ปั้น “แลนด์มาร์คอาราบิก้า” เพิ่มมูลค่า “กาแฟภาคเหนือ” สร้างชุมชนยั่งยืน

by ThaiQuote, 29 พฤศจิกายน 2564

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าอัพเกรดผลผลิตเกษตร - เพิ่มมูลค่ากาแฟภาคเหนือตอนบน พร้อมปั้น “แลนด์มาร์คอาราบิก้า” รับส่วนแบ่งการตลาด 4 หมื่นล้าน สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน

 

“การยกระดับกาแฟอาราบิก้าอย่างครบวงจรจากต้นสู่แก้ว (Coffee to Cup : C2C) ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน ได้ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟในภาคเหนือตอนบนเติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟ การเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด พร้อมยกระดับกาแฟอาราบิก้าภาคเหนือตอนบนให้มีมาตรฐาน และเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญในระดับโลก” “ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

 

 

ทั้งนี้กาแฟอาราบิก้า มีการปลูกโดยเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ดังนั้นนโยบายที่สำคัญเพื่อส่งเสริมคือ การยกระดับกาแฟอาราบิก้าให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีคุณภาพและทำให้ภาคเหนือตอนบนเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง

 

 

การพัฒนาดังกล่าว ป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟของภาคเหนือตอนบน เติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเป็นแรงผลักดันให้การเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 10 – 15 %

 

โดยตลาดกาแฟในประเทศไทยปี 2562 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 37,000 – 38,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดกาแฟในประเทศไทยอยู่ที่ 42,537 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟสด 4,119 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 อัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 % ต่อปี

 

 

ส่วนกาแฟสำเร็จรูปอยู่ที่ 38,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.3 และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8 % ต่อปี

 

นอกจากนี้ เมื่อศึกษามูลค่าในระดับโลกยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในช่วงระหว่างปี 2564 – 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9% และมีมูลค่าที่สูงมากถึง 191.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับแนวทางการเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ มีดังนี้

 

 

การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟอาราบิก้า ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกในภาคเหนือตอนบนกว่า 7 หมื่นไร่ ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในด้านกลิ่น รสชาติ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมประยุกต์ใช้ในการปลูก ส่งเสริมกระบวนการคั่ว ในโรงคั่วกว่า 70 แห่ง ลดปัญหาการบริหารจัดการของเสียจากการแปรรูปกาแฟ อาทิ กลิ่น – ควันจากกระบวนการเผาไหม้ การกำหนดให้แต่ละโรงคั่วมีมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มโรงคั่วขนาดเล็ก

 

รวมถึงเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการลงทุนทำกาแฟคั่วบด ด้วยการเรียนรู้จากผู้ประกอบการในคลัสเตอร์กาแฟที่ประสบความสำเร็จ

 

ยกระดับธุรกิจผ่านแนวทางการเกษตรสร้างสรรค์ ด้วยการผลักดันกาแฟในแต่ละดอยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง เช่น กาแฟอมก๋อย กาแฟดอยวาวี กาแฟดอยอินทนนท์ กาแฟดอยผาหมี

 

รวมทั้งพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น กาแฟแบบแคปซูล กาแฟที่มีกลิ่นเฉพาะ กาแฟดริป ยกระดับบรรจุภัณฑ์ ช่องทางค้าขายออนไลน์ และยกระดับพื้นที่ในการเพาะปลูกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

 

 

การขยายตลาด ส่งเสริมการออกแบบสินค้า การจดสิทธิบัตร - ขึ้นทะเบียนสินค้าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมถึงการบ่มเพาะวิธีการสร้างเรื่องราว (Story Telling) ปลุกกระแสให้เกิดเทรนด์การดื่มกาแฟ 1 กลิ่น 1 แก้ว 1 วันให้เข้าถึงกลุ่มร้านค้าและผู้บริโภคในอนาคต



ปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การผลิตและเพาะปลูกบนดอยรวมกว่า 20 แห่ง ซึ่งจะพัฒนาทั้งพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่เหมาะสมกับแต่ละลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ การนำผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ มาร่วมพัฒนาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น กาแฟกลิ่นส้ม ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยให้ชุมนสามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน