“เส้นใยจากผักตบชวา” นวัตกรรมสิ่งทอรักษ์โลก เพื่อชุมชมยั่งยืน

by ThaiQuote, 27 พฤศจิกายน 2564

ผักตบชวา กลายเป็นวัชพืชที่สร้างปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งต้องสูญเสียงบประมาณในการกำจัดไม่น้อยในแต่ละปี ด้วยเหตุดังกล่าว ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จึงได้วิจัยการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตเป็นเส้นด้ายและผ้าจากผักตบชวาขึ้นในปี 2563 โดยได้รับงบสนับสนุน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

 

ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัยจาก มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า การพัฒนา “นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา” เริ่มต้นจากการทำให้ผักตบชวามีเส้นใยละเอียด โดยทำให้เส้นใยมีความสะอาด

 

 

จากผักตบชวาสด 100 กก. เลือกต้นมีความยาวตั้งแต่ 40-50 ซม.ขึ้นไป เพื่อให้ได้เส้นใยที่เหมาะสมกับการผลิต จะได้เป็นเส้นใยแห้ง (ตากแห้งแล้ว) ประมาณ 5 กก. เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้ง

 

เส้นใยผักตบชวาแห้งกิโลกรัมละ 400 บาท นำผ้าที่ได้ไปใช้สร้างเอกลักษณ์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) ต้นทุน 1,400 บาท นำไปจำหน่ายราคาตัวละ 2,400 บาท มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,000 บาท/ชุด

 

 

นอกจากนี้ยังมีการ ผลิตกระเป๋า หมวก หน้ากากอนามัย และรองเท้า (เครื่องประกอบการแต่งกาย) เก้าอี้ (เคหะสิ่งทอ) เป็นต้น

 

โดยใช้เส้นใยจากผักตบชวา 40% : ฝ้าย 60% หรือ ผักตบชวา 20% : ฝ้าย 80% ในการผสมเพื่อให้ได้เส้นใยจากธรรมชาติ ที่มีความแตกต่างทางผิวสัมผัสไม่มากนัก โดยในส่วนที่มีผักตบชวา 40% นั้นให้ความรู้สึกถึงความเป็นผักตบชวาอยู่ กับแบบ 20% ที่มีผิวมันนุ่มขึ้น

 

 

จากนั้นทีมวิจัยได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ลงไปสู่ชุมชน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนต่างๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปประยุกต์ใช้แล้ว อาทิ ชุมชนผลิตเสื้อผ้า ชุมชนผลิตพวกเก้าอี้ (เคหะสิ่งทอ) ผลิตพรมจากผักตบชวา

 

โดยการผลิตพรมจะมีทีมนักวิจัย คอยช่วยดูแล เรื่องของเทคนิคการผลิตที่ไม่เกิดปัญหาเชื้อรา ส่วนผ้าทอที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าทั่วไปการผลิตจะทำในเชิงอุตสาหกรรมโดยมี บริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ เข้ามาช่วยในเรื่องของการผลิตผ้า ผลิตเส้นด้ายขึ้นมา และต่อยอดในเรื่องของการทำสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ชาวบ้านนำรูปแบบไปใช้ นำผ้าไปใช้ แล้วเขาเกิดรายได้ขึ้นมา

 

 

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยยังได้นำองค์ความรู้เรื่องการผลิตเส้นด้าย ลงไปสอนให้กับพัฒนาชุมชนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตเส้นด้ายได้เอง ตั้งแต่กระบวนการเส้นใย-เส้นด้าย จนเกิดการสร้างแบรนด์เป็นแบรนด์ผักตบของอยุธยาได้อีกด้วย

 

 

รวมทั้งการจำหน่ายในต่างประเทศที่มี บริษัท ก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ จำกัด นำเส้นด้ายจากการพัฒนาส่งออกไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น

 

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และสมาคมของใช้ของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน โดยคุณวิลาสินี ชูรัตน์ นำผ้าไปใช้ในสมาคมฯ OTOP บ้านหัตถศิลป์ และนิกรเครื่องหนัง นำผ้าไปใช้สร้างจุดเด่นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง สร้างโอกาสทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น

 

 

สำหรับชุมชนที่สนใจต้องการขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โทร.062-351-6396