ปลุก “แพร่” เป็น “เมืองในป่า” พัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยว และบ้านหลังเกษียณ แก้ปัญหาเมืองยากจนที่สุดของไทย

by ThaiQuote, 20 มกราคม 2565

ปลุก “แพร่” จากเมืองรั้งท้ายเป็น “เมืองในป่า” บูรณาการเศรษฐกิจป่า ท่องเที่ยว อาหาร สุขสภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ชูจุดแข็งเป็นเมืองเงียบสงบ มีธรรมชาติ อากาศดี คงวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิม และค่าครองชีพยังไม่สูง

รายงานพิเศษ
“แพร่” เป็นจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ทิศ สูงที่สุดอยู่ที่ ดอยขุนสถาน และมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านคือแม่น้ำยม ที่ผ่านมาแพร่เป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ที่คนทั่วไปมักใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังเมืองอื่น ๆ ทางภาคเหนือ

สถาบันการสร้างชาติได้หยิบยกบทวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของเมืองแพร่ ที่เป็นเมือง “จน แก่ เจ็บ พิการ” จากการที่แพร่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก ผลผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มต่ำ และมีนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวน้อย ด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานในจังหวัดอื่น ส่งผลทำให้แพร่มีสัดส่วนคนชราสูงติดอันดับ 4 ของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น คนแพร่ยังมีปัญหาด้านสุขสภาพ (Wellness) โดยมีอัตราการตายต่อประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีสัดส่วนคนพิการสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ประชากรในจังหวัดแพร่จึงลดลงต่อเนื่องโดยเฉลี่ยปีละ 5 พันคน

ในการหยุดยั้งปัญหาดังกล่าว ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้เสนอวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดแพร่ให้เป็น “เมืองในป่า” โดยบูรณาการเศรษฐกิจป่า กับ การท่องเที่ยว อาหาร สุขสภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นจุดแกร่งของประเทศไทย เพื่อดึงดูดผู้คนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในจังหวัดแพร่ อาศัยจุดแข็งของแพร่ที่เป็นเมืองเงียบสงบ เป็นธรรมชาติ อากาศดี และยังดำรงวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิม ประกอบกับค่าครองชีพยังไม่สูง

ประธานสถาบันการสร้างชาติ เสนอให้มีการแก้กฎหมายอนุญาตให้นำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มาพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่รูปแบบใหม่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า ออกแบบระบบให้คนสามารถอยู่กับป่าโดยใช้ประโยชน์ ไม่ทำลาย แต่พัฒนาให้ป่าสมบูรณ์มากขึ้น และตั้งเป้าดึงคนไทยและคนต่างชาติเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 5 พันคน เน้นคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่จังหวัดแพร่ขาดแคลน และมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งเงิน ประสบการณ์ และเครือข่าย นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าดึงดูดกลุ่มคนทำงานทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้เข้ามาทำงานและพำนักเป็นระยะเวลา 3-6 เดือนในจังหวัดแพร่ปีละ1 หมื่นคน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ 2-4 พันล้านบาทต่อปี

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจเดิม โดยการยกระดับสินค้าและทุนวัฒนธรรม 7 ประเภท หรือ 7F ได้แก่ Forest (ไม้สัก) Food (อาหาร) Fabric (ผ้าพื้นเมือง) Furniture (เฟอร์นิเจอร์ไม้) Fluid (สุราพื้นบ้าน) Folk (ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและชนเผ่า) และ Fusion (ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ) โดยใช้กระบวนการสร้างแบรนด์ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การพัฒนาการผลิต การตลาด และการจัดการ รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจใหม่ คือ การส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) และเศรษฐกิจจากโครงการระบบขนส่ง เช่น การพัฒนารถไฟท่องเที่ยว การพัฒนาสถานีรถไฟเป็นแลนด์มาร์กใหม่โดยใช้สถาปัตยกรรมนานาชาติ การพัฒนาการแสดงแสง สี เสียงในอุโมงค์รถไฟ เป็นต้น

ประธานสถาบันการสร้างชาติ ยังได้เสนอแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแพร่ในระยะสั้น โดยการพัฒนาโครงการวิทยาลัยนวัตกรรมการป่าไม้และการเกษตร (มหาวิทยาลัยแม่โจ้เดิม) ให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัย ด้วยการออกแบบให้เป็นทั้งสภาบันการศึกษา ต้นแบบเมืองในป่า พื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนของสถาบันการสร้างชาติเริ่มต้นการพัฒนาจากระดับจุลภาค ผ่านโครงการวัดสร้างชาติ ชุมชนสร้างชาติต้นแบบ และโรงเรียนสร้างชาติ และการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ เพื่อสร้างขบวนการขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน ผนวกกับการขับเคลื่อนของภาครัฐกิจจากบนลงล่าง โดยหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยพลังของคนแพร่ และสร้างต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

5 สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของ “แพร่”

1. วัดพระธาตุช่อแฮ (Prathat Cho Hae Temple) ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดี ทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ เป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ราศี เป็นพระธาตุประจำปีเกิด สำหรับคนที่เกิดปีขาลตามคติความเชื่อของทางภาคเหนือ หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้

 

 

2. วนอุทยานแพะเมืองผี (Phae Muang Phi Forest Park) “แพะเมืองผี” นั้นมาจากภาษาพื้นเมือง “แพะ” แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า “เมืองผี” แปลตรงตัวได้ว่า เงียบเหงาวังเวงเหมือนเมืองผี สถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังของจังหวัด มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เป็นปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ นักธรณีวิทยาประมาณอายุว่าน่าจะเกิดขึ้นไม่เกิน 2 ล้านปี เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นลำน้ำ มีดิน หิน ทราย กรวด ทับถมเป็นตะกอนมานับหมื่นปี ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก เกิดรอยเลื่อนยกตัว เมื่อมีฝนตกเกิดการชะล้าง ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ แต่การพังทลายไม่เท่ากันตามชนิดของตะกอน จึงเกิดเป็นพื้นที่สูงต่ำ และมีรูปทรงต่างกันไป ดูแปลกตายิ่งนัก

 

 

3. บ้านทุ่งโฮ้ง (Thung Hong House) “หม้อฮ่อม” ผ้าย้อมสีกรมท่า เอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก ในเมืองแพร่มีแหล่งผลิตที่สำคัญ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ บ้านพระหลวง บ้านเวียงทอง และ บ้านทุ่งโฮ้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด ตั้งอยู่ที่ชุมชนทุ่งโฮ้ง ห่างจากตัวเมืองไม่ถึง 10 กิโลฯ ร้านรวงเรียงรายบนถนนที่ถูกขนานนามว่า “ถนนสายหม้ออ่อม” ล้วนเป็นร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อฮ่อม ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นตำนานผ้าเมืองแพร่

 


4. วัดจอมสวรรค์ (Chom Sawan Temple) วัดเก่าแก่โบราณมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นในรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปะไทยใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร วัดสร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวไทใหญ่ หลังคาเล็กใหญ่ซ้อนลดหลั่นกันไป ประดับประดาลวดลายฉลุ อารามเป็นไม้สัก ใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เสาไม้มีทั้งลงรักปิดทองและประดับกระจกสีงดงามด้วยลวดลายแบบไทใหญ่ ลวดลายเพดานตกแต่งด้วยกระจกสีต่างๆ เป็นรูปสัตว์หิมพานต์
ภายในวัดมีหลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ และมีพระพุทธรูปงาช้างเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้างหรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดอัดเป็นแผ่นบางๆ เขียนลงรักแดงจารึกเป็นอักษรพม่า อีกทั้งยังมีบุษบกลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ที่คล้ายกับเจดีย์ชเวดากอง มีรูปทรงแบบพม่า คือ มีเจดีย์ใหญ่อยู่กลางรายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 องค์ เปิดให้เยี่ยมชมตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ไม่มีวันหยุด

 

 

5. คุ้มเจ้าหลวง (Khum Chaoluang) สถานที่เก่าแก่โบราณนับร้อยปีที่อยู่คู่เมืองแพร่มายาวนาน โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือที่เรียกกันว่า “ทรงขนมปังขิง” ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้าย เป็นอาคารสีเขียวอ่อน 2 ชั้น ก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงปั้นหยา เชิงชายประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างประณีตสวยงาม โดยเฉพาะโครงสร้างอาคารพิเศษตรงที่ไม่มีเสาเข็ม ใช้เพียงไม้ซุงเนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง ภายในอาคารโอ่โถง หรูหรา และยังคงมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของเจ้าหลวงที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์

ส่วนใต้ถุนเป็นคุกใต้ดินลึก 2.30 เมตร สำหรับขังทาสและนักโทษ พื้นอาคารชั้น1 จะสังเกตเห็นว่ามีช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กหลายๆ ช่องที่สามารถเปิดปิดได้ ช่องนั้นทำไว้สำหรับสอดส่องและหย่อนอาหาร ลือกันว่าหลังกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.2445 เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ลี้ภัยไปอยู่หลวงพระบาง คุ้มจึงถูกทิ้งร้าง แต่ตำนานอันน่าสะพรึงกลัวและอาถรรพ์ลี้ลับยังคงถูกเล่าสืบมาจนถึงทุกวันนี้