สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดึงเศรษฐกิจทั่วโลกป่วน หากยืดเยื้อเข้าสู่ภาวะถดถอย วอนเร่งเจรจาก่อนลุกลามเป็นสงครามโลก

by วันทนา อรรถสถาวร , 4 มีนาคม 2565

สงครามรัสเซียบุกยูเครน ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความผันผวน ราคาน้ำมัน ทอง สินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ตลาดหุ้นปั่นปวน หากยืดเยื้อจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก มีความเสี่ยงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 และพัฒนาเป็นสงครามเย็น

 

Thaiquote สัมภาษณ์พิเศษ รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของโลกและไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นทันทีเลยคือ ความผันผวนปั่นป่วนของตลาดการเงินทั่วโลก ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น พร้อมสภาพล่มสลายของตลาดการเงินในรัสเซีย ตลาดหุ้นและค่าเงินรูเบลดิ่งลงอย่างรุนแรง จนธนาคารกลางต้องสกัดการอ่อนค่าและความล้มสะลายของระบบสถาบันการเงิน ปรับอัตราดอกเบี้ยรวดเดียวขึ้นไปแตะระดับ 20% แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก หากรัสเซียยังเดินหน้ารุกรานยูเครนต่อไป และ มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มอีก และ รุนแรงขึ้นกว่าเดิม เศรษฐกิจรัสเซียอาจถึงขึ้นล่มสลายและนำมาสู่แรงกดดันทางการเมืองต่อระบอบปูตินได้ และรัฐบาลปัจจุบันของรัสเซียอาจสูญเสียการควบคุมหรืออำนาจ

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า “ผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจวิกฤตเศรษฐกิจโลกอีกรอบหนึ่งหากสงครามยืดเยื้อและขยายวง แต่ดูเหมือนการเจรจารอบสองระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีสัญญาณในทางบวกอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้กันได้ลามมายังการเดินทางทางอากาศ ปิดน่านฟ้าของแต่ละฝ่าย กระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศทางอากาศ เพิ่มต้นทุนขึ้นอย่างมาก”

 

 

ราคาน้ำมัน ทอง สินค้าโภคภัณฑ์ พุ่งพรวด

ในอีกด้นหนึ่ง รศ. ดร. อนุสรณ์ได้วิเคราะห์ให้ฟังว่า “ผู้จัดส่งสินค้าทางเรือก็คว่ำบาตรไม่ส่งสินค้ายุทธปัจจัย และสินค้านอกเหนือจากสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ กระทบระบบการค้าโลกอย่างรุนแรง การลงทุนระหว่างประเทศและตลาดการเงินโลกกระทบรุนแรง รัฐบาลรัสเซียจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากชาติตะวันตก มาตรการคว่ำบาตรบางส่วนจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น น่าจะทะลุระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมีนาคมนี้ และ หากสงครามยังยืดเยื้อขยายวงต่อคงได้เห็น 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัว Plantinum, Palladium, Silver, Copper ในตลาดโลกน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเกือบทั้งหมดเพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดโลก สภาวะสงครามกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นและมีโอกาส 2,000 ดอลลาร์หนึ่งออนซ์ได้”

หุ้น ค่าเงิน ค่าเงินรูเบลทรุดหนัก เกิดเงินเฟ้อสูงรุนแรง

รศ. ดร. อนุสรณ์มองว่า ขณะนี้ตลาดการเงินโลกและระบบการชำระเงินระหว่างประเทศของรัสเซียมีความผันผวนปั่นป่วน จะเห็นได้จากตลาดหุ้นและค่าเงินรูเบลทรุดหนัก เกิดเงินเฟ้อสูงรุนแรง ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกจะก่อให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองต่อประธานาธิบดีปูติน แต่คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป้าหมายทางการทหารและการรุกรานรัสเซียได้ อย่างไรก็ตาม การตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินและระบบธนาคารระหว่างประเทศ Swift System จะทำให้ “รัสเซีย” ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมการเงินระหว่างผ่านตัวกลางตรงนี้ได้ จะสร้างความเสียหายให้กับรัสเซียได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความเสียหายต่อธนาคารในยุโรปด้วยเช่นเดียวกัน รัสเซียอาจจำเป็นต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนมากขึ้น

 

 

กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์

รศ. ดร. อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่า อาจเกิดภาวะ Stagflation มีเงินเฟ้อสูงควบคู่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบหรือชะลอตัวในหลายประเทศจากราคาน้ำมันและพลังงานพุ่งสูงขึ้น รัสเซียเป็นสมาชิกสำคัญของโอเปคพลัสและเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับสองของโลก ส่วนราคาทองคำและราคาโลหะอื่นๆจะปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และราคาทองคำจะทดสอบ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในไม่ช้าและน่าจะส่งผลให้ราคาทองคำรูปพรรณในประเทศทะลุระดับ 32,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำได้ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกก๊าซนีออนบริสุทธิ์เกือบ 70% ให้กับทั่วโลก ซึ่งใช้ในการแกะแบบแผงวงจรให้เป็นแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ (silicon wafer) เพื่อใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ปัญหาขาดแคลนชิปจะรุนแรงขึ้น ทำให้สินค้าอิเลคทรอนิกส์ราคาสูงขึ้น การผลิตรถยนต์ มือถือ คอมพิวเตอร์อาจเกิดการชะงักงันได้ กระทบต่อการส่งออกรถยนต์และสินค้าอิเลคทรอนิกส์ของไทยและอาเซียนระดับหนึ่ง

 

 

ไทยเสี่ยงที่จะเกิด Stagflation (เศรษฐกิจถดถอย)

รศ. ดร. อนุสรณ์ มองว่า ราคาน้ำมันมีโอกาสทดสอบระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในเดือนมีนาคม หากสงครามรัสเซียยูเครนขยายวงและโอเปคไม่เพิ่มกำลังการผลิตราคาน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิด Stagflation เนื่องจากประเทศพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและน้ำมันในระดับสูง อย่างไรก็ตามจะไม่กระทบมากเท่าประเทศในยุโรปและรัสเซีย ตลาดการเงินโลกปั่นป่วน ตลาดหุ้นในประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจปรับฐานล่าสุดยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของขาลงรอบใหม่ ตลาดหุ้นนิวยอร์กและตลาดหุ้นในยุโรปมีโอกาสแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับรัสเซียจะกระทบหนักจากการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจรัสเซียและค่าเงินรูเบิลหรือประเทศที่ต้องพึ่งพานำเข้าพลังงานและน้ำมันจะได้รับผลกระทบมาก

 

CR: BBC News

CR: BBC News

 

รัสเซีย ทำสงคราม Hybrid Warfare

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า “การทำสงครามแบบผสมผสานหรือ Hybrid Warfare ของรัสเซียจะทำให้เกิดสงครามนอกแบบหลากหลาย สงครามไซเบอร์ที่อาจส่งกระทบต่อความปั่นป่วนในการระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน สงครามพันทางหรือสงครามไฮปริดนี้ จะมีการปะทะกันของกองทหารในแนวหน้าน้อยลง แต่จะมีการผสมผสานวิธีการที่ไม่ใช่ทางทหารเพิ่มขึ้น เช่น การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการสงครามข้อมูลข่าวสาร จะมีการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) และปฏิบัติการทางจิตวิทยาค่อนข้างมาก มีการสร้างข่าวปลอม ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินมาก”

ขณะที่การต่อต้านของฝ่ายยูเครนจะทำให้กองทัพรัสเซียจมปลักอยู่ในสงครามยืดเยื้อเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตเคยประสบมาแล้วในอัฟกานิสถาน แต่คราวนี้ นอกจากกองทัพรัสเซียจะเผชิญกับกองทัพยูเครนในลักษณะสงครามในแบบ หรือ Conventional War แล้วจะเผชิญกับสงครามกองโจร บวก สงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) ที่ใช้องค์กรประชาชน และ พลเรือนในการช่วยทำการต่อต้านการรุกรานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

หากสงครามขยายวงเป็นสงครามในยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแม้นจะไม่รุนแรงเท่าการแพร่ระบาดโควิดและล็อกดาวน์เศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2563 แต่น่าจะส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของบางประเทศ ทิศทางขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยโลกชะลอตัว และธนาคารกลางอาจตัดสินใจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม เพื่อประคับประคองตลาดการเงิน

 

 

เกิดปัญหาวิกฤติพลังงานในยุโรปตะวันตก

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือ บทบาทของรัสเซียในระบบการค้าโลกและระบบการเงินและการลงทุนโลกยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ขนาดเศรษฐกิจและมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลกประมาณ 6.37 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ยูเครนอยู่ในอันดับที่ 56 ประมาณ 0.15 ล้านล้านดอลลาร์ (จัดอันดับโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ประเทศยุโรป ตะวันออกอย่างโปแลนด์มีมูลค่าส่งออกไปยุโรปตะวันตกมากกว่ารัสเซีย ประเด็นใหญ่ คือ ปัญหาวิกฤติพลังงานในยุโรปตะวันตก หากรัสเซียเลิกส่งออกพลังงานไปยุโรป เพราะยุโรปตะวันตกต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียหนึ่งในสามของอุปสงค์ทั้งระบบ ต้องพึ่งพาน้ำมันประมาณ 25% จากรัสเซียและก๊าซธรรมชาติ 44% จากรัสเซีย ราคาข้าวสาลีและราคาขนมปังจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป

ผลกระทบต่อไทยอยู่ในวงจำกัด แต่น้ำมันแตะ 40 บาทต่อลิตร

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย กล่าวอีกว่าว่า ผลกระทบจากสงครามต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นยังอยู่ในวงจำกัดในระยะแรก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันภายในประเทศน่าจะแตะระดับ 40 บาทต่อลิตรได้ หากเลิกอุดหนุนราคา หากเลือกชดเชยอุดหนุนราคาไปเรื่อย ๆ ก็จะเพิ่มปัญหาหนี้สาธารณะและความเสี่ยงฐานะการคลังในอนาคต เงินเฟ้อช่วงที่เหลือของปีจะพุ่งสูงขึ้น และ น่าจะสูงกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทยังปรับฐานได้อีก แต่ก็มีปัจจัยการไหลเข้าของเงินทุนที่โยกมาจากกองทุนตลาด Emerging Market ที่ลงทุนในรัสเซียมายังไทยและอาเซียน ค่าเงินบาทได้รับการประคับประคองด้วยปัจจัย แม้นเงินบาทอ่อนค่าลงแต่อาจไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงแต่อย่างใด โดยเงินบาทที่ระดับ 32.50-34.00 น่าจะช่วงความเคลื่อนไหวในช่วงเวลาที่เหลือของปี

 

 

ส่งออกไทยชะลอตัว ยกเว้นสินค้าเกษตร

ตลาดสินค้าส่งออกของไทยโดยภาพรวมอาจชะลอตัว ยกเว้นสินค้าเกษตรส่งออกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจรัสเซียยังมีจำกัด เพราะมูลค่าส่งออกระหว่างรัสเซียกับไทยอยู่ในระดับ 1,000-1,200 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก แต่ในปีนี้คงจะหดตัวแน่นอน และค่าเงินรูเบลก็ดิ่งลงอย่างรุนแรงด้วย ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียทรุดลงมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และทางการรัสเซียได้ประกาศให้หยุดการซื้อขายในทุกตลาดการเงินชั่วคราว

ราคาข้าว (ข้าวสาลีแพงและอาจขาดแคลน) และราคายางพารา (น้ำมันแพง ยางสังเคราะห์แพง) จะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมระดับหนึ่ง ขณะที่ทองคำยังอยู่ในช่วงแรกของขาขึ้น สัญญาณของการเกิดภาวะ Stagflation เริ่มชัดเจนขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญภาวะ Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า “สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่เวลานี้คือ รายได้ชะลอตัว หนี้สินท่วม ค่าครองชีพสูงขึ้น และทำงานต่ำระดับ มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก การใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวของการจ้างงานและการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ”

 

 

“การชะงักงันระบบจัดส่งและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นยังดำรงอยู่ ปัญหาบางส่วนเกิดจากการหยุดดำเนินการผลิตของโรงงาน เกิดการการชะงักงันของระบบจัดส่งโลจีสติกส์ ปัญหาการแพร่ระบาดและการติดเชื้อสูงระลอกใหม่ น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโรงงานภาคการผลิตได้ การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อเตรียมใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระยะยาว มาตรการควบคุมเงินเฟ้อและค่าครองชีพ มาตรการสาธารณสุขรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆควรมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สินมากกว่าการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม” รศ. ดร. อนุสรณ์กล่าว 

ไทยควรมีจุดยืนต่อต้านสงคราม
รศ. ดร. อนุสรณ์ ออกความเห็นว่า “จุดยืนของไทย ควรเป็นจุดยืนของการต่อต้านสงคราม และต่อต้านการรุกรานประเทศอื่น และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สนับสนุนการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน สนับสนุนสันติภาพและการเจรจาเพื่อยุติสงครามและรุนแรงนองเลือดเพิ่มเติม ให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเท่าที่ทำได้ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นโยบายต่างประเทศควรวางตัวเป็นกลาง เพราะความขัดแย้งและสงครามรัสเซียยูเครนนั้นมีความซับซ้อนมากและ ประเทศไทยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากปัญหาดังกล่าว จึงไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย และ ผู้บริหารนโยบายต่างประเทศต้องรู้ว่าผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร การรักษาสมดุลและการลำดับความสำคัญของการดำเนินนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ”

นักธุรกิจเตรียมรับมือต้นทุนที่สูงขึ้น

รศ. ดร. อนุสรณ์ ให้ความเห็นว่า “โดยภาพรวมแล้ว นักธุรกิจไทยควรเตรียมตัวในการรับมือภาวะต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงให้ดี กระบวนการผลิตต้องลดการใช้พลังงานลง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ ต้องทำ Digital Transformation อย่างจริงจัง การชะลอตัวของกำลังซื้อในยุโรปรวมทั้งรัสเซีย เศรษฐกิจโลกชะลอ ต้องแสวงหาตลาดใหม่ สินค้าใหม่ นวัตกรรมใหม่ทางการตลาด อาจต้องยกระดับเป็น การตลาด 5.0 โดยเร็ว บริหารความเสี่ยงทางการเงินให้ดีด้วยการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม การปรับตัวนี้ก็ขึ้นอยู่ด้วยว่าอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทไหน”

 

CR: BBC News

CR: BBC News

 

ความเสี่ยงของสงครามโลกครั้งที่ 3 และสงครามเย็นรอบใหม่

รศ. ดร. อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่า “การต่อสู้และสงครามน่าจะยืดเยื้อ หากระบอบปูตินไม่ถอนกองทัพรัสเซียออกจากดินแดนของยูเครน และน่าจะมีสภาพเดียวกับ สงครามเวียดนาม สงครามในซีเรีย หรือ อัฟกานิสถาน หากถอนทหารและยุติการหยุดยิงด้วยการเจรจา สถานการณ์น่าจะจบลงโดยเร็ว แต่ไม่น่าจะเป็นทางเลือกของระบอบปูติน เนื่องจากต้องการดินแดนบางส่วนมาผนวกรวมกับรัสเซีย ยังมีประเด็นเรื่องความพยายามกเข้าร่วมกับอียูและนาโต้ของยูเครน ที่เป็นประเด็นที่กลุ่มผู้นำของมอสโคว์รู้สึกถึงความไม่มั่นคง แต่เรื่องนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องปล่อยให้ประชาชนชาวยูเครนตัดสินใจเลือกเอง ไม่ใช่เอากำลังไปรุกรานบีบบังคับ หากระบอบปูตินยึดพื้นที่ประเทศยูเครนได้ แล้วตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดแล้วจะมั่นใจเลยว่า ประชาชนจะไม่ต่อต้าน มันก็จะเกิดความวุ่นวายและเป็น สงครามกลางเมือง Civil War แบบเดียวกับที่เกิดในซีเรีย สงครามอาจไม่ขยายวง ตราบเท่าที่สมาชิกนาโต้ไม่ส่งกองทัพเข้าร่วมรบ หากสงครามขยายวง ก็ต้องมาประเมินเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทยกันใหม่ และ หากสงครามขยายเป็นสงครามโลก ระดับความเสียหาย ล่มสลายและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอาจรุนแรงกว่า Great Depression ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกเมื่อช่วง ทศวรรษ ค.ศ. 1930 หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาสันติภาพกันได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึง รัสเซียกับยูเครน เท่านั้น มันหมายถึง สงครามโลกครั้งที่สาม และ ตามมาด้วยการเกิดขึ้นใหม่ของสงครามเย็น หรือ สงครามเย็นรอบใหม่.