เผยโฉม “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9” จาก “สนามม้านางเลิ้ง” สู่ สวนสาธารณะกลางกรุง

by ThaiQuote, 26 พฤศจิกายน 2564

นอกจาก สวนเบญจกิติ ที่จะเป็นสวนสาธารณะแหง่ใหม่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับ กรุงเทพมหานคร แล้ว ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ สนามม้านางเลิ้ง ก็กำลังจะกลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของคนกรุงเช่นเดียวกัน

 

ล่าสุด เว็บไซต์สำนักพระราชวัง (www.royaloffice.th) เผยภาพแบบจำลอง “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9” ซึ่งจะเป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้เรื่องป่าและน้ำในอนาคต

 

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมอบที่ดินบริเวณสนามม้านางเลิ้ง สร้างเป็นสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้

 

 

โดยแนวคิดหลักในการออกแบบมาจากพระราชดำรัสพระบรมราชชนนีพันปีหลวง “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ” สวนสาธารณะแห่งใหม่นี้จึงเป็นสวนที่ใช้แนวคิดเรื่องป่าและน้ำมาเป็นหลักคิดในการออกแบบ

 

 

โดยจะเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของมนุษย์และธรรมชาติ เป็นพื้นที่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนเมือง และเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

 

 

สำหรับอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9 มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 279 ไร่ เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธย ที่รัชกาลที่ 10 พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน สวนแห่งนี้เริ่มพัฒนาแบบมาตั้งแต่ปี 2561 ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จและใช้บริการได้ภายในปี 2567


อุทยานเฉลิมพระเกียติฯ จะเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 เป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยาน โดยจะประดิษฐานอยู่กลางสวนสาธารณะแห่งนี้

 

 

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบสวนและส่วนต่างๆ ของสวนที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 อาทิ สระน้ำรูปเลข ๙ ที่จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำของเมือง สะพานหมายเลข ๙ ที่เป็นเส้นทางเดินภายในสวน สะพานหยดน้ำพระทัย อันหมายถึงน้ำพระหฤทัยของรัชกาลที่ 9 และสะพานไม้เจาะบากง จ.นราธิวาส สะพานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จไปทรงงาน

 

 

รวมทั้งยังสะท้อนหลักการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ฝายชะลอน้ำ กลางน้ำ เช่น แก้มลิงและพื้นที่ชุ่มน้ำ จนถึงปลายน้ำ เช่น การจัดสวนพืชกรองน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะในส่วนของแก้มลิงนั้น จะช่วยรองรับน้ำ เมื่อเกิดอุทกภัยในพื้นที่ กทม. และสามารถผันน้ำลงสู่คลองที่อยู่รอบนอกสวนได้พร้อมๆ กัน

 

ขณะเดียวกัน สวนแหง่นี้จะมีเพิ่มต้นไม้กว่า 4,500 ต้น ในรูปแบบป่าธรรมชาติ โดยประกอบด้วยพันธุ์ไม้กรองฝุ่น ไม้โตเร็ว ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก และพืชบำบัดน้ำ ตลอดจนสร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

 

พร้อมกับการออกแบบให้ตัวสวนมีทางจักรยานและทางสำหรับวิ่ง-เดิน จัดให้มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ มีบริการสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ

 

 

ตลอดจนใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการสวน เพื่อให้ประชาชนในเมืองได้รับประโยชน์และสามารถใช้งานพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม เป็นสวนแห่งความสุขและยั่งยืนของคนเมือง