“แผ่นฟิล์มแครอท” นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ห่ออาหาร ปลอดภัย แถมกินได้

by ThaiQuote, 12 ตุลาคม 2564

นวัตกรรมฟิล์มห่ออาหารรับประทานได้จากแครอท โดยกรมวิชาการเกษตร ตอบโจทย์บรรจุภัณฑ์ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร ลดปัญหาขยะพลาสติก แถมตอบเทรนด์สุขภาพ เพราะฟิล์มแครอท 1 แผ่น มีสารเบต้าแคโรทีนสูงกว่า 3,000 ไมโครกรัม

 

แนวคิดของนวัตกรรมดังกล่าว ได้เล็งเห็นถึงการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร ซึ่งมีความปลอดภัย สามารถช่วยปกป้องอาหารปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร

 

ขณะที่พบว่าบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ในตลาดยังคงเป็นพลาสติกสังเคราะห์ ซึ่งย่อยสลายได้ยาก กลายเป็นขยะที่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก

 

 

กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยหาวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับห่อหุ้มอาหาร ได้คัดเลือกวัตถุดิบซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ กะหล่ำปลีสีม่วง มะเขือเทศ มะม่วง และแครอท มาทดลอง

 

โดยพบว่า แครอท มีลักษณะใกล้เคียงกับฟิล์มห่อหุ้มอาหารปกติมากที่สุด และสามารถพัฒนาผลิตเป็นแผ่นฟิล์มสำหรับห่อหุ้มอาหารที่รับประทานได้ด้วย

 

ขณะเดียวกัน แครอท ยังมีองค์ประกอบของสารกลุ่มพอลิแซคคาร์ไรด์ ได้แก่ เพคติน เซลลูโลส และสตาร์ชสูง โดยเข้มข้นถึง 30% เมื่อนำมาให้ความร้อนและตีป่นจนเป็นเนื้อละเอียดในรูปพิวเร่ (Puree) ก่อนขึ้นรูปเป็นฟิล์ม ซึ่งให้ฟิล์มที่มีลักษณะดีที่สุด คือ แห้งและไม่กรอบเปราะ

 

 

นอกจากนี้ เพื่อความแข็งแรงของฟิล์มแครอท การทดลองยังได้เติม แอลจิเนต 3% และไซลิทอล (xylitol) 3.75% ของน้ำหนักเนื้อแครอท เพื่อให้ฟิล์มที่มีคุณสมบัติดีที่สุด

 

โดยแอลจิเนตมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟิล์ม ทำให้มีความเหนียวไม่ขาดง่าย ส่วนไซลิทอลเป็นสารให้ความหวานใช้แทนน้ำตาลใส่เติมลงไปเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับฟิล์ม

 

ทำให้คุณสมบัติของฟิล์มแครอท มีความต้านทานการซึมผ่านก๊าซออกซิเจนได้ดี สามารถประยุกต์เป็นฟิล์มห่อผลิตภัณฑ์ เช่น ลูกอม และผลไม้กวน

 

นอกจากนี้ ฟิล์มแครอท ยังมีคุณค่าทางทางโภชนาการและช่วยต้านการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาออกซิเดชัน เนื่องจากฟิล์มแคร์รอต 1 แผ่นมีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,465 ไมโครกรัม โดยมีอายุการใช้งานได้นานประมาณ 2 เดือน