“ทั้งรัสเซียและยูเครนล้วนเป็นเหยื่อของระบบความมั่นคงที่ชำรุดของยุโรป”

by วันทนา อรรถสถาวร , 1 มีนาคม 2565

รัสเซียบุกยูเครนมาเกือบสัปดาห์แล้ว เป็นการทำสงครามเพื่อบีบให้ยูเครนขึ้นสู่โต๊ะเจรจาที่รัสเซียได้เปรียบ โดยขณะนี้การเจรจาได้เริ่มต้นขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ ผลสุดท้ายของการเจรจายังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร เป็นเรื่องที่โลกกำลังติดตาม

 

Thaiquote ได้รับเกียรติการสัมภาษณ์พิเศษจากคุณวัฒนะ คุ้มวงศ์ อดีตเอกอัครราชทูตที่มีความเชี่ยวชาญด้านรัสเซีย ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่ยาวนานในกรุงมอสโคว์ มาอธิบายถึงเบื้องหลังความขัดแย้ง ความต้องการของรัสเซีย ตลอดจนแนวโน้มของผลการเจรจาในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร และจะส่งผลต่อโครงสร้างระบบความมั่นคงของยุโรปและเป็นบทเรียนต่อสังคมโลกอย่างไร...เชิญติดตามได้เลยค่ะ

เหตุผลที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย บุกยูเครนในครั้งนี้

การตัดสินใจของรัสเซียที่ส่งกองทหารเข้าไปในยูเครน น่าจะเป็นความคิดที่ตกผลึก ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างรัสเซียกับตะวันตกในเรื่องการพัฒนาความมั่นคงร่วมในยุโรป ซึ่งเป็นเรื่องของสถานการณ์ การส่งกำลังเข้าไปในยูเครนไม่ได้เป็นเรื่องของความต้องการทางด้านดินแดน แต่เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงระบบความมั่นคงในยุโรปชำรุด ไม่สามารถเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงที่เกิดในยุโรปได้ ไม่สามารถทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทในยุโรปด้วยวิธีทางการทูต

พอพูดถึงระบบความมั่นคงของรัสเซียคือ ทำไมต้องมีนาโต้ และทำไมต้องขยายสมาชิกภาพของนาโต้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งมาประชิดพรมแดนของรัสเซีย เพราะนาโต้เกิดขึ้นมาจากการปะทะก้นระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เป็นสงครามเย็น เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันรัสเซียจากสนธิสัญญาวอซอร์ ซึ่งเป็นผลิตผลของสงครามเย็น และเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด นาโต้ควรหมดภารกิจนี้ แต่ปรากฏว่านาโต้กับขยายสมาชิกเข้ามาเรื่อย ๆ คลื่นแรกคือการรวมเยอรมันเข้าด้วยกัน เยอรมันตะวันออกซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาวอซอร์ คลื่นที่สองคือการขยายอำนาจของนาโต้เข้ามาในพื้นที่ของ 3 ประเทศคือ เช็ก ฮังการี และโปแลนด์ จนมาถึงคลื่นที่ 3 คือการเข้าประชิดกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอดีต คือโรมาเนีย บังแกเลีย และบางประเทศในยูโกสลาเวีย

 

 

ตรงนี้เป็นประเด็นที่ปูตินถามกับสหภาพยุโรปตั้งแต่การประชุมที่มิวนิกส์ ปี 2007 โดยถามไปยังเลขาธิการนาโต้ และประธานาธิบดีสหรัฐว่า เจตนาตะวันตกคืออะไรในการขยายประสิทธิภาพของนาโต้ โดยไม่มีที่สิ้นสุด ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ปูตินตัดสินใจเผชิญหน้ากับตะวันตก ซึ่งโดยเจตนาของรัสเซียหลังการล่มสลายของโซเวียตไม่มีความต้องการที่จะเป็นปฏิปักษ์กับตะวันตก มีหลายครั้งที่รัสเซียเสนอให้มีความร่วมมือระหว่างรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และนาโต้ ในการต่อต้านลิทธิก่อการร้ายโดยเฉพาะ

 

CR: CNN News

CR: CNN News

 

ถ้านาโต้ปรับเป้าหมายของตัวเองจากเป้าหมายของสงครามเย็นที่ไม่มีแล้ว ควรมาร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นปัญหาทำลายมนุษยชาติ ตอนนั้นตะวันตกด้อยค่าในสิ่งที่รัสเซียเสนอ ในช่วงเวลา 2004-2007 ไม่เป็นเวลาที่รัสเซียขึ้นมาแข็งแกร่งเหมือนกับทุกวันนี้ รัสเซียเพิ่งจะเปลี่ยนแปลงสถานะของตัวเองจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต มาเป็นรัสเซียใหม่ที่เป็นรัสเซียที่อ่อนแอ พลังทางเศรษฐกิจด้อยอยู่มาก ฉะนั้นสภาพของรัสเซียในเวทีโลกขณะนั้นยังไม่เป็นที่เกรงขามของตะวันตก

การที่ตะวันตกไม่ฟังก็คือความมุ่งมั่นที่จะขยายประเทศสมาชิกของนาโต้ สุดท้ายปัญหาคือการที่ตะวันตกให้การยอมรับการแยกตัวออกของโคโซโว ที่แยกตัวออกมาจากเซอร์เบีย ปูติดมองว่าเป็นความไม่ชอบธรรมที่โคโซโวแยกตัวออกมาแล้วตะวันตกเร่งให้การยอมรับ ปูตินเองสงสัยและมองว่านี่เป็นนโยบายเลือกปฏิบัติ จึงตอบโต้ด้วยการทำสงครามกับจอร์เจีย สนับสนุนการแยกตัวออกของอับคาเซียและโครเอเซียออกจากจอร์เจียในปี 2008 นี่เป็นภาพสะท้อนกลับของปูตินที่มีต่อตะวันตก เพื่อให้เสียงของรัสเซียได้รับการได้ยินจากตะวันตก แต่ตะวันตกก็ยังเพิกเฉยอยู่

พอมาปี 2014 ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในยูเครน จากการเดินขบวนขับรัฐบาลของ นายวิกตอร์ ยานูกอวึช (Віктор Янукович) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่โปรรัสเซีย แต่การเปลี่ยนรัฐบาลในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายในสายตาของรัสเซีย เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเดินขบวน ทางรัสเซียมองว่าได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก มีเป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาลที่นิยมรัสเซีย ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา คือรัฐบาลของนายแปตรอ ปอรอแชนกอ (Петро Порошенко) ทิศทางนโยบายการต่างประเทศเข้าหาตะวันตกเต็มที่ นั่นคือการเข้าสู่สหภาพยุโรป และหวังที่จะเข้าสู่สมาชิกของนาโต้ ตรงนี้เป็นจุดที่ปูตินตอบโต้ด้วยการผนวกไครเมีย เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้กับตะวันตกรู้ว่านี่เป็นท่าทีที่ปูตินไม่พอใจ ตะวันตกเริ่มจะขยายพื้นที่เข้ามาในพื้นที่เปราะบางด้านความมั่นคงของรัสเซีย ขยายอาณาเขตเข้ามาอดีตสหภาพโซเวียตที่ประชิดรัสเซีย เช่น จอร์เจีย ยูเครน เป็นพื้นที่อ่อนไหว ซึ่งรัสเซียมองว่าเสี่ยงต่อความมั่นคง ถ้าหากแผนการที่ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ประสบความสำเร็จ

แม้ว่ายูเครนไม่สามารถเป็นสมาชิกของนาโต้ได้ภายในวันสองวัน มันต้องมีระยะทาง มีโปรแกรมของนาโต้ที่จะร่วมมือกัน ยูเครนต้องปรับระบบเศรษฐกิจ การเมือง ปรับเรื่องระบบการทหารต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนาโต้ แต่ปูตินมองไปถึงอีก 5 ปี 10 ปี ในอนาคต ถ้ายูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ เท่ากับว่ารัสเซียต้องแบกรับความเสี่ยงด้านความมั่นคง นี่คือสิ่งที่สะสมมานาน สะสมมากว่า 10-15 ปี ไม่ใช่ปฏิกิริยาตอบสนองอย่างฉับพลันใน 1-2 ปีที่ผ่านมา หรือเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ไครเมีย แล้วปูตินถูกตะวันตกแซงชั่น เก็บความเจ็บแค้นเอาไว้แล้วมาระเบิดตอนนี้ จริง ๆ มันไม่ใช่ แต่เป็นการสะสมความขัดแย้งเชิงนโยบายที่รัสเซียมีกับสหรัฐอเมริกาและนาโต้ในระยะเวลายาวนานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามขยายสมาชิกของนาโต้ จนมาถึงพื้นที่ ๆ ประชิดรัสเซีย

ส่วนอื่นเช่นที่กรณีปูตินกล่าวว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมรัสเซียนั้น ถึงแม้ว่าปูตินจะมีเหตุผลในส่วนนี้ แต่ก็ต้องยอมรับหลักนิติรัฐของโลก ถ้าเราเอาฐานคิดเรื่องประวัติศาสตร์มาเป็นเหตุผลหลัก โลกจะสงบได้อย่างไรครับ เพราะทุกชาติ ทุกประเทศที่รวมตัวกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ล้วนมีประวัติศาสตร์ของการแย่งชิงดินแดน การรวมตัวกันโดยไม่เป็นธรรม

 

 

ถ้าเรานำเหตุผลทางประวัติศาสตร์มาเป็นตัวตั้ง โลกจะไม่สงบ โลกจะสงบได้ก็ต่อเมื่อทุกประเทศต้องยึดถือในหลักนิติธรรม หลักกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการไม่แทรกแซงกิจกรรมภายในของประเทศอื่น หลักการเคารพดุลภาพระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่ปูตินยกเรื่องประวัติศาสตร์ขึ้นมา เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจรัสเซียให้มากขึ้น ในด้านกลับทางตะวันตกมีฐานคิดด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จะใช้ฐานคิดเดียวไม่ได้

แม้ว่าเรายอมรับในหลักกฎหมาย แต่เราก็ต้องยอมรับในความละเอียดมากยิ่งขึ้น เพราะว่าจะอ้างกฎหมายระหว่างประเทศ และตะบี้ตะบันขยายอาณาจักรของนาโต้ ซึ่งการช่วงชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นข้ออ้างจะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วทางสหรัฐมักจะอ้างว่าทำไมยูเครนไม่มีสิทธิในการเลือกทิศทางของตัวเอง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับยูเครนและนาโต้ ไม่ผิดหรอกครับ แต่ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เราจะใช้เหตุผลนั้นประเด็นเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาปัจจัยด้านความมั่นคง ว่ามันไปคุกคามความมั่นคงของคนอื่นหรือไม่ และจะต้องพิจารณาด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตะวันตกไม่มีเลย ไม่นำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณา ทำให้ฐานคิดตะวันตกกับรัสเซียในปัญหาที่เกี่ยวกับยูเครน เป็นฐานคิดที่คู่ขนาน ไม่สามารถบรรจบกันได้เลย ไม่สามารถประณีประนอม ทำให้การเกิดสงครามในยูเครน ทหารของรัสเซียเข้าไปในยูเครนเป็นผลลัพธ์ของความขัดแย้ง ทั้งรัสเซียและยูเครนล้วนเป็นเหยื่อด้วยกันทั้งคู่ เป็นเหยื่อของความมั่นคงที่ชำรุดของยุโรป

 

 

เป้าหมายสุดท้ายปูตินต้องการอะไร

ต้องการให้พรมแดนที่ประชิด จะต้องไม่มีทิศทางการทหารที่เป็นปฏิปักษ์กับรัสเซีย ปูตินต้องการหลักประกันตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นยูเครน จอร์เจีย โดยเฉพาะยูเครนเป็นสิ่งที่ตะวันตกกำลังจะขยายสมาชิกภาพเข้ามา ถามใจปูตินว่า “ไม่ทำได้มั้ย” เพราะยูเครนอยู่ในภาวะที่ล่อแหลมมากสำหรับรัสเซีย ถ้าจุดต้องการสูงสุดของปูตินคือ ยูเครนที่เป็นของรัสเซีย ทั้งในแง่ของรัฐบาลที่โปรรัสเซีย เข้าร่วมในการบูรณาการองค์กรด้านสันติภาพที่รัสเซียมีบทบาทอยู่ เช่น องค์กรสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย เป็นต้น แต่ถ้าหากยูเครนขอความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายของตนเอง ปูตินก็ขอให้อย่างน้อยที่สุดยูเครนควรเป็นกลาง เช่นในกรณีของสงครามเย็นที่ฟีนแลนด์วางตัวเป็นกลาง ระหว่างสหรัฐและโซเวียต ยูเครนสามารถที่จะเป็นรัฐกันชนได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกนาโต้ และไม่จำเป็นต้องมาเป็นสมาชิกขององค์กรสันติภาพของรัสเซีย แต่ต้องเป็นกลาง ล่าสุดการที่รัสเซียบุกเข้ายูเครนก็เพื่อให้ตนเองมีสถานะเป็นฝ่ายรุกในการกำหนดเงื่อนไข ปูตินต้องการให้ยูเครนต้องปลดอาวุธของตนเอง ต้องเป็นรัฐที่ไม่มีอาวุธ มีกองกำลังทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ปูตินเสนอในขณะนี้ และหากเป็นเช่นนั้น ยูเครนต้องถอยไปอีกหลายก้าว ซึ่งแค่ขอให้วางตัวเป็นกลางก็ทำไม่ได้แล้ว กลายเป็นประเทศที่สามารถป้องกันตนเองได้อีกต่อไป รัสเซียก้าวไปถึงขั้นปลดอาวุธยูเครน

แนวโน้มบนโต๊ะเจรจาจะเป็นอย่างไร

แน่นอนครับ สงครามต้องจบที่โต๊ะเจรจา สงครามไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสงคราม แต่สงครามมีเป้าหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบของตนเองในโต๊ะเจรจา ถ้าเราพิจารณาจากสถานการณ์จากการสู้รบเชื่อว่ารัสเซียสามารถเผด็จศึกได้ เมื่อถึงจุดนั้นยูเครนก็ต้องสยบ เพราะเราเห็นแล้วว่าทั้งสหรัฐอเมริกา และนาโต้ ไม่มีประเทศไหนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมรบกับยูเครน มันไม่ง่ายที่ตะวันตกจะเข้าร่วมรบกับยูเครน โดยระดมสรรพกำลังทางทหารไม่มีทาง เพราะกำลังทางทหารของนาโต้กระจัดกระจายมาก ขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกจะส่งกำลังทหารของตัวเองเข้าร่วมเป็นกำลังทหารของนาโต้ ต้องมีการพัฒนายุทธวิธี ซึ่งที่ผ่านมานาโต้ไม่มีเลย ในขณะที่ผ่านมารัสเซียใช้เวลา 3 เดือน แปรกระบวนกองทัพของตนเอง ตระเตรียมแสนยานุภาพต่าง ๆ จนรัสเซียพร้อมเต็มที่แล้ว ถ้านาโต้หรือสหรัฐส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยยูเครนคือการฆ่าตัวตาย ไบเดนจึงปฏิเสธการส่งกำลังทหารเข้ามา ถ้อยแถลงของนาโต้ก็ไม่มีส่วนไหนที่แสดงเจตจำนงว่าจะส่งทหารเข้ามา ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยูเครนไม่สามารถต้านทานรัสเซียได้เป็นเวลานาน ฉะนั้นสิ้นสุดการต่อสู้ทางการทหารในครั้งนี้เมื่อไหร่ ก็เข้าสู่โต๊ะการเจรจาที่รัสเซียได้เปรียบ

ท่าทีที่สหรัฐและนาโต้จะกระทำได้มีอะไรบ้าง

สิ่งที่สหรัฐและนาโต้จะทำได้คือทำการแซงชั่น และการลงโทษในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียเตรียมตัวไว้นานแล้ว ไบเดนก็พูดไว้แล้วว่าจะมีมาตรการแซงชั่นที่รุนแรงที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน รัสเซียคงประเมินและเตรียมไว้แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทัดทานการแซงชั่นได้อย่าง 100% แต่ก็สามารถที่จะผ่อนจากหนักเป็นเบาได้

 

 

บทบาทของจีนในความขัดแย้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

จีนกับรัสเซียแม้ไม่ต้องพูดกัน ก็เข้าใจกันได้ จีนเข้าใจได้ว่าเหตุผลของรัสเซียที่มีต่อยูเครน แต่เมื่อถึงขั้นของการก่อสงครามแล้ว จีนเองก็ต้องสงวนท่าที เพราะว่าจีนเองก็มีข้อจำกัดในการสนับสนุนรัสเซีย 100% ในเรื่องนี้ เพราะจีนเองก็มีปัญหาที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย มีปัญหาการแยกตัวออกของธิเบต แคว้นซินเกียง เป็นต้น จีนเองมีประเด็นอ่อนไหวของตัวเขาเอง เพียงพอที่จีนจะไม่แสดงท่าทีสนับสนุนการใช้สงครามในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ แต่จีนจะเป็นประเทศที่บรรเทาปัญหาของรัสเซียที่เกิดจากการแซงชั่น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เป็นตลาดให้รัสเซีย สนับสนุนด้านเศรษฐกิจให้รัสเซีย

ความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นบทเรียนอย่างไรในการจัดระเบียบโลก

เราเองไม่ต้องการให้ความขัดแย้งในอนาคตจบลงที่การใช้กำลังทางการทหาร การปฏิบัติการในครั้งนี้ของรัสเซียได้ฉีกกฎเกณฑ์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศลงไประดับหนึ่ง ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศถดถอยไประดับหนึ่ง เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะนิติรัฐระดับโลกจะเป็นตัวประกันความมั่นคง สร้างความชอบธรรมให้กับประเทศที่อ่อนแอกว่า คุ้มครองประเทศที่อ่อนแอกว่า กรณีที่มีข้อพิพาทกับประเทศที่มีความเข้มแข็งกว่า ถ้าหากว่ามาตรฐานนี้ถูกฉีก ต่อไปความขัดแย้ง เกิดขึ้นระหว่างรัฐที่อ่อนแอเผชิญหน้ากับรัฐที่เข้มแข็ง ผู้นำที่เข้มแข็งจะใช้มาตรการทางทหารกับรัฐที่อ่อนแอกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรให้มีพื้นที่ของวิธีนี้เลย เราจะป้องกันไม่ให้มีเงื่อนไขในลักษณะนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

 

ฉะนั้นเราต้องมาสรุปบทเรียนความมั่นคงของยุโรปตะวันออกในขณะนี้มันเป็นระบบที่ชำรุดแล้ว มันพิสูจน์แล้วว่าเกิดความล้มเหลว เห็นได้จากการเกิดสงครามในครั้งนี้ อะไรคือความสำคัญที่ทำให้ระบบความมั่นคงของยุโรปล้มเหลว นั่นก็คือภารกิจของนาโต้หมดแล้ว เพราะยุโรปไม่ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเหมือนสมัยที่มีสงครามเย็น มีอุดมการณ์ที่เป็นปรปักษ์กัน มีเป้าหมายที่จะยึดครองพื้นที่ของโลก เมื่อไม่มีสงครามเย็นแล้ว ก็ต้องตั้งคำถามกลับมาว่า “ทำไมต้องมีนาโต้” ระบบความมั่นคงของยุโรปจะต้องให้สมาชิกของยุโรปทุกคนสามารถเข้ากำหนดทิศทางของยุโรปได้ แต่ปัจจุบันปัญหาระบบความมั่นคงของยุโรปเป็นระบบที่มีการแบ่งแยก มันไม่เป็นระบบความมั่นคงร่วม เป็นระบบที่ดันรัสเซียออกจากระบบ แล้วปล่อยให้รัสเซียไปเล่นเกมของตัวเอง พอรัสเซียเล่นเกมของเขา แล้วตะวันตกไม่เห็นด้วยก็ต้องปะทะกัน แทนที่เราดันรัสเซียออกจากระบบ เราควรที่จะดันรัสเซียเข้าสู่ระบบ ให้มาเล่นเกมเดียวกันทั้งหมด

 

 

สิ่งนี้เราต้องประกันภูมิภาคอื่นของโลก โดยเฉพาะเอเชีย ปัญหาใหญ่คือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจีน ตะวันตกจะต้องมีท่าทีต่อจีนแบบเดียวกับตะวันตกมีท่าทีกับรัสเซียหรือไม่ มิฉะนั้นจะเกิดการซ้ำรอย ถ้าเกิดการซ้ำรอย จีนไม่ใช่รัสเซีย จีนกำลังจะเป็นมหาอำนาจที่ทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา ถ้าเราไม่สามารถประกันความมั่นคงในเอเชียได้ แล้วต้องเกิดโศกนาฏกรรมแบบเดียวที่เกิดขึ้นในยูเครน มันก็จะหนักมาก ตรงนี้ที่ประชาคมโลกต้องหันกลับมาทบทวนทิศทางใหม่ของความร่วมมือในระดับโลกในเรื่องของความมั่นคงว่าเราจะสามารถประกันความมั่นคงปลอดภัยของทุกประเทศได้อย่างไร มิตินี้ไม่ได้มองเพียงตะวันตกที่มีต่อจีน แต่สำหรับจีนก็ต้องหันกลับมามองเช่นเดียวกันว่า จีนจะยอมลดท่าทีที่ก้าวร้าวในสายตาของตะวันตกหรือไม่ โดยเฉพาะการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนผ่านเข้ามาด้วยระบบเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจีนก็จะเป็นเป้าหมายที่ตะวันตกและประชาคมโลกต่อต้านจีน

การเจรจาในครั้งนี้มีโอกาสหรือไม่ที่ยูเครนจะกลับเข้าสู่อ้อมอกของรัสเซีย และจะทำให้โลกสงบหรือไม่

สมมุติฐานแรกเรามองได้ว่ารัสเซียสามารถชนะศึกในครั้งนี้ นำไปสู่การเจรจาที่รัสเซียเป็นคนเสนอเงื่อนไข และหนีไม่ได้ที่รัสเซียจะเสนอให้มีการปลดอาวุธยูเครน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่ใช้ยูเครนเป็นฐานที่มั่นทางทหารของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ถ้ารัสเซียปลดอาวุธของยูเครน ก็ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะได้ยูเครนกลับมา สงครามครั้งนี้สร้างบาดแผลให้กับคนยูเครน เป็นเรื่องยากที่รัสเซียจะได้ใจคนยูเครน ทางด้านยูเครนก็จะไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อแยกตัวกับรัสเซียทางด้านการทหาร เพราะแน่ใจได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย บทเรียนของเขาที่เห็นได้ชัดคือครั้งนี้ไม่มีกำลังทหารจากตะวันตกมาช่วยเหลือเขาเลย ยูเครนก็จะอยู่ภายใต้รัสเซียโดยไม่มีกำลังทหารของตัวเอง แต่จะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันหรือไม่ ต้องใช้เวลาเยียวยา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบาดแผลนี้มันใหญ่และลึก

 

 

เรื่องนี้นาโต้ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินนโยบาย ไม่ควรใช้ยูเครนเป็นหมากแล้วก่อให้เกิดการยั่วยุ ซึ่งต่อไปยูเครนก็จะรู้เองว่าเขาเป็นประเทศเล็กที่อยู่ติดกับประเทศมหาอำนาจใหญ่อย่างรัสเซีย เขาควรมีนโยบายกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมหาอำนาจอย่างไร ต้องอยู่ให้เป็น ควรที่จะมีมิตรใกล้ตัว หรือไปคบกับมิตรไกล ๆ แล้วเป็นศัตรูกับเพื่อนบ้าน ยูเครนต้องลดความมุ่งมั่นที่จะเป็นตะวันตกอย่างเต็มตัวเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เพราะเขาอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เปราะบาง

โครงสร้างความมั่นคงที่ชำรุดของยุโรปจะกลับมามั่นคงหรือไม่คะ

รัสเซียไม่มีนโยบายที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นสหภาพโซเวียต ตอนนี้ตะวันตกกำลังมีภาพว่าปูตินจะฟื้นความเป็นสหภาพโซเวียต กลับมา สิ่งที่ตะวันตกกลัวมากไปกว่านั้นคือไม่หยุดที่โซเวียต แต่จะลามไปถึงโปแลนด์ เพราะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในฐานะประเทศล่อแหลมของรัสเซีย และก็เป็นประเทศล่อแหลมสำหรับตะวันตก เพราะพื้นที่ของโปแลนด์เป็นพื้นที่ราบที่สามารถเดินทัพเพื่อการรุกรานได้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ใช้เส้นทางนี้ ต่างฝ่ายก็ใช้นโยบายต่างประเทศด้วยการรุกราน เพื่อใช้การรุกรานเป็นการตั้งรับ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่รัสเซียจะต้องพิสูจน์ให้ตะวันตกไว้ใจว่าเขาไม่มีนโยบายที่จะรุกรานโปแลนด์ ไม่มีความคิดฟื้นสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่ ซึ่งปูตินไม่ได้ต้องการเป็นมหาอำนาจ แต่ต้องการให้ตะวันตกมองรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ร่วมกันของตะวันตก ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ก็เป็นไปได้ที่เราจะเห็นความสงบในพื้นที่ดังกล่าวได้ ก็สามารถเป็นสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงตัวใหม่ของยุโรปได้

 

 

การตัดสินใจของปูตินในครั้งนี้ถูกต้องหรือไม่

เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก ผมในฐานะที่เคยทำงานอยู่ในทั้งรัสเซียและยูเครน ในฐานะที่เป็นนักการทูต ใช้เวลายาวนานที่รัสเซีย ตอนเรียนหนังสือทำวิทยานิพนธ์ ก็ไปอยู่ที่ยูเครนอย่างยาวนาน พอเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครนขึ้นมาแล้วเป็นเรื่องที่เศร้ามาก เป็นเรื่องที่หดหู่มาก เชื่อว่าปูตินเองก็ต้องรู้สึกมากกว่านี้ เพราะคนยูเครนก็คือพี่น้องเขา การตัดสินใจทำแบบนี้ไป ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่าย ถูกต้องหรือไม่ต้องใช้ผลประโยชน์ของชาติมาเป็นตัวตัดสิน มองบนความมั่นคงของรัสเซีย เชื่อว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย แล้วถามว่าถูกต้องในสายตาประชาคมโลกหรือไม่ มองยังไงก็ไม่ถูกต้อง มันไม่ควรใช้วิธีนี้เลย ไม่ควรใช้การทหารเข้าไปแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างรัฐ หรือใช้การทหารเข้าไปแทรกแซงหรือเปลี่ยนเขตแดนของอีกรัฐไม่ควรจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ มองในมุมของมนุษยชาติ สงครามใด ๆ ล้วนเป็นการตัดสินใจที่ผิดทั้งสิ้น.