“บ้านเกิดเมืองนอน” ปี 65 ตีความจากเพลงเป็นภาพ หวังเป็น Soft Power เปิดมุมดี ๆ ของ “บ้านเกิดเมืองนอน”

by ThaiQuote, 20 มกราคม 2565

“บ้านเกิดเมืองนอน” #ดังไม่เลือกเพศเลือกวัย ปี 2565 เปลี่ยนการตีความจาก “เสียงเพลง” เป็น “เรื่องเล่า” ที่หลากหลาย หวังเป็น Soft Power-พลังอันอ่อนโยน ให้เห็นมุมมองที่ดีของ “บ้านเกิดเมืองนอน”

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ครูรัก-ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ Head Producer โครงการเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน 2564” 4 เวอร์ชั่นหลัก และอีก 2 เวอร์ชั่นรอง ที่เป็นที่โด่งดังไปทั่วทุกหัวระแหง ถูกอกถูกใจคนทุกเพศทุกวัย เพื่อมาคุยถึงความสำเร็จและโครงการต่อเนื่องในปี 2565

คุณศรัทธาเล่าให้ฟังว่า การทำเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” เกิดจากกลุ่มที่รู้จักกันเปิดประเด็นอยากจะนำเพลงที่มีเนื้อหาทำนองที่น่าสนใจมาทำ เพื่อเป็นผสานความเข้าใจอันดีของคนในชาติ และเห็นคุณค่าของบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งเพลงนี้ก็ลงตัวมากที่สุด จึงมาศึกษาอย่างจริงจัง เพลงนี้เป็นเพลงที่คุ้นหูมาตั้งแต่เด็ก ทางด้านประวัติของเพลงนี้ก็มีเรื่องราว คือ ประพันธ์เพลงโดยครูแก้ว อัจฉริยกุล ในปี 2488 และเป็นเพลงที่ชนะเลิศการประกวดเพลงปลุกใจในยุคนั้น และได้ครูเอื้อ สุนทรสนาน วงสุนทราภรณ์ เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง ซึ่งถือว่าเป็นงานของสุดยอดศิลปินในยุคนั้น ที่ร่วมกันทำทั้งเนื้อร้องและทำนอง พอหาจุดที่น่าสนใจเจอ แล้วก็กลับมาบอกรุ่นพี่คนนั้นบอกว่าทำเป็น 4 Version เลยดีมั้ย รุ่นพี่คนนั้นก็บอกว่า “เอาสิ”

 

 

ถัดจากนั้นก็ มานั่งคุยกันว่าทำเพื่ออะไร ก็เลยมาตกผลึกว่าไม่ได้หวังที่จะทำเพื่อการค้า แต่เห็นว่าสังคมในช่วงนี้ มีหลายคนที่ไม่เห็นคุณค่าของรากเหง้าบ้านเกิดเมืองนอน บ้านเมืองอาจจะไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง มีข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา พอคุยกันก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน

ต่อมาก็ถึงเรื่องเงินทุน แรก ๆ บอกว่าจะลงขันกันก่อน ถัดจากนั้นก็จะหาเงินมาสนับสนุน เรื่องต่อไปก็มาคิดร่วมกันว่าจะเอาไปลงในแพลตฟอร์มอะไร โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่มีสื่อหลักที่จะนำไปลงได้ ก็ให้ไปตามธรรมชาติของยุคนี้ก็คือ สร้างเพจเฟซบุ๊ก สร้างช่องยูทูป จึงได้เริ่มจากจุดนั้น

 

 

หาศิลปินมาร้องเพลงเป็นเรื่องหิน

“งานนี้ไปหาคนมาร้องไม่ใช่งานง่าย ศิลปินหลายคนก็ต้องห่วงฐานเสียงของเขา การตลาดถ้าเป็นวัยรุ่น หากเขาออกมาร้องแล้วเกี่ยวกับรักชาติ รักแผ่นดินก็อาจจะถูกแบนก็ได้ โดนทัวร์ลง ทุกวันนี้ทุกคนระวังตัวเป็นอันมาก ไม่ต้องการโยงไปด้านใดด้านหนึ่งทางการเมือง เช่น หนุนรัฐบาล หรือว่าไม่เอารัฐบาล ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายในการไปคุยกับศิลปิน หลายคนถามว่าอันนี้ใครทำ ก็ผมทำเองแหละครับ ในนามของหน่วยงานใด ก็ไม่มีครับ ก็ต้องตอบเขาให้ได้ เราจะไปติดต่อให้เขามาร้อง เงินก็ไม่ได้มีให้เขามากมาย ก็ต้องหาคนที่เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจวัตถุประสงค์ของงานนี้” คุณศรัทธาบอกพร้อมกับเล่าต่อว่า

“เริ่มต้นก็นึกถึงรุ่นใหญ่ก่อน เช่น ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ, แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม, อีฟ ฟราย, ป้อม- โชติชู พึ่งอุดม ออโต้บาห์น, ตุ๊ก-วิยะดา โกมารกุล ณ นคร โดยผมรับผิดชอบ 3 เวอร์ชั่น คุณดี้ นิติพงศ์ ห่อนาค รับผิดชอบ 1 เวอร์ชั่น ใน 3 เวอร์ชั่นของผมก็คิดว่าในแต่ละเวอร์ชั่นควรมีนักร้องมากกว่า 1 คน ดูจากท่อนเพลงก็คิดว่าน่าจะ 6 คนก็จะได้มีความหลากหลาย และยังเป็นภาพของการให้ความร่วมมือเป็นกลุ่ม ก็ต้องไปหานักร้องเวอร์ชั่นละ 6 คน รวมทั้งหมด 18 คน เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่าย”

 

 

คุณศรัทธาพูดถึงจุดแตกต่างของเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” แตกต่างจากเพลงรักชาติอื่น ๆ คือ “ผมบอกว่าเพลงนี้ไม่ใช่เพลงตำหนิ ด่าทอหรือแซะ เช่น ถ้าเราพูดถึงเพลงหนักแผ่นดิน เพลงนี้ก็จะรู้สึกได้ว่าหนักไป แต่เพลงนี้ไม่ได้ตำหนิใครเลย เป็นเพลงที่เล่าประวัติว่าก่อนที่จะมาถึงวันนี้ต้องเสียสละทุ่มเทของบรรพบุรุษของเรานะ มันเป็นสิ่งที่สวยงามทน่าภาคภูมิใจ มันไม่ได้ยกยอปอปั้นใคร หรือเลียใคร”

ต่อมาก็ถึงขั้นตอนของโปรดิวเซอร์ ก็จะนึกถึงร็อก ป๊อปร็อก ป๊อปแจ๊ส ให้กระจายไปหลาย ๆ กลุ่ม ใครชอบแนวไหนก็สามารถเลือกฟังได้ในเพลงเดียวกัน แต่เปลี่ยนสไตล์ ก็ได้คุณเพชร คุณเต๋า พลาดร ให้แยกกันไปทำ ส่วนผมก็ไปคุยเรื่องลิขสิทธิ์กับทางมูลนิธิสุนทราภรณ์ ได้คุยกับคุณวราภรณ์ เสนพงศ์ ก็ตกลงตามระเบียบกติกาทุกอย่างให้ถูกต้อง ตัดต่อเสร็จก็อัพโหลดขึ้นไปสร้างเพจ “บ้านเกิดเมืองนอน 2564” เปิดช่องยูทูปในชื่อเดียวกัน ก็ค่อย ๆ ปล่อยเพลงออกมา พอ 4 เวอร์ชั่นแรกออกไปก็ทำเวอร์ชั่นลูกทุ่ง และเวอร์ชั่นเด็ก ต่อมาก็มีโครงการอีกเพลงหนึ่งคือ “รักชาติ” เพลงนี้ย้อนไปยุคหลวงวิจิตรวาทการ ทำเสร็จแล้ว และมีการเผยแพร่แล้ว

 

 

ผลตอบรับดีเกินคาด

พอเราออกอากาศไป ก็มีช่องยูทูปอีกหลายช่องนำเพลงของเราไปเผยแพร่ต่อ เขาไม่ได้ขอ แต่ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็เรียกของเราว่าเป็น official channel ทางเราก็คิดว่าวัตถุประสงค์หลักของเราไม่ได้ทำมาเพื่อหารายได้ การแพร่หลายไปหลาย ๆ ช่องทางยิ่งเป็นเรื่องดี

ผลตอบรับพอใจมาก เกินกว่าที่เราคาดหมายด้วยซ้ำ เราไม่ได้มีเงินมาโปรโมท ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดปรากฏการณ์ออกมาอีกนับ 70-80 เวอร์ชั่น จากเดิมมีเพลงไม่เกิน 7-8 เวอร์ชั่นเท่านั้น เพลงที่เป็นร็อกก็ฟังมากกว่า 2 ล้านวิว นอกจากนี้ในเพจกลายเป็นพื้นที่เล็ก ๆ เข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงความรักบ้านเกิดเมืองนอนได้อย่างอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับการชอบหรือไม่ชอบพรรคการเมือง มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่ตรงนี้เป็นเรื่องของบ้านเกิดเมืองนอนของเราจริง ๆ ในขณะที่พื้นที่ข้างนอกอาจจะไม่อิสระ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ภาคภูมิใจมากกว่าจำนวนยอดวิวที่สูงเสียอีก

 

 

ในช่วงหนึ่งที่นักการเมืองหรือนายกรัฐมนตรีนำเพลงนี้ไปใช้ ในความเห็นของผมไม่คิดว่าถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากเนื้อหาในเพลงไม่ได้แสดงให้ไปชี้นำหรือด่าฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่เห็นต่าง มันเป็นสิ่งที่ร่วมมาเป็นชาติ ไม่เกี่ยวกับบุคคล

แต่ละเพลงนอกเหนือจากสไตล์ของเพลงที่แตกต่างกัน ก็มีการสอดแทรกภาพต่าง ๆ ที่มีความหมายเข้าไปด้วย แต่การสื่อความหมายของเราจะไม่ฮาร์ดเซลล์ คือเราก็มีเรื่องราวในแต่ละเวอร์ชั่น เช่นเวอร์ชั่นแจ๊ส เราก็สื่อให้เห็นว่าเราสามารถที่จะรักชาติด้วยความสนุกสนานก็ได้นะ หรือในเวอร์ชั่นสนุกสนานแต่หนักแน่นก็เลือกป๊อปร็อก และเลือกศิลปินคือคุณบิลลี่ โอแกน พร้อมกันนี้ก็มีความหลากหลาย มีนักร้อง นักแสดง ตลก เป็นต้น

 

 

โครงการ “บ้านเกิดเมืองนอน” ในปี 2565

สำหรับ “บ้านเกิดเมืองนอน”ในแนวของเพลงเราก็ครบรสและคิดว่าอิ่มแล้ว ในปี 2565 นี้ก็อยากจะเล่า “บ้านเกิดเมืองนอน” ในรูปแบบของสารคดีผสมความบันเทิงเข้าไปด้วย แต่ก็วัตถุประสงค์เดียวกันคือต้องการเล่า “บ้านเกิดเมืองนอน” ในเชิงบวก ดีงาม เพื่อให้เป็นอีกมุมหนึ่งเวลาเรารู้สึกแย่กับประเทศชาติก็หันมามองว่า บ้านเราเมืองเรา ก็มีสิ่งที่ดี มีมุมดี ๆ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเพลงหรือเรื่องเล่าล้วนแต่เป็นพลังอันอ่อนโยนที่จะมองถึงคุณค่าของ “บ้านเกิดเมืองนอน”