นักลงทุนมองการจัดเก็บภาษีเทรดคริปโตฯไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นธรรม เสนอทางเลือกใหม่ให้พิจารณา

by ThaiQuote, 14 มกราคม 2565

นักลงทุนยังไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มองว่าไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นธรรม และยังเห็นว่าตลาดนี้ยังเพิ่งเกิดใหม่ ควรยกเว้น เพื่อให้เวลาสร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพก่อน

เรื่องสั่นสะเทือนนักลงทุนในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลคือการที่กรมสรรพากรประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีจากนักเทรดซื้อขายเหรียญต่าง ๆ โดยเลือกจะจัดเก็บตามจำนวนรายการ ส่งผลให้คนในวงการออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน “Thaiquote” ได้สัมภาษณ์พิเศษคุณปรมินทร์ อินโสม กรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทโบรกเกอร์ระดับต้น ๆ ที่ให้บริการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลมาแสดงความคิดเห็น ตลอดจนฉายภาพการลงทุนเงินดิจิทัลในปี 2565 นี้

 

ทางภาคเอกชนเห็นด้วยหรือไม่กับการที่สรรพากรออกมาตรการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล

กฎหมายเรื่องการเรียกเก็บภาษีออกมาแล้วประมาณ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2018 ช่วงนั้นก็มีคนไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากราคาหรือมูลค่าของคริปโตเคอเรนซียังไม่ค่อยโตเหมือนกับปัจจุบันนี้ ช่วงนั้นคนไม่ได้กำไรจากการเทรด เลยชะลอกันไปก่อน

พอเมื่อปีที่ผ่านมามีการซื้อขายกันมาก และมีปริมาณที่เป็นกำไรอยู่มาก ทางกรมสรรพากรก็นำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง หลักการของการจัดเก็บภาษี 15% ทุกคนรู้กันมานานแล้ว แต่รายละเอียดของการคำนวณ วิธีการจัดเก็บที่ไม่ชัดเจน แต่พอมีข่าวออกมาว่าจะมีการจัดเก็บรายธุรกรรม ก็ได้รับการต่อต้านจากนักลงทุนส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากทุกธุรกรรมไม่ได้กำไรหมด มีบางธุรกรรมที่ขาดทุน แล้วจะมีการจัดเก็บนักลงทุนก็จะดูไม่เป็นธรรม ถ้าเราพอจะจำแนกประเภทของนักลงทุนแบ่งออกอย่างคร่าว ๆ ก็แบ่งออกเป็น
1. นักลงทุนที่นาน ๆ มาเทรดครั้ง คือซื้อไปแล้วเก็บไว้ก่อน พวกนี้เก็บภาษีไม่ได้มาก
2. นักลงทุนที่เทรดด้วยตัวเอง แต่เทรดเป็นจำนวนมาก มีรายได้จากการพึ่งพาการเทรด พวกนี้ก็จะได้รับผลกระทบจากการเทรดมากกว่าพวกที่ 1
3. พวกที่มีการออกแบบโปรแกรมขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนเทรดให้กับลูกค้าอีกทอดหนึ่ง พวกนี้ในแต่ละวันมีจำนวนการเทรดที่มากรายการ ซึ่งมีรายการที่กำไร และรายการที่ขาดทุน ดังนั้นการจัดเก็บแยกตามจำนวนรายการ ก็จะทำให้ส่วนที่ขาดทุนกลับมาเป็นภาระต้นทุนของผู้เทรด

เวลานี้เป็นจังหวะที่พร้อมสำหรับการจัดเก็บหรือไม่ นักลงทุนพร้อมแล้วหรือยัง
ในฐานะของเทรดเดอร์หรือนักลงทุนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องทำตาม แต่สำหรับความคิดเห็นของผม เห็นด้วยกับหลักการที่จะมีการเก็บภาษี แต่ทางสรรพากรต้องเข้าใจธรรมชาติของการซื้อขายคริปโตฯด้วยว่าไม่สามารถคิดภาษีเป็นรายธุรกรรมได้

สิ่งที่ควรนำเสนอและรูปแบบที่มีความเป็นธรรมควรเป็นอย่างไร

ตามที่ตัวแทนภาคเอกชนเสนอไปนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะที่สามารถเก็บภาษีได้อย่างเป็นธรรมและสร้างสรรค์คือ
1. การนำยอดที่กำไรมาหักกับยอดที่ขาดทุน แล้วดูว่าถ้ามีกำไรก็เก็บ 15% และถ้าหากเกินเกณฑ์ก็เก็บ 35% ตามอัตราภาษีก้าวหน้าก็ได้
2. การเก็บตอนนี้จะนำเงินดิจิทัลหรือคริปโตฯแลกกลับมาเป็นเงินบาท
โดยทางภาคเอกชนได้หารือร่วมกันต่างก็ไม่ได้ปฏิเสธที่ให้มีการจัดเก็บภาษี เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ แต่การจัดเก็บต้องสมเหตุสมผล จึงได้นำเสนอ 2 แนวทางนี้กลับไปให้ทางสรรพากรพิจารณาใหม่ ซึ่งกระบวนการจัดเก็บทางภาคเอกชนก็นำเสนอไปว่าเมื่อหลักการสมเหตุสมผลและเป็นธรรมแล้ว จะจัดเก็บเป็นรายปี เหมือนรายได้ส่วนบุคคลก็จะทำให้สะดวกมากขึ้น คาดว่าจะต้องมีการปรับปรุงอย่างแน่นอน

เทคโนโลยีระบบการจัดเก็บสามารถทำได้หรือไม่ตามที่ทางเราเสนอไป

ทำได้อยู่แล้ว ในแง่ของเทคโนโลยีไม่มีปัญหา สามารถออกแบบตามรูปแบบที่เราต้องการได้ เพียงแต่ต้องมาตกลงกันให้ชัดก่อนว่ารูปแบบไหนเป็นธรรม สร้างสรรค์ และส่งเสริมให้ก้าวไปข้างหน้าได้

การเรียกเก็บภาษีการเทรดคริปโตฯ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและบรรยากาศการลงทุนหรือไม่

เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่จะได้รับผลกระทบ สิ่งแรกคือทำให้เสียบรรยากาศ โดยเฉพาะกับรายใหม่ที่ต้องการจะเข้าศึกษาหรือทดลองลงทุนในรูปแบบนี้เกิดการชะงัก หรือคนที่เทรดอยู่แล้วคิดว่าไม่เหมาะสมก็ย้ายกระดานการเทรดไปต่างประเทศ ในเบื้องต้นกระทบกับแพลตฟอร์มที่ให้บริการในประเทศไทยก่อน และการที่ไปเทรดในต่างประเทศมากขึ้น สิ่งที่ทางก.ล.ต.เป็นห่วงคือ ขาดการควบคุมและคุ้มครองนักลงทุน เหมือนผลักนักลงทุนไปรับความเสี่ยง

การเก็บภาษีทำให้จากนี้ต่อไปมีต้นทุนในการเทรด บริษัทแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนก็ต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ มาดำเนินการเพื่อลดผลกระทบ

นอกจากนี้ผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อปี 2564 จะมีบริษัทภาคเอกชนต่าง ๆ พยายามส่งเสริมให้มีการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเงินดิจิทัล หรือเหรียญประเภทต่าง ๆ แต่เมื่อกฎหมายการเก็บภาษีออกมา ทำให้นโยบายของบริษัทต่าง ๆ ที่มีแผนจะวางระบบการแลกเปลี่ยนด้วยเหรียญดิจิทัลต้องชะงักลงได้ในระดับหนึ่ง จะเห็นได้จากหลังจากที่สรรพากรออกมาให้รายละเอียดก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบการลงทุนและการแลกเปลี่ยนของดิจิทัล จนนายกรัฐมนตรีต้องเรียกกลับไปทบทวน

การออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีทำให้ตลาดคริปโตฯในเมืองไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วจะเสียเปรียบหรือไม่

เรื่องนี้ย่อมเกิดการเสียเปรียบบ้างไม่มากก็น้อย เพราะในบางประเทศก็ไม่มีการเรียกเก็บ ส่งเสริมให้เขาสามารถมุ่งหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้ดีกว่าเทรดเดอร์ในเมืองไทย ในขณะที่แพลตฟอร์มในประเทศไทยต้องกันเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็นไปตามผู้ควบคุม เรคเกอร์เรเตอร์ต่าง ๆ ทำให้ฐานการแข่งขันสู้กับต่างประเทศได้ยาก

ถ้าคิดว่าหากทางรัฐบาลมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมตลาดการลงทุนในระบบเงินดิจิทัล ควรสร้าง ecosystem อย่างไรถึงจะส่งเสริมให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง

ในความคิดเห็นของผมคิดว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุน เหมือนกับตอนที่สนับสนุนให้ตลาดหลักทรัพย์มีการเติบโตในระยะแรก ๆ คือการละเว้นไม่ให้มีการเก็บภาษีไปก่อน ทั้งนี้หากจะมองชีวิตของตลาดการลงทุนในคริปโตของเมืองไทยยังถือเป็นตลาดใหม่สำหรับนักลงทุน ทั้ง ๆ ที่หากจะมองโดยทั่วไป ตลาดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทยมี ecosystem ที่ดีกว่าประเทศอื่นอีกหลายประเทศ เพราะมีหลักกฎหมายหลายอย่างที่เข้มแข็ง เพียงแต่ว่าควรที่จะประคับประคองให้เติบโตมากกว่านี้ค่อยมาเก็บภาษีน่าจะดีกว่า การออกกฎหมายจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ เทรดเดอร์ ซึ่งมีสัดส่วนที่มากกว่าทุกประเภท คิดแล้วประมาณ 70-75% ของนักลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 2 กลุ่มได้รับผลกระทบที่เท่า ๆ กัน ทั้งนี้เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าแล้ว กลุ่มที่ซื้อมาเก็บและกลุ่มที่ใช้โปรแกรมในการเทรด มีสัดส่วนที่เกือบจะไม่แตกต่างกันมากนัก

มูลค่าตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทยเป็นอย่างไร และทิศทางในปี 2565 เป็นอย่างไร

ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมามูลค่าการเทรดในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยต่อวันมีมูลค่าประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2563 เป็นหลัก 1,000% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดด สำหรับทิศทางในปีนี้ยังไม่ขึ้นไปมาก แต่ก็ยังไม่ตกลงมามาก ปริมาณการซื้อขายจึงไม่แตกต่างจากปลายปีที่ผ่านมามากนัก แม้ว่าปลายปีที่ผ่านมาตัวเลขของเหรียญบิตคอยจะลงมาประมาณ 50% แต่ก็ถือว่าเป็นธรรมชาติของตลาดคริปโตฯ ถ้าหากลงไปถึง 90% ถึงค่อยถือว่าเป็นเกณฑ์ที่มาก ทั้งนี้เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเวลามีการซื้อขายเป็นตลาดเสรี ไม่เหมือนกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่จะมีเพดานในการขึ้นที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ในปีนี้ตลาดของคริปโตฯมีการผันผวนมากทั้งนี้เกิดจากหลายปัจจัย บิตคอยเพียงวันเดียวจาก 60,000 กว่า ลงไปแตะที่ 39,000 แล้วต่อมาก็ขยับขึ้นมาแตะที่ 45,000 ทั้งนี้เนื่องจากมีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทางบิตคอยอ่อนไหวจึงลงไปก่อน

สำหรับในปีนี้คาดว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทยน่าจะเกิดจากบริษัทตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการเข้ามาระดมเงินกู้ผ่านช่องทางนี้มากขึ้น ซึ่งทิศทางนี้เริ่มเห็นได้จากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นในปีนี้.