กะเทาะภาพรวมอุตสาหกรรมกัญชาไทย หลังปลดล็อก

by วันทนา อรรถสถาวร , 12 กุมภาพันธ์ 2565

อีกประมาณ 120 วัน กัญชาจะถูกปลดล็อกให้สามารถเป็นพืชที่ปลูกได้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรม โดยหวังว่าจะเป็นพืชขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวใหม่ แล้วความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่

 

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ลงนาม ประกาศ เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลเมื่อประกาศมีผลบังคับหลังลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน ซึ่งจะควบคุมเฉพาะสารสกัดจากกัญชา กัญชงเป็นยาเสพติดในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสารTHC ไม่เกิน 0.2% เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากกัญชา กัญชงที่ปลูกภายในประเทศ และสารสกัดเมล็ดกัญชา กัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ เท่ากับสารสกัดจากกัญชา กัญชงที่มีสารTHCเกิน 0.2% ยังเป็นยาเสพติด ส่วนที่นอกเหนือจากนี้สามารถดำเนินการได้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ

Thaiquote จึงสัมภาษณ์พิเศษ คุณวีรยุทธ เชื้อไทย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟินาเล่ เมด จำกัด ผู้ผลิตและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่เริ่มแรกที่มีแนวโน้มว่าจะผลักกัญชาเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทย

รายละเอียดผลการปลดล็อกกัญชาเป็นอย่างไรบ้างคะ
เท่าที่ดูจาก พ.ร.บ.กัญชาที่ออกมาเหมือนจะปลดล็อก แต่จริง ๆ แล้วเป็นการปลดล็อกเพียงบางส่วนไม่ใช่ทั้งหมด การปลูกตัวต้นไม่ได้คุมแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่คุมทั้งหมด ใครจะปลูก 5 ต้น 10 ต้น ปลูกได้ แต่ต้องไปแจ้งสาธารณสุขจังหวัด เป็นการแจ้งเพื่อทราบ แต่ถ้าเมื่อใดที่ปลูกมากเพื่อมาทำการค้าก็เข้าหลักเกณฑ์เดิม คือต้องไปขออนุญาต ขบวนการขั้นตอนการขออนุญาตยังเหมือนเดิม เพียงแต่กฎหมายใหม่มีค่าธรรมเนียมของการขออนุญาตขึ้นมา และสูงเสียด้วย เริ่มตั้งแต่ใบคำขอผลิตหรือปลูกเพื่อการค้า ค่าใบคำขอ 7,000 บาท

 

 

จะช่วยในเรื่องของการส่งเสริมทางเศรษฐกิจชุมชนไหมคะ
กฎหมายตัวนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการนำกัญชามาเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมา มีการซื้อขายกัญชาแห้งกิโลกรัมละกว่า 15,000 บาท แต่เมื่อทุกบ้านสามารถปลูกได้ 5-10 ต้น โอกาสของการนำกัญชามาเพื่อขายให้กับร้านค้ารายย่อย ร้านอาหารต่าง ๆ ก็จะยากขึ้น ราคาของกัญชาก็จะตกลง จนมีค่าเท่ากับผักชนิดอื่น เช่น กระเพรา โหระพา ราคาก็จะตกราว 100-150 บาท เป็นต้น

 

 

แล้วสำหรับกลุ่มที่ทำเป็นเชิงพาณิชย์ล่ะคะ
ต่อมาก็คือกลุ่มที่จะทำเป็นเชิงพาณิชย์ มีกระบวนการขออนุญาตเหมือนเดิม แต่มีค่าใช้จ่าย เริ่มตั้งแต่ค่าคำขอ 7,000 บาท ถัดไปก็ค่าตรวจสถานที่คิด 50,000 บาท (ขั้นตอนนี้ไม่รับประกันว่าจะได้หรือไม่) เมื่อได้รับอนุญาต ใบอนุญาตปลูกมีค่าใช้จ่าย 50,000 บาท พอจะขายต้องมีใบอนุญาตขายอีก 5,000 บาท จากที่กล่าวมานี้ ขั้นตอนเหล่านี้เชื่อว่าเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถทำได้ แบกรับส่วนนี้ได้ยากมาก เป็นเงื่อนไขที่เกษตรรายย่อยเกิดขึ้นยาก

มองในแง่การตลาด เมื่อทุกบ้านปลูกได้ ก็จะได้ใบกัญชา ได้ต้นกัญชา แต่ดอกใช้ไม่ได้ เพราะดอกมี THC สูงกว่า 0.2% ของน้ำหนัก จัดอยู่ในหมวดที่เป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่ และเมื่อได้ดอกมามาก ๆ ถ้าต้องการอยู่ในธุรกิจนี้ต้องมีใบอนุญาตการสกัดอีกใบหนึ่ง ขออนุญาตตั้งโรงงานสกัดอีก 1,000 บาท จึงสามารถนำดอกมาสกัด แล้วทำให้เจือจางให้ได้สาร THC 0.2% ไม่เกิน 0.2% ของน้ำหนัก

 

 

 สำหรับบริษัทฟินาเล่ เมด ได้รับผลกระทบไหมคะ

กฎหมายตัวนี้ทำให้โมเดลของธุรกิจเปลี่ยน จากเดิมที่คาดหวังว่าจะมีรายได้จากใบ ปัจจุบันช่องทางหารายได้จะต้องนำไปแปรรูป ซึ่งต้นทุนของการแปรรูปจะสูงกว่า และมีความเสี่ยงทางการตลาดที่มากกว่า หรือถ้าหากเราจะปลูกในปริมาณที่มาก ๆ แล้วนำมาอบแห้ง เพื่อส่งออก ก็ทำไม่ได้ง่ายมาก เพราะตามกฎหมายสากล กัญชายังเป็นพืชที่จัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติด หลายประเทศส่วนใหญ่กีดกันการนำเข้าในรูปแบบกัญชาอัดแห้ง ไทยเองก็ไม่ให้นำเข้า และถ้าหากจะทำการส่งออกจริง ๆ ก็ต้องเป็นรายใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์ทางการตลาดที่แนบแน่น รายเล็กทำได้ยากมาก ตัวอย่างเช่น จีนไม่มีผลิตภัณฑ์กัญชาอยู่ในประเทศ มีแต่กัญชง หากผู้ประกอบการไทยทำชากัญชาผงไปขายในตลาดจีน ก็นับว่ายังมีโอกาสอยู่สูง แต่นี้เป็นโอกาสของรายใหญ่

หลายบริษัทก่อนหน้านี้ที่เปิดขึ้นมาเพื่อขายวัตถุดิบเป็นใบก็ต้องปรับโมเดลธุรกิจ เป็นการขายผลิตภัณฑ์แทน เพราะการจัดการฟาร์มมีความเสี่ยงทั้งในแง่ของการปลูกที่มีโอกาสการติดโรคสูง ความเสี่ยงเรื่องสารตกค้างในกัญชา เพราะกัญชามีความไวต่อสารตกค้างมาก เวลาซื้อขายจะดูเรื่องเปอร์เซ็นต์ของสารตกค้าง และเปอร์เซ็นต์ของ THC เหมือนซื้อข้าว แล้วมากดราคาเกษตรกร การผลิตอุตสาหกรรมกัญชามีเงื่อนไขบังคับตลอดซัพพลายเชน

 

 

อุตสาหกรรมไหนจะได้โอกาสทางการตลาดจาก พ.ร.บ.กัญชาในครั้งนี้
ทางด้านศักยภาพในการทำตลาดของกัญชาจึงต้องหันมาดูที่ผลิตภัณฑ์ปลายทาง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานับเป็นกลุ่มแรกที่มีศักยภาพมาก แต่ต้องเป็นยาแผนปัจจุบัน ไม่ใช่ยาแผนโบราณ เพราะแผนโบราณใช้ปริมาณไม่มากเท่าไหร่ ใช้ในระดับปฐมภูมิคือเอามาตากแห้งแล้วใช้ได้เลย นอกจากนี้ทัศนคติในการรับยาไทยจะน้อยกว่ายาสากล กลุ่มยาที่สามารถนำมาพัฒนาทดแทนการนำเข้าคือกลุ่มยาอัลไซเมอร์ ยาต้านเศร้า จะได้มูลค่าสูง แต่กระบวนการผลิตต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้เลย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมยาอยู่แล้ว ตรงนี้ก็มีอุปสรรคอยู่ เพราะจะนำมาผลิตเป็นยาต้องมีการควบคุมแปลงการผลิต ต้องเป็นออร์แกนิกแท้ ดินต้องพักกี่ปี ปุ๋ยต้องไม่ใช้สารเคมี รายใหญ่ที่ทำต้องทำเป็นคอนแท็กซ์ฟาร์มมิ่ง ราคาที่ขายตายตัว ตรงนี้ไม่ขึ้นอยู่กับตลาดแล้ว แต่เป็นเรื่องของมาตรฐานระดับสูงที่ต้องปฏิบัติให้ได้ พวกนี้จะต้องเป็นรายใหญ่ที่มีฐานความรู้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงด้วย

 

โอกาสของสินค้าด้านคอนซูเมอร์ล่ะคะ
ส่วนของสินค้าคอนซูเมอร์ คิดว่าตลาดที่มีโอกาสคือ ตลาดเครื่องดื่ม มีความเป็นไปได้ในการมี THC ต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักรวม เพราะใบมีค่าดังกล่าวอยู่แล้ว เงื่อนไขการผลิตต้องการความเสถียรของผลิตภัณฑ์ ในแง่การผลิตต้องการความตายตัว ความเปะ ใบเป็นทางออกเดียว

 

ซับซ้อนไปกว่านั้นก็คือการผลิตเครื่องปรุงรส เพราะในใบมีสารที่มีความสามารถไปกระตุ้นต่อมรับรสของลิ้นให้เกิดการรับรสได้ดีขึ้น อาหารก็อร่อย ถ้าเกษตรกรปลูกได้มาก ก็สามารถนำมาทดแทนผงชูรสได้ กัญชาไม่ต้องใช้มาก แต่ความนัว ความอร่อยจะดีกว่าผงชูรสมาก เพราะไม่ได้ไปปรุงที่น้ำแกงให้อร่อย แต่ไปปรับสมดุล กระตุ้นการรับรสของลิ้นให้ดีขึ้น เกิดการเจริญอาหาร ถ้าใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุก็จะรับประทานอาหารได้มากขึ้น พักผ่อนได้ดีขึ้น การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาอัลไซเมอร์ ชากัญชาก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะมีโอกาสทางการตลาดในอนาคต เพราะกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยาก แค่นำใบกัญชามาตากแห้งในที่ร่ม แล้วบดเป็นใบชากัญชาได้แล้ว นับว่าเป็นหนึ่งในโอกาสของสินค้าชุมชน.