“น้ำหอมจากขนแพะ” เพิ่มมูลค่า “ขยะ” เหลือทิ้ง แห่งแรกในไทย-เอเชีย

by ThaiQuote, 27 พฤศจิกายน 2564

นวัตกรรม “น้ำหอมจากขนแพะ” นวัตกรรมแปลงขยะขนแพะสู่น้ำหอม เครื่องหอม เจ้าแรกในไทยและเอเชีย ผลงานของ “ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์” นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

 

“ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์” กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปจังหวัดกระบี่เมื่อเดือนมี.ค.63 ที่ผ่านมา เพื่อนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาชุมชน ได้โจทย์การวิจัย เรื่อง ขนแพะที่เป็นขยะเหลือทิ้ง และจากการบอกเล่าของ นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด ขนแพะโดยปกติถูกกำจัดโดยวิธีเผาทิ้งอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าคือวัตถุดิบที่มีมูลค่ามหาศาล

 

ทีมนักวิจัยจึงนำขนแพะมาสกัดพบว่า ได้สารสกัดมีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ รวมถึงพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้ เนื่องจากมีคุณค่ามีคุณสมบัติสูง มีกรดไขมัน (Fatty acid) สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxident)

 

 

เมื่อนำมาทำน้ำหอมแล้ว นอกจากได้เป็นกลิ่นน้ำหอมแล้ว ยังนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านเครื่องสำอางและน้ำหอม หากนำมาใช้มากจะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสามารถขายได้

 

 

“แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งราคา แต่ในการวิจัยที่ผ่านมา ได้ตั้งต้นทุนการซื้อขนแพะจากจังหวัดกระบี่มาที่ราคา 1,000 บาท โดยการทำน้ำหอมต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัม ซึ่งจะได้สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ทำน้ำหอมได้ 3 ขวด ราคาประมาณ 3,000 บาท”

 

 

ขณะนี้การวิจัยมีความคืบหน้าถึงการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ มีสารสกัดที่มีการทดสอบฤทธิ์ มีความพร้อมสูงที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบของน้ำหอม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความหอม

 


หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ปล่อยกลิ่นหอมระเหยและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีสู่ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศอีก โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้ถือว่า เป็นเจ้าแรกของประเทศและเป็นเจ้าแรกของเอเชียอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมประมาณ 9 กลิ่น เป็นกลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีการพัฒนาแล้วและมีส่วนผสมของแพะที่มีสารฟีโรโมนอยู่ในนั้นด้วย นอกจากใช้ในน้ำหอมแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในครีม โลชั่น สบู่ 

 

ปัจจุบัน ทีมวิจัยมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป หรือให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำน้ำหอมเฉพาะส่วนบุคคล

 

ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้อาจเป็นการนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือ ขนแพะที่สะอาดแล้ว โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ ซึ่งมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ และอาจพัฒนาใช้ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชัน (encapsulation technology) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อีกด้วย

 

 

ด้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยนี้ ยังสามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากโครงการวิจัยนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดกระบี่ เช่น อาจนำไปใช้ในกิจการโรงแรมและสถานประกอบการต่าง ๆ ของจังหวัดกระบี่ เป็นต้น

 

สำหรับงานวิจัย น้ำหอมขนแพะ ดังกล่าว เป็นการส่งเสริม BCG (BCG Economy) ในการเป็น Circular Economy สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์สูงมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ใน BCG