“ผมอยากมาทำต่อในสิ่งที่ทำค้างไว้แต่ยังไม่เสร็จ จึงมาสมัครเพื่อทำงานต่อเนื่องให้จบ”

by วันทนา อรรถสถาวร , 15 เมษายน 2565

"ผมอยากมาทำต่อในสิ่งที่ทำค้างไว้แต่ยังไม่เสร็จ ที่ผ่านมาปัจจัยต่าง ๆ มีมาก งานของกรุงเทพมหานครมีความสลับซับซ้อนมาก ปัญหาบางอย่างไม่สามารถทำให้เสร็จภายในปี สองปีได้ จึงมาสมัครเพื่อทำงานต่อเนื่องให้จบ" พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ชาวกรุงเทพฯผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ข้อมูลถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,374,131 คน ได้มีโอกาสตัดสินใจคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงเพื่อมาบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคน เป็นเมืองหลวงของไทย และเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของโลก
.
วันนี้ Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 เพื่อมาเล่าถึงเหตุผลในการสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เป้าหมายและนโยบาย เชิญติดตามได้เลยค่ะ

 

แรงจูงใจที่ทำให้ท่านลงสมัครในครั้งนี้
ผมอยากมาทำต่อในสิ่งที่ทำค้างไว้แต่ยังไม่เสร็จ มีคนถามว่าแล้ว 5 ปี 5 เดือน ทำไมทำไม่เสร็จ บางครั้งปัจจัยต่าง ๆ มีมาก งานของกรุงเทพมหานครมีความสลับซับซ้อนมาก ปัญหาบางอย่างไม่สามารถทำให้เสร็จภายในปี สองปีได้ จึงมาสมัครเพื่อทำงานต่อเนื่องให้จบ

 

 

ท่านคิดว่าปัญหาของกรุงเทพฯที่สำคัญมีอะไรบ้าง

1. ปัญหาหลักของคนกรุงเทพฯคือเรื่องน้ำ มีทั้งน้ำเหนือ น้ำหนุน น้ำฝน ที่หนัก ๆ คือน้ำฝน เพราะน้ำเหนือเวลามาเราสามารถประสานกับจังหวัดใกล้เคียง กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เบี่ยงน้ำออกซ้ายออกขวา ที่บางไทร อยุธยาได้ น้ำหนุนเราก็ประสานกับกองทัพเรือได้ สิ่งที่ยากที่สุดคือน้ำฝน กรุงเทพฯฝนมาก มีคูคลองก็มาก 1,682 คลอง ปีที่ผ่านมาได้ทำเขื่อนฟันหลอไปหลายจุดแล้ว ทำที่ชุมชนโรงสียานนาวา ซังฮี้ สองจุดนี้มิถุนายนนี้เสร็จแล้ว ตอนนี้ท่อดันน้ำแรงสูงเราทำไปแล้ว 11 แห่ง กำลังมีแผนจะทำอีกกว่า 10 แห่ง เพราะว่าจะได้ผลักดันน้ำ เพราะคลองก็เหมือนกับเส้นเลือด มีทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดเหล่านี้ต้องผลักดันน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าที่ของกทม.คือทำอย่างไรจะผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังให้เร็วที่สุด

นักวิชาการแนะนำให้ทำ water bank ผมทำเสร็จแล้ว 4 แห่งมี ปากซอยสุทธิพร บางเขน รัชวิภา ศรีนครินทร์ ร่มเกล้า ซึ่งโครงการลักษณะนี้ยังไม่พอ เพราะจุดน้ำท่วมซ้ำซากในกทม.มีกว่า 24 แห่ง เราทำไป 15 จุด เหลืออีก 9 จุด มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ยังทำไม่เสร็จ หรือแม้แต่โครงการฟันหล่อ บางทีทางชุมชนก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ แต่เราก็จะพยายามทำให้เสร็จ

2. เรื่องสวนสาธารณะ ที่ผ่านมาได้เพิ่มสวนขนาดใหญ่ไปแล้ว 6-7 จุด เช่น สวนเบญกิติ สวนที่ใกล้โรงงานยาสูบเก่า เปิดได้ 4 เดือนแล้ว มีคนมาพักผ่อน ออกกำลังกายมาก วันละ 4,000-5,000 คน สวนขนาดเล็กเราก็ทำเพิ่มอีก ปลูกต้นไม้ไปกว่า 1.5 ล้านต้น พ็อกเก็ต ปาร์ค สวนที่ทางเอกชนร่วมกับกทม.ก็ทำได้ 6-7 แห่งแล้ว ปาร์คทำได้ พาร์คเราทำเสร็จไปแล้ว 3 แห่งแต่ยังไม่พอ ที่บางเขน บางแคภิรมย์ สวนบางขุนเทียน ทำเขื่อนพนังกั้นน้ำอยู่ที่ชายทะเลบางขุนเทียน ที่นี่โดนน้ำกัดเซาะไปกว่า 3,000ไร่ ก็ไปปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์ของพระราชา 4 ปีที่ผ่านมาปลูกพื้นที่กลับมา 240 ไร่ และมีแผนจะทำคันหินป้องกันน้ำกัดเซาะ

3. การเดินทาง มีโครงการที่จะทำให้ทางเดินสะดวก มีปัญหาเรื่องทางเดินไม่เรียบมีจุดสะดุด ได้แก้ปัญหาไปแล้วส่วนหนึ่งคือ เช่น พระราม 1 รถมวลชนต้องเดินสะดวกก็ทำรถอีวี พลังงานสะอาดเป็นชัตเติล บัส ทำต้นแบบแล้ว 2 คัน ทำเส้นทางลอดใต้ทางด่วน เช่นทางรอดมไหศวรรย์ที่ตากสิน ก็ทำให้เสร็จ กำลังทำระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ ทำคูคลองให้สะอาดขึ้น เช่น คลองหลอด คลองแสนแสบ คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองช่องนนทรี ตัวอย่างเช่นคลองผดุงได้เพิ่มทางเดินเรือ เราใช้พลังงานสะอาด เรือไฟฟ้าเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่วัดท่าน้ำเทวราชกุญชร ไปถึงหัวลำโพง อีกสายคือมีนบุรีมาถึงศรีบุญเรือง และมีการลอกคูคลองให้ลึกขึ้น เพื่อการกักเก็บน้ำด้วย กรุงเทพฯมีคูคลองมาก เราตั้งใจจะทำให้สะอาด ทำไปมากแล้ว แต่ยังไม่หมด

4. ระบบสาธารณสุข เราต้องการให้การบริการทั่วถึง รวดเร็ว เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีเป้าหมายที่จะโรงพยาบาล 4 มุมเมือง ศูนย์สาธารณสุขของกทม.มี 69 แห่ง ในขณะที่เขตเรามี 50 เขต เราต้องการที่จะทำศูนย์สาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลประจำเขต เหมือนกับต่างจังหวัด ทำ Tele Medicine นัดผ่านระบบต่าง ๆ ไปหาหมอภายใน 60 นาทีต้องจบ ให้กรรมการชุมชนมีส่วนในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง คนชรา สามารถเข้าไปวัดความดัน ตรวจเลือดได้ถึงบ้าน เหมือนตอนช่วงโควิดที่ผ่านมาไปฉีดวัคซีนให้คนติดเตียงกว่า 1 แสนคน และมีศูนย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์ฟอกไตของหลวงพ่อทวีศักดิ์ อยากจะเพิ่มอีก 2-3 แห่ง ต้องการเพิ่มศูนย์ผ่าตัดหุ่นยนต์ ศูนย์มะเร็ง

 

5.เรื่องการศึกษาจะให้เรียนทันสมัย เรียนฟรี เรียนดี มีอาชีพ มีงานทำ โรงเรียนประถมและมัธยมจะมีโรงเรียน 2 ภาษา ส่งเสริมภาษาต่างชาติ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้เพิ่มค่าอาหารตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมที่ 6 เพิ่มอีก 20 บาท เสริมจากที่รัฐบาลจัดให้หัวละ 20 บาท ศูนย์เด็กเล็กเพิ่มอีก 8 บาท เป็น 28 บาท ทำ MOU กับโรงเรียน 134 แห่ง ถ้าไม่ต้องการเรียนสายสามัญต่อ เราก็ทำกับกรมอาชีวศึกษารับเด็กเข้าไปเรียน

ท่านมีนโยบายที่จะบริหารกรุงเทพฯให้เป็นมหานครแห่งความยั่งยืนอย่างไร

กรุงเทพเป็นมหานครใหญ่ที่เป็นเมืองแออัด ความยั่งยืนไม่เกิด เพราะเวลาเปลี่ยนผู้ว่าฯคนหนึ่ง นโยบายก็เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ผมทำคือการทำชุมชนให้เข้มแข็ง ผมได้แบ่งชุมชนออกเป็น 5 ประเภท ชุมชนแออัด ชุมชนเมือง ชุมชนชานเมือง ชุมชนอาคารสูง ชุมชนแบบพิเศษ การที่ชุมชนเข้มแข็งนั้น ไม่มีชุมชนไหนรู้ปัญหาเท่ากับคนที่อยู่ในชุมชน ตัวอย่างเช่น ชุมชนคอนโดสูง คนที่รู้ปัญหาดีที่สุด นอกเหนือจากนิติฯแล้วก็คือสมาชิกในชุมชน การสร้างชุมชนเข้มแข็งก็เพื่อที่จะให้เป็นตัวแทนมาบอกปัญหาเราให้แก้ไขได้ หรือร่วมกันหาทางออกแก้ไขด้วยคนในชุมชนได้ ปัจจุบันที่ปรึกษาจะมีกลุ่มของคนพิการ เช่น คุณกฤษณะ ซาบะ คนหนุ่มคนสาวที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น หากได้กลับมาอีกครั้งจะนำบุคคลเหล่านี้เป็นหนึ่งในทีมผู้บริหาร ไม่ใช่ที่ปรึกษาเพียงอย่างเดียว

 

นโยบายที่ชัดเจนของผมจะเน้นด้านการปฏิบัติ และกรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงที่ใหญ่มาก ดังนั้นการทำงานต้องมีการประสานงานกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ไฟฟ้า ประปา กสทช. ตลอดจนกระทรวง ทบวง กรม เช่นปัญหาการจราจรติดขัด ทางกรุงเทพมหานครไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง กรุงเทพฯมีถนนหลายประเภท ทางหลวงประเภทต่าง ๆ ครอบกรุงเทพฯอยู่ หากต้องการทำเพียงแค่เส้นทางคมนาคม ถนนหนทาง ต้องประสานกับหลายฝ่าย นอกจากนี้ผมยังเป็นคนเปิดกว้างที่ทำให้คนทุกกลุ่ม คนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารเมืองแห่งนี้ การทำงานในลักษณะนี้จะนำมาซึ่งความยั่งยืนได้

จุดเด่นของท่านคืออะไร

ผลงานของผมที่ผ่านมาเห็นประจักษ์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่ทำ Tele Medicine โรงพยาบาล 4 มุมเมือง การแก้ไขเรื่องน้ำท่วมจากเดิม 4-5 ชั่วโมง ตอนนี้เหลือไม่เกิน 1 ชั่วโมง น้ำแห้งหมดแล้ว หรือที่บางเขนทำ water bank ใต้สนามเด็กเล่น ทำให้ไม่มีน้ำท่วมอีกแล้ว ทำในลักษณะนี้ไปแล้ว 4 แห่ง แม้ว่าผมทำงานออกมามากมาย แต่ยังไม่หมด จึงอยากจะกลับมาทำต่อให้หมด อยากทำให้กรุงเทพฯดี ทำให้สังคมปลอดภัยชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ทำ CCTV ทำไฟสว่างตามริมคลอง ตรอก ซอก ซอย อีกเรื่องที่ต้องการทำคือให้คนกรุง ท้องอิ่ม ปากไม่หิว มีงานทำ มีระบบการเดินทางเชื่อมต่อ รถ เรือ ราง ได้หมด สร้างความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯให้มีชีวิตที่สงบสุข ซึ่งจะหนุนให้กิจการ ธุรกิจต่าง ๆ ก้าวหน้า

 

ชนชั้นกลางลงล่างกรุงเทพฯมีมาก โรงเรียนกทม. 437 แห่ง ลูกคนรวยไม่เรียน ลูกคนจนมาเรียนทั้งนั้น ซึ่งที่บ้านพ่อแม่เขาก็ลำบากอยู่แล้ว บางคนเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีพ่อแม่ อยู่กับปู่กับย่า ตายาย จึงเพิ่มค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียน นอกจากนี้ช่วงโควิดที่ผ่านมา คนที่กินเงินเดือนประจำก็มีปัญหามาก เพราะทางบริษัทลดค่าแรง กลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่อยู่ในฐานะลำบาก สิ่งที่ผู้ว่าฯทำได้คือการเป็นนักประสานไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาแก้ไขปัญหา หรือกระทรวงแรงงานเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องไม่มีงานทำ เป็นต้น

 

สิ่งแรกที่ท่านจะดำเนินการเมื่อเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ

การทำงานต้องเริ่มต้นร่วมกันทุกนโยบายไปพร้อม ๆ กัน เพราะปัญหาของกทม.นั้นหมักหมมกันมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่สิ่งแรกที่จะต้องทำคือเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เพราะช่วงนั้นเป็นเวลาของฤดูฝน ก่อนที่จะเข้ามาทำงานเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีน้ำท่วมซ้ำซากอยู่กว่า 24 แห่ง เราทำไป 15 จุด เหลืออีก 9 จุด เข้ามาอีกทีต้องรีบมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้เร็วที่สุด หน้าที่ของผู้ว่าฯคือนำน้ำออกจากพื้นที่ ลงทะเลให้เร็วที่สุด.