ไม่แพ้ใครในโลก ! “ข้าวหอมมะลิไทย” แชมป์ข้าวหอมที่ดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน ทำยอดส่งออกโตต่อเนื่อง

by ThaiQuote, 6 มกราคม 2565

“ข้าวหอมมะลิไทย” ครองสุดยอดพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดด้วยการคว้าแชมป์โลก 2 ปีซ้อนจากผลการประกวดข้าวโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2021” และทำยอดขาย 10 เดือนแรกของปี 2564 ทะลุ 84 ล้านตัน มูลค่า 1.77 พันล้านบาท

จากผลการประกวดข้าวโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2021” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 13 โดยผู้ค้าข้าวของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดตั้งแต่วันที่ 7-9 ธ.ค.64 ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐเอมิเรตส์ ผลการตัดสินปรากฏว่าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่งเข้าประกวดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ

สำหรับการได้รับรางวัลชนะเลิศดังกล่าว ถือเป็นการได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยจากการจัดประกวด 13 ครั้ง ไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ ถึง 7 ครั้ง ด้วยกัน

ทางด้านยอดการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ตัวเลขล่าสุดจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่ายอดการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยนับตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2564 มีปริมาณการส่งออก 83.96 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1,768 ล้านบาท

“ข้าวหอมมะลิไทย” ถือเป็นภูมิปัญญาด้านการวิจัยของนักวิชาการด้านการเกษตรของไทย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2497 นายทรัพธนา เหมพิจิตร ผู้จัดการบริษัทการส่งออกข้าว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมในเขตอำเภอบางคล้า ได้จำนวน 199 รวง แล้ว ดร.ครุย บุณยสิงห์ (ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าวในขณะนั้น) ได้ส่งไปปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเปรียบเทียบพันธุ์ที่ สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง (ขณะนี้เป็นสถานีข้าวลพบุรี) ดำเนินการคัดพันธุ์โดยนักวิชาการเกษตรชื่อนายมังกร จูมทอง ภายใต้การดูแลของนายโอภาส พลศิลป์ หัวหน้าสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 ได้พันธุ์บริสุทธิ์ข้าวขาวดอกมะลิ 4-2-105 และคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ ข้าวได้อนุมัติให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมแก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 โดยเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า ขาวดอกมะลิ 105 ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 จนได้ข้าวพันธุ์ กข 15 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ ข้าวทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมมะลิไทย

ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมในตนเอง เป็นกลิ่นของธรรมชาติอันบริสุทธิ์ กลิ่นเหมือนดอกมะลิยามเช้าพร่างหยาดน้ำค้างและปราศจากสารพิษ เวลาเคี้ยวเมล็ดข้าวจะนุ่มหอมอร่อยมากกว่าข้าวอื่นๆ ลักษณะของข้าวหอมมะลิไทยจะมีเมล็ดเรียวยาวสวยงาม สีขาวหรือครีมอ่อนๆ

ข้าวหอมมะลิที่หอมได้นั้นเกิดจากสารหอมละเหยที่ชื่อว่า 2-acetyl-1-pyrroline (2-อะเซทิล-1-ไพโรลีน) หรือเรียกสั้นๆ ว่าสาร 2AP ซึ่งเป็นสารที่ระเหยได้ สารที่ว่านี้คือสารเดียวกันกับที่พบในใบเตย และดอกชมนาด หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าข้าวหอมมะลิจะมีกลิ่นเหมือนมะลิ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่กลิ่นมะลิ แต่เป็นกลิ่นใบเตย แต่ที่เรียกกันว่าข้าวหอมมะลิ เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่าข้าวดอกมะลิ เพราะข้าวพันธุ์นี้มีผิวของข้าวขาวดังดอกมะลินั่นเอง

ความหอมของข้าวหอมมะลิที่เกิดจาก 2AP นั้นเป็นสารที่อยู่ในระดับของยีนในดีเอ็นเอ ดังนั้นเราจะนำเอาข้าวพันธุ์ไม่หอม ไปปลูกเป็นข้าวหอมไม่ได้ แต่ข้าวหอมมะลิก็ใช่ว่าจะปลูกได้ทุกพื้นที่แล้วจะได้กลิ่นหอมที่เท่าเทียมกัน

ข้าวหอมมะลิที่แท้นั้นต้องเป็นข้าวหอมมะลิ105 และพันธุ์ กข15 เท่านั้น ข้าวทั้งสองพันธุ์นี้มีคุณลักษณะพิเศษคือปลูกได้ดีในดินที่ค่อนข้างแล้งหรือดินเค็มเล็กน้อย จะให้สารให้ความหอมได้มากกว่าปลูกในดินที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์

ไทยเป็นประเทศเดียวที่สามารถผลิตข้าวพันธุ์หอมมะลิให้มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีหลายประเทศพยายามที่จะนำเอาสายพันธุ์ของเราไปปลูก แต่ด้วยสภาพดินที่แตกต่างกัน ผลผลิตที่ออกมาจึงไม่เหมือนกับของไทย ทั้งนี้เพราะว่าข้าวหอมมะลิจะปลูกได้ผลและกลิ่นที่ดีจะต้องปลูกในดินที่เป็นดินทรายและมีภาวะแห้งแล้งอยู่บ้าง ซึ่งเมืองไทยเราปลูกได้ดีในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ดินในแถบอีสาน และภาคเหนือบางส่วน

การตรวจสอบว่าเป็นข้าวหอมมะลิแท้หรือไม่นั้น มีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่แม่นยำที่สุดคือการตรวจหาค่าดีเอ็นเอหรือการตรวจหาค่าพันธุกรรมในข้าว แต่กรรมวิธีดังกล่าวใช้เวลามาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นในแวดวงการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องผ่านข้อกำหนดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานข้าวหอมมะลิจึงนิยมใช้วิธีการตรวจข้าวหอมมะลิด้วยวิธีตรวจสอบเมล็ดข้าวสุกที่ต้มในน้ำเดือด ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นอย่างง่าย ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการบ่งชี้เท่านั้น

ดูอย่างไรว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย

นอกเหนือจากการกำหนดมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถสังเกตเห็นรายละเอียดดังต่อไปนี้บนบรรจุภัณฑ์ของข้าวหอมมะลิคือ
-สัญลักษณ์ใบรับรองมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐาน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่ออกให้กับข้าวที่ผ่านมาตรฐานการตรวจแล้ว
-ตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายผู้ประกอบการส่งออกข้าวได้รับอนุญาต
-มีถ้อยความคำว่า “Thai HOM MALI Rice” อยู่บนบรรจุภัณฑ์
-มีชื่อที่อยู่ของผู้ผลิต ตลอดจนเลขที่กำกับล็อตของการผลิต อายุการบรรจุ
-มีตราสัญลักษณ์รวงข้าวบนพื้นสีเขียวที่ กรมการค้าต่างประเทศได้นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเป็นฉลากข้าวหอมมะลิไทย