั่ง และมั่นคงในอาชีพได้เป็นอย่างดี

หากย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน พบว่า มีบริษัทในนิวซีแลนด์ที่ส่งออกกีวี เป็นจำนวนนับร้อยเจ้า ขณะที่จำนวนเกษตรกรก็มีเป็นจำนวนนับพันราย แน่นอนว่าจึงเกิดการแข่งขัน แย่งชิงเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดกรณีของผผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ราคาตลาดตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย
จากราคาที่ตกต่ำของผลผลิตดังกล่าว เกษตรกรผู้ปลูกกีวี หลายพันคนทั่วนิวซีแลนด์ จึงรวมตัวกันเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลือโดยการตั้งบริษัทขึ้นมา บริหารจัดการดูแลคุณภาพ มาตรฐาน และตลาด ไม่ให้ราคาตกต่ำและไม่ให้มีการแข่งขันกันดุเดือดอย่างที่เป็น

ในที่สุดรัฐบาลนิวซีแลนด์ก็มีมติให้จัดตั้ง "บริษัท เซสปรี อินเตอร์เนชั่นแนล" ขึ้นในปี 2540 เพื่อจัดการปัญหาต่างๆ ซึ่ง บริษัทเซสปรี อินเตอร์เนชั่นแนล จะสามารถส่งออกผผลิตกีวี ได้ทั่วโลก และถือเป็นตัวแทนกีวีนิวซีแลนด์ มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเพราะเห็นถึงความสำคัญของกีวี ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลได้เจรจาเรื่องการค้าเสรีกับหลายประเทศซึ่งจะช่วยให้ภาษีของกีวีนิวซีแลนด์ลดลง แตกต่างกับบริษัทอื่นๆ ที่สามารถจำหน่ายกีวีนิวซีแลนด์ได้เฉพาะในประเทศและออสเตรเลีย

เกษตรกรผู้ปลูกกีวี จะมีรายได้จากการเป็นสมาชิกด้วยเงินปันผลที่จะได้รับทุกปี โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องปลูกกีวีให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด

นี่คือจุดเด่นที่ทำให้ทุกวันนี้ กีวี กลายเป็นผลไม้ที่พลิกชีวิตเกษตรกรในนิวซีแลนด์
เราพบว่า เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนา เหล่าเกษตรกรทั้งหลายต่างช่วยกันแบ่งปันความรู้ และร่วมมือกัน โดยมองการพัฒนาสายพันธุ์ของกีวี เป็นมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะของคนใดคนหนึ่ง แต่คือประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับร่วมกัน

ขณะเดียวกันบริษัทเซสปรี อินเตอร์เนชั่นแนล เองมีหน้าที่ทำความเข้าใจความต้องการของผู้ปลูก มีการพูดคุยระหว่างกันโดยตลอด มีจัดโรดโชว์ เพื่อให้เห็นด้วยตัวเองว่าความต้องการของตลาดแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งลูกค้าก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ปลูกได้โดยตรง

ผลผลิตกีวีของนิวซีแลนด์ ได้รับการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มากที่สุด โดยคิดเป็น 16% ของตลาดส่งออกกีวี รองลงมาเป็นเยอรมนี สเปน จีน และเกาหลี ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนประมาณ 1.5 % หรือราว 1.5 ล้านถาดต่อปี

จากตัวเลขการส่งออกที่สูงมากขึ้น และการบริหารจัดการผลไม้ จนสามารถยกระดับเกษตรกรของประเทศให้มีรายได้ที่มั่นคงนี่เอง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกีวี บางรายสามารถพักผ่อนกับครอบครัวด้วยการล่องเรือยอร์ชได้อย่างสบายใจ

ความมั่นคงของเกษตรกร ดังกล่าวจึงทำให้ปัญหาความยากจน และคุณภาพชีวิตลดหายไป และทำให้ประเทศนิวซีแลนด์ กลายเป็นหนึ่งในประเทศแห่งความสุข

ที่มา…www.ftawatch.org/node/15633

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

แนะยึดหลัก 5 ล. ช่วยสร้างสุขภาพที่ดี ในช่วงเทศกาลกินเจ