40 ปี “อุกกาบาตเชียงคาน” ย้อนรำลึกปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ไทย

by ThaiQuote, 14 ตุลาคม 2564

รู้หรือไม่ว่า อ.เชียงคาน จ.เลย เคยมีปรากฏการณ์อุกกาบาตตก ซึ่งมีผู้คนพบเห็นตั้งแต่ กทม. ภาคกลาง และบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ชวนย้อนรำลึกถึง ปรากฏการณ์ “ลูกไฟอุกกาบาตเชียงคาน” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 เวลาประมาณ 05.30 น.

 

 

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ประชาชนจำนวนนับพัน ในจังหวัดทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เห็นลูกไฟขนาดเท่าดวงจันทร์ส่องสว่างจ้า ปรากฏบนท้องฟ้า เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วสู่ขอบฟ้าทางทิศเหนือ ในขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และสีสันไปด้วย

 

โดยลูกไฟดังกล่าว ได้ระเบิดกลางอากาศ และตกลงริมฝั่งแม่น้ำโขง ใน อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งชิ้นส่วนจากการระเบิดตกกระจายไปทั่ว ทั้งบริเวณบ้านเรือนประชาชน มทุ่งนา และในลำน้ำโขง รวมทั้งในฝั่งประเทศลาว

 

ปรากฏการณ์นี้ ได้ถูกบันทึกไว้ โดย ผศ.ดร.พิสิษฐ์ รัตนวรารักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่กำลังวิ่งออกกำลังกาย บริเวณ ถ.พหลโยธิน กทม.

 

 

โดยอธิบายว่า ดวงไฟที่พบมีขนาดเท่าดวงจันทร์เต็มดวง แต่สว่างจ้ากว่า ตรงกลางดวงเป็นสีเขียวขอบดวงเป็นสีน้ำเงิน เคลื่อนที่ลงตามแนวดิ่ง ก่อนเปลี่ยนเส้นสีแดงเรือง เคลื่อนที่ลงโดยมีการส่ายไปมาแล้วก็จางหายไป

 

หลังเหตุการณ์เกิดขึ้น กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งก้อนอุกกาบาตจำนวน 2 ชิ้น มาถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงมีการจัดคณะสำรวจในพื้นที่ จ.เลย ในวันที่ 21-23 พ.ย.2524 ซึ่งสามารถรวบรวมก้อนอุกกาบาตได้อีก 29 ชิ้น ก้อนใหญ่ที่สุดหนัก 51.3 กรัม เล็กที่สุด ขนาด 0.2 กรัม รวมเป็นน้ำหนักทั้งสิ้น 367 กรัม ขนาดเฉลี่ย 2 ซ.ม. มีความหนาแน่น 3.6 กรัมต่อ ลบ.ซม. ซึ่งสูงกว่าก้อนหินบนพื้นโลก

 

จากการส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ ที่สถาบันโซเนียนในสหรัฐฯ พบว่า “อุกกาบาตเชียงคาน” เป็นอุกกาบาตเนื้อหิน (Stony-meteority) ชนิด ซอนไดรท (Chondrites) ซึ่งเป็นพวกมีแร่เหล็กมาก และพบได้บ่อย มองดูเผิน ๆ คล้ายก้อนหิน แต่จะถูกแม่เหล็กดูดให้เข้าหาได้

 

 

โดยองค์ประกอบแร่ธาตุของซอนไดรท แม้ไม่นับธาตุเบาที่สุด 2 ธาตุ คือ H กับ He แต่ก็มีสัดส่วนเหมือนดวงอาทิตย์ ดังนั้นจึงวินิจฉัยว่า “อุกกาบาตเชียงคาน” อาจเป็นบางส่วนของดวงอาทิตย์ก่อนอุบัติ (Solar Nebula) ได้กลั่นตัวเป็นซอนไดรท

 

“ซอนไดรท” มาจากชื่อของอุกกาบาตที่มีเม็ดแร่ธาตุกลมเรียกว่า “ซอนดรูล” (Chondrules) เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งจะไม่พบในก้อนหินบนโลก ซอนดรูล มีขนาดเฉลี่ยราว 1 มม.

 

เมื่อเอาก้อนอุกกาบาตซอนไดรทมาผ่าตัดออกเป็นแผ่น แล้วฝนจนเป็นส่วนบาง (Thin Section) นำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีแสงโพลาไรซ์ส่องผ่าน จะเห็นโครงสร้างภายในของซอนดรูลมีความงดงามมาก

 

สำหรับก้อน “อุกกาบาตเชียงคาน” ทุกก้อน มีผิวสีดำหนาเฉลี่ย 2 มม.หุ้ม มีลักษณะเป็นหินทรายหลอมละลายด้วยความร้อนสูงแล้วกลับแข็งตัว ก้อนที่แตกแสดงเนื้อในสีเทา มีเม็ดแร่โลหะสีดำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่ามีซอนดรูลแทรกแซงอยู่ด้วย

 

ขณะนี้ ชิ้นส่วนอุกกาบาตเชียงคานหลากหลายชิ้นและหลากหลายขนาด ได้จัดแสดงอยู่ที่ห้องแสดงงานจดหมายเหตุดาราศาสตร์ อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ชั้น 2 อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย