สัมภาษณ์พิเศษ “นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย” ทำไมราคาปุ๋ยดีดตัวสูง แล้วจะขาดตลาดหรือไม่

by วันทนา อรรถสถาวร , 2 เมษายน 2565

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาปุ๋ยได้ดีดตัวสูงขึ้น 1-2 เท่าตัว นอกจากนี้ยังขาดแคลนไปทั่วโลก ต้องแย่งชิงกัน ใครให้ราคาสูงก็ได้ไป วิกฤตเช่นนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นหรือระยะยาว เชิญติดตามคำตอบจากการสัมภาษณ์พิเศษนี้

 

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ราคาปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญทางการเกษตรได้ปรับราคาขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ โดยแต่ละชนิดขึ้นแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปขึ้นตั้งแต่ 104% ถึงกว่า 200% จนทำให้อาจเกิดการขาดแคลน และไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าราคาปุ๋ยจะยังคงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ ทาง Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยมาเล่าถึงสาเหตุของราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นอย่างมากมาย ตลอดจนคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เชิญติดตามได้จากการสัมภาษณ์นี้ได้เลยค่ะ...

 

 

ขณะนี้เกิดสถานการณ์การขาดแคลนปุ๋ยเคมีไปทั่วโลกใช่หรือไม่ สาเหตุมาจากอะไร

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ มีทั้งสาเหตุระยะยาว และวิกฤตระยะสั้น ปัญหาที่เกิดมาก่อนหน้านี้เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ระบบการผลิตทั่วโลกเกิดการชะงักงันขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศขาดอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนี้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในประเทศและเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจในประเทศเกิดการฟื้นตัว หลายประเทศจึงหันมาส่งเสริมให้มีการผลิต การเกษตรในประเทศของตนเอง ยักษ์ใหญ่ด้านการส่งออกปุ๋ยเคมีอย่างจีน อียิปต์ ต้องการให้เกษตรกรในประเทศของตนได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ จึงส่งเสริมให้มีปุ๋ยในราคาที่ถูก ลดการส่งออก โดยเฉพาะจีนซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยมากที่สุดในประเทศไทย ทางรัฐบาลจีนได้สั่งการให้ลดปริมาณการส่งออกตั้งแต่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา จนถึงมิถุนายน 65 และยังไม่รู้ว่าจะขยายคำสั่งนี้ออกไปหรือไม่ ได้ส่งผลกระทบต่อไทยมาก เพราะในแต่ละปีไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากจีนไม่น้อยกว่า 1 ล้านตัน ที่เหลืออีก 4 ล้านตันนำเข้าจากที่อื่น เมื่อจีนลดปริมาณการส่งออก ราคาจึงต้องปรับตัวสูง ทางด้านอียิปต์ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลออกนโยบายให้ส่งออกได้เพียง 45% ก็ยิ่งทำให้ปริมาณการส่งออกปุ๋ยทั่วโลกได้รับผลกระทบ

อีกด้านหนึ่งทั้งประเทศอินเดีย บลาซิล ซึ่งเป็นประเทศทที่มีการนำเข้าปุ๋ยมากที่สุดของโลก ทางรัฐบาลหันมาให้การสนับสนุนเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อความมั่นคงในประเทศและเพื่อการส่งออก ส่งผลให้ความต้องการปุ๋ยมีมากขึ้นกว่าปกติ ยังไม่นับรวมประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งต้องการผลผลิตที่มากขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในปี 63-64 มีระดับราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตมากขึ้น

ต้นทุนที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ราคาปุ๋ยสูงขึ้นคือ ต้นทุนด้านการขนส่งของระบบทางเรือ เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ปริมาณการเดินเรือมีน้อยลง เรือขนส่งต่าง ๆ ไปพักท่าที่อเมริกา จีน และอียูเป็นส่วนใหญ่ ดินฟ้าอากาศในรอบ 2-3 ปีนี้ก็มีผลต่อการผลิตปุ๋ยเคมีด้วย ตัวอย่างเช่นที่ แคนาดา และอเมริกาเกิดพายุเฮอร์ริเคนขนาดใหญ่ ได้สร้างความเสียหาย โดยเฉพาะที่แคนนาดา เป็นต้นทางของการผลิตปุ๋ย โพรแตซเป็นรายใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ยังมีวิกฤตเฉพาะหน้าที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครน ซึ่งรัสเซียเป็นประเทศที่ผลิตสารตั้งต้นในการผลิตปุ๋ยเคมีของโลก ไม่นับที่รัสเซียเป็นแหล่งผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลกแล้วต้องการส่งเสริมให้เงินรูเบิลมีอิทธิพลในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศทำให้ ขณะนี้โลกอยู่ในภาวะผันผวนมากเรื่องการเงินการซื้อขายระหว่างประเทศ จึงทำให้ทั่วโลกเกิดวิกฤตด้านซัพพลายปุ๋ยเคมี หลายประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีไปใช้เพื่อเกษตรกรรม จำเป็นต้องเสนอราคาที่สูงสามารถแข่งขันกับรายอื่นได้ จึงจะสามารถซื้อได้ เพราะตลาดการซื้อขายปุ๋ยเป็นตลาดเสรี จนในขณะนี้ตลาดอยู่ในสถานการณ์การประมูลราคากัน ใครมีเงินก็ซื้อได้

 

 

ท่านคิดว่าสถานการณ์นี้จะเป็นปัญหาระยะสั้นหรือระยะยาว

การคาดการณ์นี้ตอบได้ยากมาก ทางสมาคมตอบได้เพียงว่าฤดูการผลิตหลักที่จะมาถึงนี้ เกษตรกรไทยไม่ขาดแคลนปุ๋ย แต่จะได้ปุ๋ยในต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะทางผู้นำเข้าก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกันคือนำเข้ามาในต้นทุนที่สูงกว่าเก่ามาก แม้ว่าเราจะได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการเรื่องลดขั้นตอนการนำเข้าให้สั้นลง เพื่อลดต้นทุน แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก ดังนั้นฤดูการผลิตหลักนี้ซึ่งเป็นช่วงการซื้อปุ๋ยในไตรมาสที่ 2 ต่อไตรมาสที่ 3 ทางสมาคมยืนยันว่าเกษตรกรของไทยจะไม่ขาดแคลนปุ๋ย แต่ราคาต้องปรับขึ้นตามต้นทุนที่เข้ามา ส่วนฤดูการผลิตที่ 2 ของปี ซึ่งตรงกับรอบการสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตปุ๋ย หรือผสมปุ๋ยเคมีในไตรมาสที่ 3 ต่อไตรมาสที่ 4 ขณะนี้ทางสมาคมยังไม่สามารถประเมินได้ สถานการณ์ของโลกขณะนี้ผันผวนมาก ไม่ว่าจะเรื่องของการแบ่งค่ายทางการเงิน ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบในรูปแบบไหน สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยุติลงในระยะเวลาอันสั้นนี้หรือไม่ ซึ่งหลังการยุติก็จะผลกระทบตามมา ซึ่งเราคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด นอกจากนี้ปัญหาของการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จ นโยบายการสำรองไว้ใช้ในประเทศเพราะเขากังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และผลผลิตจะลดลงหากปริมาณปุ๋ยมีไม่เพียงพอต่อการทำการเพาะปลูก ไม่รู้ว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องออกไปอีกนานแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญ โดยประมาณการณ์ก็คาดว่า ราคาปุ๋ยจะผันผวนไปจนถึงปี 2567

 

สมาชิกของสมาคมได้รับผลกระทบหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบเพื่อมาผลิตปุ๋ย

สมาชิกของสมาคมได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะสมาคมเราถือว่าเป็นสมาคมใหญ่ เป็นที่รวมของบริษัทค้าปุ๋ยระดับใหญ่ และระดับกลางเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเป็นราคาควบคุม มีการกำหนดเพดาน แต่เนื่องจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ทางสมาคมฯได้ขอปรึกษากับทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ขอให้ยกเลิกเพดานราคาออกไป เพื่อให้ทางสมาชิกมีความคล่องตัวไปแข่งราคาเพื่อซื้อปุ๋ยเข้าตลาดในประเทศ ทางกรมการค้าภายในก็อนุญาต แต่มีเงื่อนไขว่าจะพิจารณาการขึ้นราคาปุ๋ยเป็นราย ๆ ไป โดยทางภาคเอกชนแต่ละบริษัทต้องนำเสนอราคาที่ซื้อมาจริง ตลอดจนต้นทุนจริงไปรายงาน ซึ่งทางผู้ประกอบการทั้งหมดก็นำเสนอต้นทุนจริงอยู่แล้ว เราไม่สามารถปิดบังราคาที่แท้จริงได้ เพราะทางกระทรวงพาณิชย์มีรายละเอียดของข้อมูลเหล่านี้ชัดเจนอยู่แล้วเช่นกัน

ราคาปุ๋ยในตลาดจะเป็นอย่างไรจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี

เราบอกได้อย่างเดียวว่าราคาตลาดโลกผันผวนมาก และในระยะสั้นนี้มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างแน่นอน ดูได้จากตารางที่แนบมาได้เลยครับ

จากการคำนวณสามารถประเมินได้ว่าฤดูการปลูกหลักในปีนี้เกษตรกรจะต้องแบกต้นทุนปุ๋ยในราคาที่สูงกว่าเดิมเฉลี่ยประมาณ 168.5% ซึ่งยังไม่นับรวมต้นทุนการจัดการและกำไรของบริษัทค้าปุ๋ยด้วย แต่ยืนยันได้ว่ามีให้เพียงพอต่อการผลิตในฤดูหลักนี้อย่างแน่นอน ส่วนฤดูการผลิตที่ 2 ของปีนี้ยังตอบไม่ได้ว่าราคาจะมีทิศทางอย่างไร ต้องรอการไปประมูลซื้อจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 3-4 ก่อน

จากนโยบายการผ่อนคลายของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ก็ทำให้สมาคมฯและสมาชิกนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศมีความคล่องตัวในการแข่งขันกับความต้องการของตลาดโลกได้ แต่การขึ้นราคาก็ยังอยู่ในดุลพินิจของกรมการค้าเป็นราย ๆ ไป และทางกรมการค้ายังขอความร่วมมือจากสมาคมฯในการควบคุมสมสมาชิกฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาไปอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งหากตรวจพบเจอก็จะได้รับการลงโทษสถานหนัก

 

 

ท่านคิดว่าหากวิกฤตนี้เกิดขึ้นจริง ในฐานะนายกสมาคมฯ จะให้คำแนะนำกับเรื่องนี้อย่างไร เกษตรกรควรปรับตัวอย่างไร

การทำเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อการค้าและการส่งออก ยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี ปัจจุบันนี้ปุ๋ยเคมีได้พัฒนาคุณภาพไปมาก สามารถเพิ่มผลผลิตรักษาคุณภาพของผลผลิตได้อย่างดีและสม่ำเสมอ เพียงแต่ว่าเกษตรกรต้องเป็นเกษตรกรก้าวหน้า มีความรู้ที่จะใช้ปุ๋ยเคมีนั้นอย่างถูกต้อง คือ ใช้ให้ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา และถูกเวลา เข้าใจว่าตลาดโลกในแต่ละขณะต้องการสินค้าประเภทไหน ปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มาตรฐานการปลูกต้องได้ GAP กระบวนการปลูกต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนเสิร์ฟถึงมือผู้บริโภค เรื่องนี้สำคัญมากในตลาดต่างประเทศที่ได้ราคา เกษตรกรไทยต้องใช้ระบบเการเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่มีความรู้ มีเมล็ดพันธุ์ที่ดี การเตรียมดินที่ดี ปลูกได้อย่างสอดคล้องกับฤดูกาลของแต่ละชนิดของผลผลิต ยิ่งในสมัยนี้ที่ต้นทุนต่าง ๆ สูงขึ้น ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงมีความจำเป็นอย่างมาก การเพาะปลูกที่ดี จะต้องใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม ในต่างประเทศที่มีผลผลิตสูงต่างก็ใช้ความรู้เช่นนี้ แม้แต่เวียดนามซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียน ก็เห็นความสำคัญของระบบการผลิตเช่นนี้.