“ชุมชนตำบลบ้านแหลม” ชุมชนท่องเที่ยวเข้มแข็ง สร้างแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวบ้าน พื้นถิ่นคนสุพรรณ

by วันทนา อรรถสถาวร , 26 มีนาคม 2565

“ชุมชนตำบลบ้านแหลม” จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนท่องเที่ยวเข้มแข็ง จากพลังชาวบ้านที่บริหารการจัดสรรปันส่วน น้ำหนึ่งใจเดียว สร้างแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวบ้าน พื้นถิ่นคนสุพรรณ ได้รับรางวัลมากมาย สร้างชุมชนยั่งยืน

 

“ชุมชนตำบลบ้านแหลม” จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตัวอย่างของการพัฒนาชุมชนโดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม วิถีชาวบ้านริมน้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวบ้านสร้างรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยว มีการจัดการที่ดี เน้นจัดสรรปันส่วนให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและผลประโยชน์

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณโสภณ พันธุ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรีเล่าถึงความเป็นมาของการพัฒนาชุมชน ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ จนสามารถเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลมากมาย

 

 

ความเป็นมาของชุมชนเป็นอย่างไร

ชุมชนบ้านแหลมมีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2554 ตอนนั้นยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานใดทั้งสิ้น จนปี 2557 ท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มาส่งเสริมให้เรามีการรวมกลุ่มกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายและให้การรับรอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของทางกลุ่มเรา ต่อมาก็มาได้มาตรฐานโฮมสเตย์ในปี 2559 และในปี 2560 ก็ได้รับรางวัล Best Tourism จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นมา จนถึงปัจจุบันเราก็ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมายไม่ต่ำกว่า 10 รางวัล เช่น รางวัลของกินรีครั้งที่ 12,13 มาตรฐานการท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว ได้รับไม่ต่ำกว่า 6 รางวัล เช่นรางวัลการท่องเที่ยวชุมชนมาตรฐานอาเซียน โฮมสเตย์มาตรฐานไทย โฮมสเตย์มาตรฐานอาเซียน ที่ภูมิใจมากที่สุดคือรางวัลการท่องเที่ยวในชุมชนตามพ.ร.บ.ท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ หมายความว่าเราเป็น 1 ใน 26 ประเทศที่มีภูมิประเทศการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง บ่งบอกถึงความเข้มแข็งของชุมชนเรา เพราะชุมชนที่จะได้มาตรฐานนี้ได้ ต้องมีความพร้อมหลายสิ่งหลายอย่าง มีตัวชี้วัดของโครงการด้วย

ทำไมถึงสร้างจุดท่องเที่ยวในสุพรรณบุรี ทั้งที่พื้นฐานไม่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ

ตอนแรกที่ผมนำเสนอแนวคิดการทำท่องเที่ยวชุมชน ก็ได้รับคำถามนี้มากมายจากคนในชุมชน แต่ผมมองศักยภาพในชุมชนว่ามีหลายอย่างที่จะนำมาร้อยเรียงเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง สิ่งที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชุมชนคือ มีความเป็นชุมชนชนบทอยู่มาก ชุมชนมีความสามัคคี และคนในชุมชนก็มีความสามารถหลายอย่าง วัฒนธรรมท้องถิ่นเรามีคุณค่า อาหารพื้นบ้านของเรามีเอกลักษณ์และอร่อย ชุมชนเราเป็นพื้นที่ในตำนานของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรานำมาร้อยเรียงได้ด้วย เราจึงเห็นโอกาสที่จะทำได้ นอกจากนี้เรายังเป็นชุมชนที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ คนที่จะมาท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้ ๆ ก็จะสบายด้วย

 

 

อะไรเป็นจุดขายของทางชุมชนบ้านแหลม

เราเป็นชุมชนที่ปลูกบ้านเรือนไทยสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร วิถีของคนในชุมชนผูกพันกับสายน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนเรือนไทยไม่ว่าจะเป็นเรือนไทยเดี่ยว เรือนไทยหมู่นับเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านแหลม ความเป็นเรือนไทยภาคกลางที่ผูกร้อยกับคนในชุมชน นับเป็นจุดเด่น นอกจากนี้สำเนียงเสียงเหน่อบ้านสุพรรณฯก็จะได้มาสัมผัสด้วย คนที่มาเยือนจะได้สัมผัสกับเพลงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพลงอีแซว เพลงฉ่อย

นอกจากนี้ชุมชนบ้านแหลมไม่ได้มีการต่อเติมสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเลย เราเอาของเก่า ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนบ้านเรานำมาร้อยเรียง ปรุงแต่งให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวในชุมชน ใช้คนในชุมชนเป็นคนขับเคลื่อน

 

 

ทำไมถึงได้รับรางวัลจากมูลนิธิสัมมาชีพ

ผมมองว่าเรื่องการจัดการในชุมชนต้องมีความโปร่งใส การจัดสรรปันส่วน เรามีรูปแบบการจัดสรรรายได้ที่ชัดเจนทั้งหมด การได้ค่าตอบแทนนั้น เราเน้นความสมัครใจของคนในชุมชน วันนี้ไม่สะดวกเราก็ไม่บังคับ ใครสะดวกก็มา ใครไม่สะดวกก็ไม่ต้องมา เราใช้หลักการ ชมแล้วชอบ จองก่อนเที่ยว ชุมชนเราอยู่กับที่ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวในชุมชนเราต้องจองมาก่อน เขาต้องแจ้งว่าเขาต้องการเข้ามาเที่ยวทำโปรแกรมอะไรตามที่เรากำหนดก่อน หลังจากนั้นเรายังไม่ตอบรับนักท่องเที่ยว แต่เราจะนำเรื่องดังกล่าวมาประชุมกับทีมงานเราก่อน ว่ามีโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบนี้ใครจะรับงานอะไรไป

ทุกคนจะเห็นเนื้องานของตัวเองก่อน คนที่สนใจก็จะรู้หน้าที่ของตัวเองในการจัดสรรปันส่วน แบ่งหน้าที่และคิวงานที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น บ้านพักโฮมสเตย์ของเราแบ่งเป็นเลขบ้านเรียงตามลำดับ นักท่องเที่ยวไม่สามารถเลือกบ้านได้ นี่คือการจัดการอย่างหนึ่ง อันนี้บางบ้านไม่มีแอร์ บางบ้านห้องน้ำไม่สะดวก เพราะเป็นเรือนไทย แต่คนที่มาเยือนก็ชอบบ้านแบบที่สบาย ๆ เราไม่ตามใจผู้มาเยือน เรากำหนดของเราเอง แต่ถ้าผู้มาเยือนต้องการบ้านแบบนั้น ผู้มาเยือนต้องจ่ายเพิ่มเติมขึ้นมา ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นตามคิว ค่าโฮมสเตย์ของเราจะตกคืนละ 400 บาท แต่ถ้าต้องการหลังติดแม่น้ำ ก็ทำได้แต่ต้องจ่ายเพิ่มอีกหัวละ 100 บาท เงินจำนวนนี้เอาไปให้กับบ้านที่อยู่ในคิว นี่คือรูปแบบจัดสรรปันส่วน ทำให้เกิดความโปร่งใส และความร่วมมือ และนี่เป็นจุดที่หน่วยงานต่าง ๆ เขาเห็นถึงความสำคัญจึงให้รางวัลเรา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องปฏิบัติตนตามหน่วยการชี้วัดของเขาด้วย

 

 

การดำเนินงานมีปัญหาหรือไม่อย่างไร

เรามีปัญหาตลอด แต่เราก็แก้กันไป ยกตัวอย่างเช่นเรื่องคน เรากลัวความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในชุมชน แต่เราโชคดีคือมีการตั้งกฎกติกาต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนก่อนแล้ว และการที่มีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละคน ทำให้เป็นการแบ่งเบาภาระจากกลุ่มออกไป ไม่ใช่ปัญหารวมไว้ที่เดียว เช่นคิวอาหาร ซึ่งหลายครั้งมีปัญหาเรื่องอาหารไม่พอกิน การจัดการเรื่องคิวอาหารเราไม่ได้ยึดที่อาหารที่อร่อยที่สุด แต่เรายึดว่าในบ้านนั้นมีวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารอะไรได้บ้าง เพื่อลดต้นทุน เพราะ 1 หัวเราให้งบประมาณไว้ที่ 150 บาท และทุกคนกินต้องอิ่ม แต่ถ้าหากบ้านหลังนั้นซื้อทุกอย่างมาเอง อย่างนั้นก็จะไม่สามารถทำตามงบประมาณที่เราตั้งไว้ได้ ฉะนั้นใครที่เขามารวมกลุ่มการจัดคิวอาหารจะต้องมีการปลูกผักสวนครัวของตัวเอง หรือมาแบ่งสันปันส่วนกัน ตรงนี้แก้ปัญหาได้

ส่วนปัญหาด้านธรรมชาติ ชุมชนบ้านแหลมเป็นการท่องเที่ยววิถีไทยกับสายน้ำ เราจะมีกิจกรรมล่องเรือแล้วแวะแต่ละบ้าน บางปีหน้าแล้ง ผักตบชวาในแม่น้ำสุพรรณ เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถแก้ได้ ในเมื่อไปทางน้ำไม่ได้ เราก็มีรถอีแต๋นเพื่อนำพาการท่องเที่ยวเป็นทางบกแทน เรามีการเขียนว่า “กิจกรรมและเวลาสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความพร้อมของชุมชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้มาเยือน” เราจะไม่มีการกำหนดตายตัว เพราะบางวันฝนตก แผนการท่องเที่ยวก็ต้องเปลี่ยน

ปัญหาล่าสุดที่เราพบคือเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ศูนย์การท่องเที่ยวของเราต้องปิด เราหาทางแก้ปัญหาโดย ชุมชนของเรามีการทำมาตรฐานSHA ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข นำมาตรฐานSHA มาเป็นตัวกำหนดในการผลิตสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ นอกจากนี้ปัจจุบันคนที่มาบ้านแหลมต้องตรวจ ATK ไม่เกิน 24 ชั่วโมง พร้อมกันให้ลงทะเบียนผ่าน Google Form เลย ถึงสามารถจองเข้ามาเยือนชุมชนเราได้ นอกจากนี้มีกระบวนการสร้างความมั่นใจกับผู้มาเยือนว่าคนในชุมชนเราทุกคนมีการตรวจ ATK เหมือนกัน ให้สบายใจว่าฉันก็ตรวจ เธอก็ตรวจ เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาเหมือนกัน

 

 

สินค้าหรือบริการอะไรถือว่าเป็นสิ่งขายดีของชุมขน

ด้านบริการเรามีโฮมสเตย์ ที่ได้มาตรฐานโฮมสเตย์อาเซียน เรามีโฮมหลอดที่ได้มาตรฐานกรมท่องเที่ยวเหมือนกัน ซึ่งโฮมสเตย์และโฮมหลอดแตกต่างกันอย่างไร ถ้าเป็นโฮมสเตย์คือการพักอยู่หลังคาเดียวกันกับเจ้าของบ้าน ส่วนโฮมหลอดเป็นการพักนอกชายคาบ้านเจ้าของ ซึ่งทำให้คนมาเยือนก็มีความสบายใจ มีบริการล่องเรือไหว้พระ 3 วัด 5 วัด 7 วัด 9 วัด มีศูนย์เรียนรู้ด้านผักตบชวา เราเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวในชุมชน ดูไร่นาสวนผสม

ส่วนสินค้าที่ผู้มาเยือนจะได้รับคือ มาสุพรรณบุรีต้องมารับประทานปลาม้า มีปลาม้าแห้ง แดดเดียว น้ำพริกปลาม้า มีน้ำพริกไปนา ขนมกะแลแป๊ะ มีธูปกำยานหลากสี ลูกประคบ เครื่องจักสานจากผักตบชวามากกว่า 20 ชนิด สินค้าของเราส่วนมากได้รับมาตรฐานจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

 

ชุมชนมีแผนในการพัฒนาต่อยอดอะไรบ้าง

ภายในไม่เกินปีหน้า เราต้องการทำให้ชุมชนบ้านแหลมเป็นชุมชนที่ขับเคลื่อนแบบ BCG นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มีแผนการพัฒนาเรือท่องเที่ยวให้เป็นเรือพลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วงที่นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาก็สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในครัวเรือนหรือในบ้านได้ ส่วนของผักตบชวาเรามีแผนพัฒนาโดยเอามาปั่นแล้วทำเป็นกระดาษ แล้วเอาไปทำ ถ้วย จาน ชาม เพราะชุมชนของเรามีสโลแกนว่า “สัมผัสวิถีไทยกับสายน้ำ พักบ้านเรือนไทยเก่าโบราณ ฟังเพลงพื้นบ้านตำนานเรื่องเล่า กินข้าวไม่ต้องล้างจาน กิจกรรมเด่นสุดฟิน อาหารพื้นถิ่นโดนใจ เที่ยวแบบไทย ๆ ชิว ๆ Next normal” และอีกเป้าหมายคือเราต้องการเป็นชุมชน MICE เพราะชุมชนบ้านแหลมของเรามีห้องประชุมด้วย สามารถรองรับคนประมาณ 30 คน นอกจากนี้เรามีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์รวมสินค้าชุมชนของที่อื่น ๆ อีก มีที่จอดรถรองรับคนได้ 200-300 คน ในแง่ของอีเว้นท์ ปัจจุบันนี้เราก็เปิดบริการให้ห้องประขุมของเราเป็นสถานที่จัดอีเว้นท์เช่นกัน เช่น งานแต่งแบบไทย ๆ เราก็ใช้แม่ครัวในพื้นที่มาทำงาน คาดว่าภายใน 2 ปี เราสามารถเป็นชุมชน MICE ที่เข้มแข็งได้

 

 

อะไรคือความเข้มแข็งของเรา

ความสามัคคีในชุมชนของเราคือความเข้มแข็ง ถ้าหากมีเพียงต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดี มีสิ่งก่อสร้างที่ดี ทุกอย่างดีหมด เรามีต้นทุนที่คนรวมเนื้อรวมใจกัน สามัคคีกัน ร่วมกัน จิตใจเดียวกัน และเข้าใจเป้าหมายเดียวกัน มันถึงเป็นไปได้ ชุมชนไหนถ้าการจัดการคนไม่ดีก็พังได้ คนในชุมชนของเราจึงเป็นจุดแข็งของเรา บ้านแหลมมีความชัดเจนที่คนในชุมชนทุกวัยมาร่วมกันทำงาน เด็ก 4-5 ขวบก็สามารถเป็นมัคคุเทศก์ คนสูงอายุก็มา แสดงถึงความหลากหลายของชุมชน วัดก็มาร่วมด้วย นอกเหนือจากชุมชนของเรา เราก็ได้มีการประสานความร่วมมือกับชุมชนภายนอก องค์กรต่าง ๆ เป็นเครือข่าย ความสามารถของคนนี่แหละเป็นจุดแข็ง คนที่เล่าเรื่องในชุมชน ถ้าไม่มีก็หมดเสน่ห์ เรามีรางวัลต่าง ๆ มากมาย นี่คือความชัดเจนของคุณภาพของชุมชนเรา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องมาเรียนรู้.