ราคาแก๊สหุงต้มพร้อมลอยตัวตามขั้นบันได เอกชนตรึงราคาสินค้าได้แค่ 2 เดือน สินค้าแพงลากยาวถึงปลายปี

by ThaiQuote, 7 กุมภาพันธ์ 2565

ก.พลังงานปล่อยราคาแก๊สหุงต้มลอยตัวตามขั้นบันได ส.อ.ท.คาดราคาสินค้าแพงลากยาวถึงปลายปี เอกชนชี้ช่วยตรึงได้แค่ 2เดือน พรุ่งนี้ขบวนรถบรรทุก-แท็กซี่จับกลุ่มล้อมก.พลังงาน ประท้วงราคาเชื้อเพลิงขึ้น

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากเดือนมีนาคมที่จะครบกำหนดการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เพื่อช่วยเหลือประชาชน คงจะมีการปล่อยให้ราคาปรับขึ้นตามขั้นบันได จากเดิม 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ก.ก.) เป็น 333 บาท และ 363 บาท ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ หากปรับขึ้นเป็นราคา 333 บาทต่อถัง 15 กก. ก็ยังคงต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยก็จะยังได้รับการช่วยเหลือยู่ผ่านลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิมที่ช่วยอยู่ 45 บาทต่อ 3 เดือน ก็จะเพิ่มเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ 13.5 ล้านราย ขณะที่ LPG ภาคขนส่งในปัจจุบันมีจำนวนอยู่ไม่มากเท่าใดนัก คาดว่าคงจะไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือแต่อย่างใด

"ค่อนข้างชัดเจนว่าจะไม่มีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนต่อไป คงจะปล่อยให้เป็นไปแบบขั้นบันใด แต่ราคาจะอยู่ที่เท่าไหร่คงต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีการตรึงมาในระยะเวลาประมาณ 2 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันที่เป็นหลักของกองทุนน้ำมันฯ ซึ่ง ณ ระยะเวลาที่ช่วยอยู่ราคาน้ำมันอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด แต่ปัจจุบันนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ดังนั้น จึงต้องยึดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก"

นายกุลิศ กล่าวต่อไปอีกว่า หากราคา LPG ปรับราคาขึ้น 1 บาทจะช่วยลดภาระเงินกองทุนน้ำมันฯประมาณ 9 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 270-280 ล้านบาทต่อเดือน

เอกชนตรึงราคาได้แค่ 2 เดือน
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้หัวข้อ “สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไป อย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1 – 2 เดือนเท่านั้น

ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง รวมทั้ง ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่น ๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในช่วงนี้ นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 2–4 เปอร์เซ็นต์

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 14 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้

1.ปัจจัยใดส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้
อันดับที่ 1 : ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 76.7%
อันดับที่ 2 : ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 74.0%
อันดับที่ 3 : ค่าขนส่งที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง 63.3%
อันดับที่ 4 : ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น 51.3%

2.ภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานแค่ไหน
อันดับที่ 1 : 3 – 6 เดือน 35.3%
อันดับที่ 2 : 6 – 12 เดือน 34.7%
อันดับที่ 3 : มากกว่า 1 ปี 30.0%

3.มาตรการใดมีประสิทธิภาพในการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
อันดับที่ 1 : ลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง 75.3%
อันดับที่ 2 : ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ 74.7%
อันดับที่ 3 : ตรึงราคาน้ำมัน ไม่ให้มีผลต่อต้นทุนสินค้า 66.0%
อันดับที่ 4 : มาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่ง 59.3%

4.ภาคเอกชนจะช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นได้นานเท่าไร
อันดับที่ 1 : 1 – 2 เดือน 40.0%
อันดับที่ 2 : 3 – 4 เดือน 30.7%
อันดับที่ 3 : มากกว่า 6 เดือน 16.7%
อันดับที่ 4 : 5 – 6 เดือน 12.6%

5.เอกชนควรปรับตัวรับมือกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวอย่างไร
อันดับที่ 1 : นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 77.3%
อันดับที่ 2 : นำระบบบริหารจัดการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เช่น LEAN, ไคเซ็น 61.3%
อันดับที่ 3 : ปรับกลยุทธ์เน้นตลาดต่างประเทศ และการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ 54.0%
อันดับที่ 4 : เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ 50.0%

6. อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะอยู่ในระดับใด
อันดับที่ 1 : เพิ่มขึ้น 2-4 % 58.0%
อันดับที่ 2 : เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% 23.3%
อันดับที่ 3 : เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2% 18.7%

พรุ่งนี้รถบรรทุกนัดรวมพลไล่รมว.พลังงาน
กิจกรรม Truck Power Final Season ที่บริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์เป็นตามเดิม และเริ่มเคลื่อนขบวนรถบรรทุก และมีขบวนรถแท็กซี่เข้าร่วมด้วยอีกอย่างน้อย 50 คัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยจะมีการรวมพลในเส้นทางหลัก 3 แห่ง ได้แก่

1.ถนนเอเชีย เริ่มจาก ด่านบางปะอิน > นวนคร > ดอนเมือง > มุ่งหน้าไปกระทรวงพลังงาน
2.ถนนบางนาตราด เริ่มจาก บางนาตราด กม.12 > มุ่งหน้าไปกระทรวงพลังงาน
3.ถนนกาญนาภิเษก เริ่มจาก นครปฐม > ตลิ่งชัน > บางพลัด > วงศ์สว่าง > มุ่งหน้าไปกระทรวงพลังงาน

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ประกาศจะจัดกิจกรรมรวมทัพรถใช้น้ำมันแพงวิ่งรถทั่วกรุงเทพฯ เพื่อแสดงพลังและจะขับไล่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกจากตำแหน่งอีกด้วยในวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2565

ขอย้ำว่ารัฐบาลเข้าใจทุกปัญหาและได้ดำเนินการตรึงราคาพลังงานไว้ วอนให้เข้าใจสถานการณ์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเรา ราคาน้ำมันวันนี้ส่วนใหญ่เกิน 30 บาท/ลิตร หรือใกล้เคียง โดยมีปัจจัยหลายอย่างเช่นคุณภาพแต่ละประเภทอาจมีความแตกต่างกัน ยกเว้นประเทศมาเลเซียซึ่งมีการผลิตน้ำมันในประเทศ เกินความต้องการในประเทศ

ถ้ารัฐบาลไม่ตรึงราคาพลังงานไว้ วันนี้ ราคาขายดีเซลที่แท้จริงจะสูงกว่านี้ อาจถึง 34 บาท/ ลิตร หากทำตามที่เรียกร้องเดิมที่ 25 บาท/ลิตร จะต้องใช้เงินสนับสนุนถึงเดือนละ 20,000 ล้านบาท ปีละ 240,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าจะแบกรับไว้ได้ ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีเน้นดำเนินนโยบายต้องไม่บิดเบือนกลไกตลาด หรือสร้างภาระงบประมาณในอนาคต.