“ต้องการที่จะเข้ามาจัดการเมืองกทม.ให้มีความหวัง เป็นเมืองที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้คน เมืองที่มองคนเท่ากัน”

by วันทนา อรรถสถาวร , 13 เมษายน 2565

“กรุงเทพฯ แค่การบริหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องมีเจตจำนงความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะสร้างกติกา จัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม จัดการมหานครให้มีความหวัง ให้ความเป็นธรรมกับผู้คน” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ชาวกรุงเทพฯผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ข้อมูลถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,374,131 คน ได้มีโอกาสตัดสินใจคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงเพื่อมาบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคน เป็นเมืองหลวงของไทย และเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของโลก
.
วันนี้ Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคก้าวไกล เพื่อมาเล่าถึงเหตุผลในการสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เป้าหมายและนโยบาย เชิญติดตามได้เลยค่ะ

 

แรงจูงใจที่ทำให้ท่านตัดสินใจมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครมีงบที่ผ่านเฉพาะสภากทม.ประมาณ 80,000 ล้านบาท และมีสมทบอีก 20,000 ล้าน รวม ๆ ก็ ประมาณ 1 แสนล้านบาท แล้ว 8-9 ปีที่ผ่านมารวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท แล้วทำไมปัญหากรุงเทพมหานครยังซ้ำเดิม ปัญหาเมื่อ 10 ปีก่อนที่ปัจจุบันก็คือปัญหาที่เราพูดในเรื่องเดิม ๆ คำถามคือว่าเราสามารถบริหาร กทม.ได้ดีกว่านี้มั้ย และยิ่งเราเจาะข้อมูล แล้วเราก็พบว่า ทุกครั้งที่มีใครที่จะพยายามแก้ไขปัญหาของ กทม. ต้องเจอกับอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ เครือข่ายนายทุนผู้รับเหมา กติกาหลายอย่างก็ไม่เป็นธรรม มักจะเอื้อให้นายทุน เอื้อกับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน กรุงเทพฯปัจจุบันนี้แค่การบริหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีเจตจำนงความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะสร้างกติกา จัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม สร้างแรงจูงใจที่เป็นธรรม ร่วมด้วยกับการบริหารที่ดี นี่คือแรงจูงใจที่ทำให้ผมมาลงสมัครรับเลือกตั้ง

คนที่บริหารองค์กรเอกชนที่เก่งกว่าผม มากกว่าผมมีครับ แต่ต้องยอมรับว่าการจัดการปัญหากรุงเทพมหานคร เช่น โรงขยะที่อ่อนนุช การจัดสรรงบประมาณที่ให้กับ อุโมงค์ยักษ์ปีละ 2,000 ล้านบาท กับปัญหาคอรัปชั่นที่เรารู้ ๆ กันอยู่ เราต้องมีเจตจำนงในการแก้ ฉะนั้นผมคิดว่า นี่เป็นความต้องการที่จะเข้ามาจัดการเมืองกทม.ให้มีความหวัง เป็นเมืองที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้คน เมืองที่มองคนเท่ากัน

ปัญหาหลัก ๆ ที่จะเข้ามาแก้ไขกรุงเทพมหานคร

1. เวลาพูดถึงปัญหาของกรุงเทพมหานคร คนก็มักจะพูดถึงรายประเด็น จริง ๆ ปัญหาใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คนกรุงเทพฯเหมือนเป็นผู้อยู่อาศัย ที่ไม่มีอำนาจ พอมีปัญหาอะไรก็ต้องไปอ้อนวอนร้องขอ แล้วปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ที่รออยู่หน้าปากซอย ตั้งแต่ขยะ น้ำท่วมทางเท้า ความปลอดภัยในการเดินทาง ปัญหาเรื่องอาชญากรรม มันเหมือนเดิม ๆ ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือคนกรุงเทพฯไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ รู้สึกเป็นเพียงผู้อาศัย ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา

 

 

2. กรุงเทพฯไม่ใช่รัฐบริการ แต่เป็นรัฐราชการ เรื่องนี้เรื่องใหญ่ พอกรุงเทพมหานครขาดธรรมาภิบาล แทนที่ข้าราชการจะทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน แต่เขาคิดว่าทำรับใช้ประชาชนไม่ทำให้เขาก้าวหน้า แต่การรับใช้ผู้มีอำนาจจะทำให้เขาเติบโต เพราะอยู่ในระบบที่ขาดธรรมาภิบาลเกือบ 10 ปี ทำให้ข้าราชการแทนที่จะทำงานให้กับประชาชน กลับต้องทำตามคำสั่ง ตามใจผู้มีอำนาจ และที่ซ้ำร้ายข้าราชการที่ทำงานด้วยความตั้งใจ กลัวที่จะถูกจับผิด กลัวคู่แข่งขันที่ต้องการจะเติบโต ข้ามหัว ข้ามตำแหน่ง ที่คอยจับผิดใส่ร้าย การจับผิดง่ายที่สุดคือการกล่าวหาว่าผิดระเบียบโน่น นี่ นั่น ราชการรวมศูนย์จึงเกิดขึ้นมา เพราะกลัวว่าตัวเองต้องผิด ก็เลยไม่ทำอะไรเลย ไม่เคยคิดจะทะลุโจทย์ บอกปัดประชาชน ดังนั้นสองเรื่องมารวมกันกรุงเทพมหานครจึงกลายเป็นรัฐรวมศูนย์ ที่คอยระแวง และนำระเบียบ อุปสรรคมาบอกปัดการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ตรงนี้ข้าราชการทั้งหมดมีความรู้สึกต้องการรับใช้ประชาชน แต่ผู้ว่าต้องคืนระบบธรรมาภิบาลให้กับการบริหารงานกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนที่ตั้งใจทำงาน ต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้มีโอกาสเติบโต และเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าเวลาเจอปัญหา ให้เอาปัญหา ประชาชนเป็นตัวตั้ง ต้องนำข้อติดขัดไปแก้ไขให้ได้

 

3. กรุงเทพฯควรมีสวัสดิการที่ดีกว่านี้ มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีกว่านี้ คนที่อยู่ด้วยความหวาดระแวงเรื่องความมั่นคงของชีวิต คุณภาพชีวิต ทำให้ไม่กล้าวิ่งตามฝัน ดังนั้นจึงคิดที่จะนำเอาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาเติมสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และคนพิการ สำหรับผู้สูงอายุ คนในวัยทำงานที่กำลังเผชิญ Mid Life Crisis เป็นภาวะวิกฤตในช่วงวัยกลางคน ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เขาก็ทำงานได้อย่างทุ่มเท วิ่งตามฝัน และทำให้เขามั่นใจว่าเมื่อเขาแก่ลงนครแห่งนี้ก็จะดูแลเขาดียิ่งขึ้น เพราะว่าสวัสดิการเราตั้งต้นถูกต้อง ผู้ว่าฯคนต่อ ๆ มาไม่กล้ายกเลิก เขาก็จะได้สวัสดิการที่ดี และสามารถวิ่งตามแรงฝันได้อย่างสุดแรงเกิด

4. การจัดสรรงบประมาณไม่เป็นธรรม ไม่เห็นหัวประชาชน ตัวอย่างเช่น งบประมาณของช่องนนทรี 580 ล้านบาท แต่งบประมาณที่ขอเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ถูกตัดเหลือ “0” งบประมาณทำอุโมงค์ยักษ์ปีละ 2,000 ล้านบาท แทบไม่ตัดเลย แต่งบประมาณที่จะไปดูแลสถานีสูบน้ำขอไป 5,000 ล้านบาท ตัดเหลือ 136 ล้านบาท งบประมาณที่จะทำเขื่อนป้องกันน้ำเข้าบ้านเรือนคน 3,800 ล้านบาท ตัดเหลือ 600 ล้านบาท การจัดสรรงบประมาณมีแต่การประเคนให้กับผู้รับเหมา โดยที่ไม่สนใจชีวิตของคนจริง ๆ ที่อยู่ในตรอกในซอย

5. การตีความเมืองน่าอยู่ที่ไม่เหมือนกัน เมืองสวยไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ท่าเตียน ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ถูกทาด้วยสวย แต่ถ้าเรายอมรับกันตรง ๆ ผู้คนมันหายไป กิจกรรมร่วมสมัย วิถีชุมชนมันหายไป เป็นเมืองที่ไม่มีชีวิต เป็นเมืองที่กำลังจะตาย เมืองคือพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมสมัยของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย เมืองที่ไม่มีผู้คนมันจะแตกต่างอะไรกับไซต์ก่อสร้าง บ้านจัดสรรใหม่ที่ยังไม่ได้ขาย ปัญหาใหญ่ของเราคือการคืนเมืองที่มีชีวิตให้ได้ คืนเมืองที่มีความหวังที่ทุกคนมีโอกาสจะตั้งตัวได้ มีชีวิตที่ดีได้ ทั้งหมดนี้คือรากปัญหาใหญ่ที่เราจะเข้าไปดูแล

 

นโยบายแรกที่จะทำเมื่อเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ

สิ่งแรกที่จะทำคือการแก้ไขปัญหาความกังวลเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ปัญหาหลักคือการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เห็นบันทึกการประชุมเลยว่าเงื่อนไขการต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวเป็นอย่างไร ผมใช้สิทธิพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารขอไป ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ ขนาดสิทธิที่จะรู้ยังไม่รู้ แล้วจะแก้ปัญหาค่าโดยสารซ้ำซ้อนได้อย่างไร ถ้าหากเห็นรายละเอียดของสัญญาก็จะทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหาของเราเข้าสู่ความเป็นจริงมากที่สุด การเข้าไปเป็นผู้ว่าฯคือการอาสาแก้ปัญหาที่ชาวกรุงเทพฯแก้ไม่ได้ เช่น ปัญหาโรงกำจัดขยะที่ศูนย์อ่อนนุช เขตประเวศ ที่สร้างปัญหากลิ่นขยะที่แรงมาก ๆ จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นหลักแสนคน เรื่องนี้ผู้ว่าฯต้องมีความกล้าหาญที่จะแก้ กติกาต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม เช่นการที่คนกรุงเทพฯต้องเห็นพื้นที่ใจกลางเมืองต้องล้อมรั้วลวดหนาม มาปลูกกล้วย ปลูกมะนาว เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีที่ดิน สิ่งเหล่านี้ผู้ว่าฯต้องกล้าที่จะแก้ ส่วนเรื่องอื่นที่จะต้องเร่งแก้ตามคือ เดือนพฤษภาคมจะเข้าหน้าฝน ผู้ว่าฯก็ต้องเร่งจัดการเพื่อทุเลาปัญหาน้ำท่วมขัง ต้องไปดูงบกลางเหลืออยู่เท่าไหร่ สามารถที่จะนำไปบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำหรือระบบในการระบายน้ำให้มีความพร้อมได้ไหม เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่จะต้องเร่งดำเนินการ

การพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งความยั่งยืนจะดำเนินการอย่างไร

ความยั่งยืนคือเมืองที่มีความเป็นธรรมสำหรับทุกคน ถามว่าถ้าเมืองนี้มีกติกาที่ไม่เป็นธรรม เป็นเมืองที่ต้องเว้นวรรคให้กับเครือข่ายนายทุนอุปถัมภ์ เว้นวรรคให้กับกลุ่มอภิสิทธิชนบางกลุ่ม อย่างนี้เรียกว่าความไม่ยั่งยืน ความยั่งยืนคือเมืองที่ให้โอกาสการตั้งตัวให้กับทุก ๆ คนได้อย่างเสมอภาคกัน ผมคิดว่าเมืองที่คนเท่ากัน และการปรับกติกาต่าง ๆ ที่สมเหตุสมผล

การบริหารเมืองไม่ใช่แค่ทำงานเหมือนบริษัทเอกชน เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นก็จะคำนึงถึงแต่เรื่องการจัดการเพียงอย่างเดียว แต่การบริหารเมืองต้องมีมิติมากกว่านั้น เมืองที่เป็นธรรม เมืองที่เท่าเทียมกัน หมายถึงการจัดสรรงบประมาณที่เฉลี่ยและกระจายกันอย่างทั่วถึง การออกข้อบัญญัติต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ค่าขยะ ปทุมวันเก็บได้ 11 ล้านบาท ในขณะที่คลองสามวาเก็บได้ 14 ล้านบาท บึงกุ่ม 16 ล้าน ปรากฏการณ์นี้เกิดอะไรกับเขตปทุมวันที่เป็นศูนย์กลาง เป็นพื้นที่ที่มีห้างใหญ่ สิ่งนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะเราต้องนำภาษีของเราไปแบกค่าการจัดการขยะให้กับนายทุน ทั้ง ๆ ที่เขาสามารถช่วยเรื่องการจัดการด้านขยะได้ดีกว่าในพื้นที่อื่น ๆ เมื่อกติกาไม่เป็นธรรม ก็ไม่เป็นแรงจูงใจให้ห้างใหญ่แยกขยะ ร่วมจัดการขยะ การบริหารกรุงเทพมหานครเพื่อความยั่งยืนจะคิดแค่การจัดการไม่ได้ การจัดการที่ต้องเว้นวรรคให้กับเครือข่ายอุปถัมภ์ โดยที่ไม่แตะต้องเครือข่ายเหล่านี้ จะแก้ปัญหาได้อย่างไร Good Management ที่ไม่อยู่ภายใต้ Good Governance ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้

จุดเด่นที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น การบริหารจะมองแค่การจัดการไม่ได้ เพราะการบริหารเมืองที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เงื่อนไขที่กระอักกระอ่วน เงื่อนไขที่ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ เราจำเป็นต้องบริหารเมืองให้ทุกคนมีความเสมอภาค จุดแข็งของผมคือการทำงานแบบตรงไปตรงมา นายทุนอุปถัมภ์ เครือข่ายอุปถัมภ์ทั้งหมดไม่เคยมีบุญคุณกับผม ทำให้กล้าที่จะทำงานแบบตรงไปตรงมา ท่ามกลางความขัดแย้งที่ประชากลุ่มใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ในการทำงานของผม ผมจะไม่มีวันอ้างความเป็นกลาง ไม่อยากจะยุ่งกับความขัดแย้งแล้วลอยตัวเหนือปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นการทอดทิ้งประชาชน ผมหากได้รับการเลือกตั้ง ถือว่าได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชน จึงพร้อมที่จะยืนเคียงข้างประชาชน ปกป้องผลประโยชน์ให้กับพวกเขาในฐานะที่เขาเลือกเรามา

มีแนวโน้มว่าสภากรุงเทพมหานครต้องมาจากหลากหลายที่ ถือเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่

ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่กลับมองเป็นจุดแข็ง ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้รับคำชื่นชมว่าทำหน้าที่ปกป้องภาษีของราษฎร ได้อย่างเข้มแข็ง นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะยกระดับสภากรุงเทพมหานครในการปกป้องเงินภาษีและงบประมาณของคนกรุงเทพมหานคร และดูแลอย่างโปร่งใสที่สุด ผู้ว่าฯคือผู้ขับเคลื่อนนโยบาย แต่คนที่ดูแลงบประมาณคือสภากทม. ผู้ว่าฯที่ไม่มีสมาชิกของสภากทม. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ ดังนั้นสก.จึงเป็นหน่วยงานที่จำเป็นมาก ๆ เพราะดูแลกระเป๋าเงินของคนกรุงเทพฯ ถ้าเราได้สก.ไม่ดี เงินภาษีของเราก็ถูกนำไปผลาญกับโครงการที่สูญเปล่า สุรุ่ยสุร่าย ไม่ก่อประโยชน์ ยังไม่นับถึงปัญหาคอรัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่

นอกจากนี้สก.ยังมีหน้าที่ในการออกบัญญัติต่าง ๆ เพื่อมาบังคับใช้คนกรุงเทพฯ ถ้าหากสก.เป็นของพรรคก้าวไกล และผู้ว่าฯก็มาจากก้าวไกลก็จะยิ่งผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้

 

 

สิ่งแรกที่จะทำเมื่อเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

เมื่อเข้ามาบริหารกทม.ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังจะเข้าฤดูฝน ดังนั้นการเตรียมการต่าง ๆ เพื่อตั้งรับกับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเป็นความจำเป็น ผมคิดว่าอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 4-5 อุโมงค์ในกทม.เพียงพอแล้ว สิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการคือการไปจัดการกับเส้นเลือดฝอยต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวระบายส่งน้ำเข้าสู่เส้นเลือดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ เริ่มต้นจากการจัดสรรงบประมาณใหม่เพื่อไปดูตามคูคลองต่าง ๆ สถานีสูบน้ำ ทำเขื่อนป้องกันน้ำเข้าสู่ชุมชน ดูแลบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำต่าง ๆ ให้ทำงานมีประสิทธิภาพ เตรียมเรื่องไฟสำรองในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น.