มีความมุ่งมั่น ความพร้อม ที่จะใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเมือง บริการประชาชน

by วันทนา อรรถสถาวร , 14 เมษายน 2565

“ตำแหน่งผู้ว่ากทม. เป็นตำแหน่งเฉพาะทาง ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมืองจ๋า แต่เป็นตำแหน่งที่เราต้องบริหารเมืองอย่างจริงจัง ผมมีความพร้อม และจะใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเมือง บริการประชาชน” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ชาวกรุงเทพฯผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ข้อมูลถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,374,131 คน ได้มีโอกาสตัดสินใจคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงเพื่อมาบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคน เป็นเมืองหลวงของไทย และเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของโลก

วันนี้ Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 จากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมาเล่าถึงเหตุผลในการสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เป้าหมายและนโยบาย เชิญติดตามได้เลยค่ะ

แรงจูงใจที่ทำให้ท่านลงสมัครในครั้งนี้

มีความมุ่งมั่นมา 30-40 ปี ตั้งแต่เรียนวิศวะฯปี 3,4 เรื่องการแก้ปัญหาด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน ได้มีโอกาสออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และได้ไปมอบให้กับอาจาร์ กฤษดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ในวันนั้นเป็นความประทับใจ อาจารย์กฤษดา ออกใบรับรองไปศึกษาต่อปริญญาโท เอก ที่สถาบัน MIT และมีความผูกพันอยากจะมาแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ก็ได้ทำงานให้กทม.มาโดยตลอด ตั้งแต่งานด้านวิศวกรรม ปัญหาของเมืองเรื่องวิศวกรรมก็จะเห็นผมออกมาช่วยอยู่บ่อย ๆ

 

 

นอกจากนี้ในเส้นทางบริหาร ก็ได้มีโอกาสบริหารสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ ตลอดจนทำงานวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ ทำงานวิจัย นอกจากนี้ยังมีโอกาสบริหารการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากองค์กรที่ทำงานอยู่ได้ประสบปัญหาวิกฤตอย่างหนัก ก็สามารถก้าวผ่านมาได้ และทำให้องค์กรรู้จักในระดับชาติ และนานาชาติ วันนี้มีความรู้ มีความพร้อม มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจอย่างยาวนานอยากจะทำงานนี้จริง ๆ จึงมาสมัครในครั้งนี้ เพราะว่าตำแหน่งผู้ว่ากทม. เป็นตำแหน่งเฉพาะทาง ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมืองจ๋า แต่เป็นตำแหน่งที่เราต้องบริหารเมืองอย่างจริงจัง ผมมีความพร้อม และจะใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเมือง บริการประชาชน

ท่านคิดว่าปัญหาของกรุงเทพฯที่สำคัญมีอะไรบ้าง

ปัญหากรุงเทพมหานครหนักหนากว่าที่คิด ปัจจุบันปัญหาที่หนักหน่วงมากที่สุดคือปัญหาโควิด มีคนติดมากจริง ๆ ตัวเลขที่เราเห็นประมาณ 20,000 - 30,000 คน ความเป็นจริงมันมากกว่านั้น ปัญหาแรกที่จะทำหากได้รับเป็นผู้ว่าฯกทม.คือการลุยไปแก้ไขปัญหาเรื่องโควิดอย่างจริงจัง

 

2. เรื่องเศรษฐกิจ คนตกงานเยอะมาก เดินไปไหนมันเฉา ตลาดนัดเคยบูมก็เฉา เฉาไปหมด เรื่องเศรษฐกิจของคนกรุงเทพฯเป็นเรื่องใหญ่ และมีความเชื่อมโยงกับเรื่องโควิด เพราะว่าการติดโควิดมักติดพันกันในครอบครัว ทำให้ต้องอยู่ในช่วงกักกันมากกว่า 10 วัน บางครอบครัวเป็นเดือน เพราะติดวนกันไปในสมาชิกของครอบครัว ทำให้ไม่ได้รายได้ โดยเฉพาะในย่านที่เป็นชุมชนหนาแน่น หาเช้ากินค่ำ ตั้งใจจะทำกองทุนจ้างงานชุมชนเฉลี่ย 600,000 บาทต่อชุมชน จะสามารถจ้างงานได้มากกว่า 50,000 อัตรา ทำให้เขาดูแลตัวเองได้ ทำให้เขาได้ทำงานในสิ่งที่ชุมชนต้องการ เป็นมือเป็นไม้ให้กทม. ตั้งแต่งานดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ดูแลผู้ป่วยโควิด งานพัฒนาชุมชน งานทำความสะอาด งานเกี่ยวกับความปลอดภัย

3. ปัจจุบันนี้ไม่มีคลองน้ำดีในกรุงเทพฯอีกแล้ว แม้แต่ฝั่งธนฯ น้ำเน่าทั่วกรุงเทพฯ เราไม่มีมรดกทางธรรมชาติส่งให้ลูกหลาน จะเข้ามาแก้ไขในส่วนนี้

 

4. ปัญหาเรื่องเด็กเล็กในชุมชนกทม. ไม่ได้อาหารหลัก 5 หมู่ ค่าอาหารต่อหัว 20 บาท ทำให้การปรุงอาหารเพื่อแจกจ่ายให้กินในสถานรับเลี้ยงเด็กไม่เป็นตามหลักโภชนาการ ปัญหาอนาคตเด็กเล็กในกทม.เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สาหัส

5. ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในกทม.ไม่มีจริง ๆ ในกรุงเทพฯมีหลายจุดที่ไฟไม่สว่าง พื้นทางเดินไม่สะดวก บางแห่งเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายดาย กรุงเทพฯไม่ได้เท่าเทียมกันจริง ๆ สิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นเรื่องที่เท่าเทียมกันของคนกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะที่ไม่ได้รับการดูแล เข้าถึงไม่ได้ ฟุตบาธที่อยู่นอกเมืองไม่ได้รับการดูแล ส่วนใหญ่มักดูแลในใจกลางเมือง ในขณะที่รอบนอกมีผู้สูงอายุมาก ไม่ว่าจะเป็นมีนบุรี สุขสวัสดิ์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ปัญหาบนท้องถนนมีมากมาย

นโยบายหลัก ๆ ที่ท่านจะดำเนินการเมื่อมาเป็นผู้ว่าฯกทม.

ปัญหากทม.มีมาก ต้องทำงานร้อยอย่างในเวลาเดียวกัน ทั้งงานประจำ แต่ผู้ว่าฯกทม.ต้องทำงานเหนือกว่างานประจำ เป็นงานที่โฟกัส ในเดือนแรกของโฟกัสเรื่องโควิด อสส.จะได้รับการอบรมที่ดีกว่านี้ มีเครื่องมือมากกว่านี้ มีแพทย์ประจำศูนย์สาธารณสุขชุมชนมากกว่านี้ เติมเครื่องมือแพทย์ที่ไทยทำเองลงสู่ชุมชน ให้มีเครื่องช่วยหายใจ เครื่องไฮโฟร์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งหมอมีน้อยมาก จะเติมหมอลงไป 3 วันต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย เพื่อดูแลโรคผู้สูงอายุที่มีจำนวนมาก และเป็นกลุ่มเปราะบาง เพิ่มบทบาทให้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดทั้งในบทบาทของศูนย์คัดแยก และเป็นพื้นที่รองรับเตียงสนาม นอกจากนี้ระบบการสื่อสารที่ผ่านทางโทรศัพท์ต้องรวดเร็วกว่านี้ ลดความยุ่งยากให้เหลือน้อยลงมากกว่านี้


ส่วนนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนกรุงเทพฯคือการตั้ง WIFI 150,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ เป้าหมายคือกรุงเทพฯต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ต้นแบบของอาเซียนให้ได้ สวัสดิการทุกคนต้องเข้าถึง เท่าเทียม เริ่มต้นที่อินเทอร์เน็ต 150,000 จุด ๆ ละ 1,000 เมกต์ ชีวิตคนกรุงเทพฯเปลี่ยน นโยบายนี้ไม่ใช่ประชานิยม เพราะว่าหนึ่งกทม.จ่ายได้ เราคำนวณมาแล้ว สองลดค่าใช้จ่าย สร้างโอกาสให้เด็กที่เรียนออนไลน์ ช่วยคนทำงานที่บ้าน ช่วยผู้สูงอายุในเรื่องของการติดต่อหมอฉุกเฉิน แพทย์ทางไกล กทม.ก็ได้ใช้ ถ้าหากมีอินเทอร์เน็ตกล้อง CCTV ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯจะกลายเป็นกล้อง WIFI ทำให้คนกรุงเทพฯปลอดภัย สั่งการเปิดปิดไฟได้ มีเวลามีจุดผิดสังเกตก็มีแสงและเสียงเตือน กล้องปัจจุบันมีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก แต่ราคาถูก นอกจากนี้ยังเป็นกล้อง WIFI ที่ช่วยอำนวยเรื่องการจราจร ในอนาคตระบบการเปิดปิดสัญญาณไฟจราจรจะปลอดภัยและแม่นยำยิ่งขึ้น ประสานกับการเปิดปิดอัตโนมัติแบบ AI

 

 

เรื่องต่อมาที่จะแก้ไขคือเรื่องน้ำท่วม ที่ผ่านมาใช้คนไปเปิดปิดระบบเครื่องสูบน้ำ แต่ถ้าใช้ระบบ WIFI ทั่วกรุงเทพฯ ระบบที่จะควบคุมการเปิดปิดเครื่องสูบน้ำ ประตูน้ำจะเป็นอัตโนมัติ สามารถทำงานสอดประสานได้ทันที นอกจากนี้ระบบ WIFI ฟรีจะทำให้การบริการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงสำนักงาน ทุกอย่างจะขึ้นมาอยู่บนระบบโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้ประชาชนสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ผู้ว่าฯตามงานได้ ลดปัญหาคอรัปชั่นได้ กรุงเทพฯจะเปลี่ยนได้ต้องมีผู้นำที่รับใช้ประชาชนและใช้เทคโนโลยี

จุดเด่นของท่านคืออะไร

ผมจะใช้เทคโนโลยีแก้ไขปัญหาซ้ำซากของประชาชนและให้บริการประชาชนให้อยู่ในกรุงเทพฯอย่างมีความสุขและปลอดภัย

พรรคจะมีส่วนสนับสนุนท่านอย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาสผมในฐานะเป็นคนหน้าใหม่มีสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ให้อิสระเรื่องวิสัยทัศน์ กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองที่สวัสดิการทันสมัยต้นแบบของอาเซียน และให้อิสระเรื่องนโยบาย เปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก อีกส่วนหนึ่งผู้ว่าฯกทม.ทำงานคนเดียวไม่ได้ นโยบายดี นโยบายเด่นเพียงใดต้องได้สก.สนับสนุน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ผ่านสภากทม. สก.ประชาธิปัตย์เป็นคนที่ประชาชนเข้าถึงได้

 

 

ท่านมีนโยบายเพื่อความยั่งยืนของกรุงเทพมหานครอย่างไรบ้าง

1.ความยั่งยืนที่จะส่งมอบให้กับคนรุ่นต่อไปคือการศึกษา และสิ่งแวดล้อมที่ดี เรื่องแรกตั้งใจให้กรุงเทพฯเป็นเมืองต้นแบบด้านการศึกษา ที่ผ่านมาโรงเรียนกทม.ไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ตนเองเป็นคนที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษามาตลอด ตั้งใจจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองการศึกษา อย่างน้อย 50 เขต ประชาชนสามารถส่งลูกเรียนใกล้บ้านได้ ตั้งใจจะมีโรงเรียน 50 โรงใน 50 เขต ดูแลตั้งแต่ก่อนอนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ให้จบในตัว และเป็นโรงเรียนที่วิชาการโดดเด่น แต่ต้องมีวิชาสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้วย มีภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 ผมมั่นใจว่าทำได้ เคยทำมาแล้ว เป็นสิ่งที่ยั่งยืนจริง ๆ

2. ปัญหาเรื่อง PM2.5 จะประกาศสงครามกับปัญหามลพิษฝุ่นในกรุงเทพฯ ควบคุมการก่อสร้างของอาคาร ถนนที่มีควันดำ อยากแก้ไขปัญหาน้ำเน่าให้เป็นน้ำดี

ไม่อยากให้คนกรุงเทพฯคิดว่าทำไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ด้วยความหวัง ปัญหาเมืองใหญ่ของเราในขณะนี้ มหานครระดับโลกเคยเจอมาหมดทั้งสิ้น ทุกวันนี้เขาทำได้ ของเราก็เปลี่ยนได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำ.