ปัญหารากเหง้าของเกษตรกรไทยคือความไม่รู้ การทำเกษตรต้องอยู่บนฐานความรู้ จึงไม่จน

by วันทนา อรรถสถาวร , 18 กุมภาพันธ์ 2565

เกษตรกรรมถือเป็นอาชีพหลักของสังคมไทย การมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นการแก้ไขปัญหาของคนหมู่มาก แต่การกสิกรรมของไทยยังเต็มไปด้วยปัญหา ยากจน หนทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนควรเป็นอย่างไร

Thaiquote ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ปี 2560 และวุฒิสมาชิก เพื่อฉายภาพของปัญหาของเกษตรกรไทย ตลอดจนประสบการณ์และภูมิปัญญาในการทำเกษตรกรรมให้ยั่งยืน

 

 

ปัญหารากเหง้าของเกษตรกรไทยคืออะไร

ปัญหารากเหง้าของเกษตรกรคือความไม่รู้ ขาด Know How ความไม่รู้ทำให้เข้าไม่ถึง เกิดความเหลื่อมล้ำขาดโอกาส เกษตรกรจึงกลายเป็นกลุ่มคนยากจน กลายเป็นกลุ่มที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนอยู่ตลอด จะเห็นได้ว่าโครงการทุกโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกรจะเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น

ดังนั้นถ้าต้องการแก้ไขปัญหาเกษตรกรให้แก้ปัญหาตรงที่ไม่รู้ ให้เป็นรู้ ดังนั้นเกษตรกรต้องได้รับการยกสถานะโดยการให้องค์ความรู้กับเกษตรกรให้มาก ให้เกษตรกรทำงานอยู่บนพื้นฐานของความรู้ เป็น Knowles Base ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าว อย่าทำตาม ๆ กันมา อย่าทำต่อ ๆ กันมา เพราะว่าบรรพบุรุษพาทำ ข้างบ้านทำกันแบบนี้ ต้องเป็นลักษณะที่ว่าทำเพราะว่าองค์ความรู้บอกไว้อย่างนี้ เวลาไหนต้องหว่านกล้า เวลาไหนต้องถอนกล้า เวลาไหนต้องปักดำ ต้องใส่ปุ๋ยอะไร เมื่อไหร่ ถ้าจะทำเกษตรอินทรีย์ ต้องงดอะไร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ พวกนี้เป็นความรู้ทั้งหมด ต้องให้สิ่งเหล่านี้ให้กับเกษตรกร

ตอนก่อนที่จะมาเป็นวุฒิสมาชิก ผมได้มีความคิดที่จะทำโครงการอบรมทดสอบความรู้เกษตรกร ให้มาเรียนแล้วทดสอบความรู้ให้ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ไปทดสอบใหม่ จนกว่าจะผ่าน ไม่เช่นนั้นก็โง่ จน เจ็บ ตลอดเวลา เกษตรกรควรทำทุกอย่างอยู่บนฐานความรู้ จะทำเกษตรอินทรีย์ ก็ว่ากันไปในสายนั้น จะทำประมง ปศุสัตว์ก็ให้ชัดกันไป ทุกอย่างต้องมีองค์ความรู้ก่อน อย่าให้เป็นเพียงการมีที่ดิน แล้วไม่มีอะไรจะทำก็มาทำ เมื่อมีฐานความรู้ ฐานะของเกษตรกรก็จะเปลี่ยนไป รัฐบาลก็ไม่ต้องมานั่งสนับสนุน ประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ประกันรายได้ ไม่พอกู้แล้วกู้อีก บรรยากาศนี้ก็จะหมดไป

 

 

เกษตรกรถ้าหากเราให้ความรู้เขาแล้ว นอกจากไม่ต้องหาเงินมาสนับสนุน คุณภาพของผลผลิตก็จะดีขึ้น ราคาในตลาดโลกก็จะดี อัตราการแข่งขันในตลาดโลกก็จะดีขึ้น ราคาก็จะสูงขึ้นอัตโนมัติ ของถูก ของฟรี ของดี ในโลกนี้ไม่มี เงื่อนไขอยู่ที่ความไม่รู้เราต้องแก้ปัญหานี้ก่อน ซึ่งแน่นอนแหละจะแก้ไปทีเดียวไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ ไปด้วย รากเหง้าเดิม ๆ ความไม่รู้จะค่อย ๆ หมดไปเรื่อย

ทางด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งศูนย์ปราชญ์ ให้มีการอบรม แต่การอบรมในลักษณะนั้นมีความฉาบฉวย แต่ถ้าต้องการอย่างจริงจังต้องทำเป็นคอร์สสอน และมีการทดสอบ โครงการในลักษณะนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้มหาวิทยาลัยมาดำเนินการ มหาวิทยาลัยมีงานสอนก็ไปสอน แต่ระบบนี้คือ F to F เกษตรกรสอนเกษตรกร สอนแกนนำก่อน เป็นหลักสูตรเฉพาะฝึกอบรมแล้วมีประกาศนียบัตร มหาวิทยาลัยทำแบบนี้ไม่ได้เพราะวิธีการคนละรูปแบบ เพราะหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยเป็นทฤษฎี แต่ไม่ด้าทักษะทางด้านการปฏิบัติ ดังนั้นจึงต้องฝึกให้เกษตรกรสอนเกษตรกร

คนที่ทำเรื่องนี้อย่างได้ผลคือ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์ขึ้นมาอำเภอละ 1 ศูนย์ แล้วแต่ละตำบลจะมีเกษตรกรที่มีความรู้อีกตำบลละ 1 คน สร้างกันเป็นเครือข่าย ศูนย์ดังกล่าว ชื่อ “ศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” (ศพก.) นำองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหลากหลายที่มาไว้ที่นี่ แล้วให้เกษตรกรเป็นแกนนำ เป็นผู้นำ ขยายผลความรู้ นำความรู้ไปปฏิบัติ สร้างกันเป็นเครือข่ายให้เกษตรกรสอนเกษตรกร

 

 

หน่วยงานต่าง ๆ พัฒนาคน ๆ เดียว แล้วคนนั้นก็มาสอนเกษตรกรในพื้นที่เพื่อขยายองค์ความรู้ต่อ ๆ กันไป อยู่ภายในการดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล เป็นพี่เลี้ยง ปรากฏว่ารูปแบบนี้ได้ผล ได้แก้ไขความไม่รู้ของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก องค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านการเกษตรผุดออกมามาก การเกษตรแบบแม่นยำก็เกิดขึ้น พัฒนาเกษตรกรขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ มีการพัฒนาเกษตรกรรมแปลงใหญ่ เกษตรกรมารวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน วันนี้แปลงใหญ่ทั่วประเทศมีหลายหมื่นแปลง และมีสินค้าที่มีคุณภาพทั้งสิ้น มีการพัฒนามาเป็นเกษตรสร้างมูลค่า เช่น การแปรรูปจากข้าวมาเป็นขนม อาหาร เครื่องดื่มโภชนบำบัด เป็นต้น ส่วนเกษตรมูลค่าสูง เช่น ข้าวออร์แกนิก ข้าวเกษตรอินทรีย์ที่ได้ตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น มาตรฐานอียู NOP ของอเมริกา COE ของแคนาดา เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ

การให้ความรู้เกษตรกรทางรัฐบาลได้ทำหน้าที่นี้ดีหรือไม่

ทำแต่ไม่ชัดเจน นำเกษตรกรมาจำนวนมาก ๆ มาอบรมในโรงแรม ในมุมมองของผม มองว่าไม่คุ้ม ศพก.นี่แหละคุ้ม เพราะศูนย์นี้ตั้งอยู่ในอำเภอ แล้วเขาก็มีเครือข่ายของเขาเอง ของผมที่ร้อยเอ็ดก็เป็นศพก.เหมือนกัน ผมเป็นเกษตรกรแกนนำ ขยายเครือข่ายได้ 27 จุดใน 12 ตำบล หลายแห่งได้ 30 จุดในอำเภอของเขา ซึ่งสร้างความหลากหลาย พืช ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู ประมง เราจะนำเกษตรกรหลากหลายสาขามาอบรมในเรื่องเดียวกันไม่ได้ ให้แยกไปแต่ละประเภทของกสิกรรมจะได้ผลมากกว่า

 

 

เกษตรกรต้องพึงน้ำในการทำกสิกรรมจะแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำอย่างไร

อย่างไรการเกษตรก็ต้องคู่กับธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางด้านบรรยากาศย่อมต้องส่งผลกระทบกับการเกษตรอย่างแน่นอน แต่เราต้องทำการเกษตรให้อยู่อย่างดุลภาพกับธรรมชาติ ก็กลับไปที่จุดเดิมคือการไม่รู้ ปัจจุบันการทำนาของเกษตรกรบ้านเราใส่น้ำเต็มคันนามากไป สูบน้ำเข้าไปทำให้ต้องเสียค่าไฟในการสูบน้ำ เพิ่มต้นทุน แต่จริง ๆ ข้าวต้องการน้ำสูงจากต้นไม่เกิน 5 เซนติเมตร ช่วงที่ออกรวง รวงจะสุกเขาไม่ต้องการน้ำ ตอนเกี่ยวข้าวยังมีน้ำอยู่ในนา เราใช้น้ำในการทำการเกษตรมากเกินไป ไม่เกิดดุลภาพ ทำให้ขาดแคลนน้ำ เกิดจากความไม่รู้ ไม่มีการปรับพฤติกรรม ต้องให้องค์ความรู้ เพื่อนำความรู้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ระบบชลประทานยังมีความจำเป็น แต่ต้องเป็นระบบชลประทานที่ยั่งยืน และเกษตรกรต้องมีส่วนร่วมกับระบบชลประทานนั้น ไม่ใช่ระบบที่เป็นของกรมชลประทานเพียงอย่างเดียว ทุกคนมีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมกับระบบน้ำนั้น ๆ ไม่ว่าเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การขยายพื้นที่กักเก็บน้ำ การขยายพื้นที่น้ำให้ทั่วถึง กลไกในการขนส่งน้ำที่สำคัญคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาอยู่กับพื้นที่ ทำให้เขารู้ว่าปัญหาในพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับหน้าที่ แต่งบประมาณน้อยมาก แต่ในปี 2565-66 รัฐบาลได้ผลักดันงบประมาณสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น นายกอบต. นายกเทศบาลถ้าทำไม่ดี สมัยหน้าคนในพื้นที่ก็ไม่เลือก การทุจริตมีน้อยลงในระดับท้องถิ่น เพราะชาวบ้านตรวจสอบ ต้องให้เกษตรกร ชาวบ้านพัฒนาตัวเอง มีโอกาสเป็นเจ้าของ ใช้ร่วมกัน พัฒนาร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน โดยเฉพาะระบบส่งน้ำ ประเทศเรามีแหล่งน้ำมาก น้ำมามาก แต่พอพ้นหน้าฝนน้ำก็หาย การจัดการเรื่องแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเป็นความสำคัญสำหรับท้องถิ่น นอกจากนี้ท้องถิ่นก็ต้องมีคณะกรรมการจัดการน้ำระดับตำบล อำเภอ เพื่อมาช่วยกันดูแลในเรื่องนี้

 

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตรของไทยยังล้าหลัง เมื่อเปรียบกับต่างประเทศ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

คนเกี่ยวข้องเรื่องนี้มี 2 คนคือ รัฐและนักวิชาการ นักวิชาการต้องไม่หวงความรู้ พัฒนาสิ่งใหม่ได้ ยกตัวอย่างในกรณีของข้าว มีนักวิชาการสามารถพัฒนาทั้งคุณภาพและปริมาณดีกว่าต่างประเทศ แต่นำไปจดเป็นสิทธิบัตรไว้ ส่วนที่กรมการข้าวคิดได้ก็นำมาขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ข้าว เช่น กข.79 เป็นข้าวพื้นนุ่ม มีปริมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ กข.87 พันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ทรงคุณค่าทั้งนั้น นักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้มาก แต่จดเป็นสิทธิบัตรอยู่ รัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ การวิจัยได้ไม่ควรอยู่บนหิ้ง แต่ควรมาอยู่บนท้องไร่ ท้องนา

ส่วนโครงการยกระดับแปลงใหญ่ โครงการละ 3 ล้านบาท โครงการนี้ก็ดีมาก แต่ละโครงการล้วนมีปัญหา แต่ต้องร่วมกันแก้ไข ตอนนี้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ระยะที่ 2 โครงการยกระดับวิสาหกิจชุมชน ถูกพับโครงการไป เขามองว่าเฟสแรกมีปัญหา โครงการ 2, 3 ก็ไม่ต่อมา เหมือนกับการส่งเสริมให้เกษตรกรเรียน แต่เรียนไม่จบ ต้องหยุดกลางคัน การพัฒนาต้องต่อเนื่อง มีบางจุดไม่คุ้ม แต่ก็มีบางจุดที่คุ้ม โดยภาพรวมดีขึ้น ก็ต้องส่งเสริม เพราะเป็นโครงการที่ให้องค์ความรู้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี เข้าถึงเทคโนโลยี พัฒนาเทคโนโลยี การทำให้เป็นเกษตรอัจฉริยะนี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำเกษตรกรรมด้วย ถ้าจะมาแบกจอบ แบกเสียม ขุดดิน คนรุ่นใหม่ไม่ทำ ต้องนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรสมัยใหม่เข้ามา พอเด็กเห็นก็อยากจะเข้ามาร่วมพัฒนา ไม่เช่นนั้นเด็กในชุมชนก็วิ่งเข้าโรงงาน พอโรงงานมีปัญหาวิ่งกลับมาบ้าน ก็มาสร้างปัญหาที่บ้าน เป็นคนตกงาน ว่างงาน เพราะฉะนั้น รัฐและบุคลากรของรัฐต้องใจกว้าง อย่ามองเป็นรัฐราชการ ต้องมองให้เป็นระบบประชาธิปไตย ต้องเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ

 

ปัญหาของเกษตรกรไม่ได้อยู่ที่การผลิต ปัญหาอยู่ที่การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช ประมงหรือปศุสัตว์ สิ่งเหล่านี้เมื่อออกมาแล้ว ตัวอย่างเช่น ข้าวจะเกี่ยวอย่างไรให้ปริมาณข้าวออกมามากที่สุด จะอบอย่างไรเพื่อให้หอมนาน เป็นข้าวใหม่ตลอดเวลา เกษตรกรไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เกษตรกรเกี่ยวเสร็จก็เข้าโรงสี ดังนั้นเกษตรกรขาดตอนตรงนี้ เพราะฉะนั้นทั้งองค์ความรู้และเครื่องมือต้องใส่เข้าไป ต้องให้ความรู้ด้านการจัดการเข้ามา

ส่วนของเกษตรกรเองก็มีศักยภาพ ในท้องถิ่นมี Smart Farmer และ Yong Smart Farmer เขาถ่ายทอดซึ่งกันและกัน คนสองกลุ่มนี้เขากำลังเร่งปรับตัว ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลและนักวิชาการพร้อมหรือไม่

ดูเหมือนปัญหาเรื่องความยากจนของเกษตรกร เป็นปัญหาที่มีอย่างยาวนานและยากแก่การแก้ไข ท่านมองเรื่องนี้อย่างไร

แต่ก่อนนี้ เรามีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ไว้เป็นที่พึ่งสำหรับเกษตรกร ธกส.มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเกษตรกร ไม่มีความคิดที่จะยึดทรัพย์สินหรือที่นาใคร แต่ต่อมาได้นำ ธกส.ไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ทำการประดุจดั่งธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป ข้อเสียคือไม่ใช่ธนาคารสำหรับคนจนอีกต่อไป หลักการเข้มงวดกวดขันไปหมด คนที่ได้รับผลกระทบคือคนที่ไปกู้ หรือเกษตรกร คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจเกษตรกร ไม่ยึดหลักการทำงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ก่อตั้งใหม่ ๆ ควรกลับไปยึดหลักการที่จัดตั้งใหม่ เป็นที่พึ่งของเกษตรกร ให้ความรู้ และเป็นพี่เลี้ยง เป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้เกษตกรอยู่รอด.