“จากการหาเสียงทำให้เห็นว่าการเมืองในระดับเมือง เป็นสิ่งที่เราทำได้ ทีมมีแนวคิดจะทำให้เมืองดีขึ้นจึงอาสา”

by วันทนา อรรถสถาวร , 17 เมษายน 2565

“การทำงานในระดับเมือง เราคิดว่าทำได้ เรากับทีมจึงมีแนวคิดที่จะทำให้เมืองดีขึ้น ผมมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือร่วมใจ ร่วมกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน จึงมาอาสาแก้ไขปัญหา”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ชาวกรุงเทพฯผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ข้อมูลถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,374,131 คน ได้มีโอกาสตัดสินใจคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงเพื่อมาบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคน เป็นเมืองหลวงของไทย และเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของโลก

วันนี้ Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 เพื่อมาเล่าถึงเหตุผลในการสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เป้าหมายและนโยบาย เชิญติดตามได้เลยค่ะ

แรงจูงใจที่ทำให้ท่านลงสมัครในครั้งนี้

ช่วงเลือกตั้งปี 2562 ผมเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีโอกาสลงไปหาเสียง และทำให้ผมและทีมงานเห็นปัญหาของกรุงเทพฯซึ่งเป็นมหานครใหญ่และคิดว่าเราสามารถที่จะเข้ามาแก้ไขได้ นอกจากนี้โจทย์การเมืองท้องถิ่นไม่น่ายากเหมือนโจทย์การเมืองใหญ่ เพราะการเมืองใหญ่มีความขัดแย้งมากกว่าการเมืองในระดับเมือง เป็นระดับที่เราทำได้ และเป็นจังหวะที่ต่อเนื่องกัน เรากับทีมมีแนวคิดที่จะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองดีขึ้นได้ อยากจะมาลองอาสาสมัครดู

ท่านคิดว่าปัญหาของกรุงเทพฯที่สำคัญมีอะไรบ้าง

นโยบายที่สำคัญที่สุดของเราคือ 9 ดี 9 ด้าน Vision ที่สำคัญของเราที่สุดคือ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก แต่ในความเป็นเมืองน่าอยู่เราได้ลำดับที่ 98 จาก 140 กรุงเทพฯจึงกลายเป็นเมืองน่าเที่ยวเพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าตื่นเต้น แต่พอมาอยู่ก็กลายเป็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ให้เราอยู่อย่างไม่สบายนัก

 

 

การทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ก็มีอยู่ 9 ด้านที่นำมาจาก index ของ EIU วัดความน่าอยู่ของเมืองทั่วโลก มี 30 ตัวชี้วัด 5 ด้าน เราทอนมาเป็น 9 ด้าน เริ่มจากปลอดภัยดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี อากาศดี พื้นที่สีเขียว ขยะกำจัดได้ดี เรียนดี บริหารจัดการดี เดินทางดี สะดวกไม่ต้องเสียเวลาบนท้องถนนนาน โครงสร้างพื้นฐานดี ระบายน้ำดี ถนนหนทางเดินทางปลอดภัย เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี

1.เริ่มจากปัญหาเรื่องการจัดการ เรื่องความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่มีความล่าช้าในด้านการบริหารจัดการ
2. สิ่งแวดล้อมมีปัญหา เรื่องอากาศเป็นพิษ น้ำเสีย ขยะ
3. เรื่องความปลอดภัย ชีวิตคนกรุงเทพฯไม่ค่อยปลอดภัย ถนนหนทางเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายทำให้เรากังวล
4. เรื่องการเดินทาง เรากลัวว่ารถติด การเดินทางไม่สะดวก
5. เศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้คนกรุงเทพฯมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมาก จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร็ว

ผมขอยกตัวอย่างปัญหาจราจรซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ 1 ในนโยบายกว่า 200 ข้อของผมคือรถไฟฟ้า BRT รถประจำทางที่มีช่องทางเดินรถเป็นของตัวเองบางช่วงถนน ให้บริการเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีตลาดพลู และสถานีช่องนนทรี มีผู้โดยสารทั้งปี 2563 ประมาณ 3,000,000 เที่ยวคน BRT เป็นโครงการที่ถูกถามถึงความคุ้มค่าตั้งแต่เปิดให้บริการ ข่าวการขาดทุน ข่าวการหยุดให้บริการ มีออกมาเป็นระยะ แต่ปัจจุบันยังคงให้บริการอยู่ หลายคนยังเห็นความจำเป็นของการมี BRT แต่อีกหลายคนก็เห็นว่าควรจะคืนช่องทาง BRT ให้กับรถยนต์ทุกคัน เพื่อลดความหนาแน่นบนผิวถนนลง

ดังนั้นผมคิดว่า กทม.จะต้องพิจารณาความคุ้มค่าของ BRT ว่าควรดำเนินการต่อหรือไม่ หากยังเหมาะสมที่จะดำเนินการต่อควรมีการดำเนินการอย่างน้อย เช่น เพิ่มความถี่ในการเดินรถ, เพิ่มรถเพื่อเพิ่มความถี่ เพื่อลดความหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน, เพิ่มสถานีโดยใช้ทุนน้อยกว่าปัจจุบัน ออกแบบให้เหมาะสมและไม่มีขนาดใหญ่,เพิ่มรถและปรับรูปแบบเป็นรถชานต่ำ

 

 

ส่วนการเดินทางทางเรือ ตามแผนโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ (W-Map) ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานถึงคลองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเส้นทางเดินเรือกว่า 30 คลอง ระยะทางกว่า 400 กม. แต่ทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีการเดินเรืออย่างเป็นกิจจะลักษณะเพียง 4 สายเท่านั้น ได้แก่ 1. แม่น้ำเจ้าพระยา (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือโดยสาร MINE เรือเอกชนท่าสาทร - บิ๊กซี ราษฎร์บูรณะ และเรือข้ามฝาก) 2. คลองแสนแสบ 3. คลองผดุงกรุงเกษม 4. คลองภาษีเจริญ (ปัจจุบัน กทม.เคยเดินเรือตั้งแต่ปี 2560 ได้ยกเลิกการให้บริการไปในช่วงต้นปี 2565)

ดังนั้นนโยบายที่จะเสนอคือ พิจารณาทบทวนเส้นทางเดิมหรือเพิ่มเส้นทางเรือโดยสารในเส้นทางที่เหมาะสม โดยให้บริการด้วยเรือไฟฟ้าที่ไม่ก่อมลพิษอากาศและทางเสียง ติดตามตำแหน่งเรือแบบเรียลไทม์ พัฒนาท่าเรือให้ออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รวมถึงการพัฒนาทางเข้าทางออกให้ เข้าสะดวก ออกสบาย เชื่อมต่อปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายผู้โดยสารที่ใช้บริการเรือ กทม. และต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ กทม.เป็นเจ้าของ โดยไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าเพิ่ม รวมถึงพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ e-ticket ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่เสียค่าโดยสารเพิ่มหรือไม่เสียค่าแรกเข้าซ้ำ เป็นต้น

 

 

มีนโยบายในการสร้างความยั่งยืนให้กับกรุงเทพมหานครอย่างไร

จะสร้างความยั่งยืนได้ต้องเน้นคนเป็นที่ตั้ง เพราะเมืองคือคน หัวใจสำคัญของความยั่งยืนคือคุณภาพชีวิต นโยบาย 9 ด้านที่เราประกาศไว้ หากนำมาปฏิบัติให้ครบด้านแล้ว ทำให้เมืองมีความยั่งยืนขึ้น แต่ถ้าพูดถึงหลักความยั่งยืนจริง ๆ คือการไม่สร้างภาระให้กับคนอนาคต ตั้งแต่การใช้สิ่งแวดล้อม ต้องผลักดัน 9 เรื่องไปพร้อม ๆ กัน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่เราต้องชู เช่นปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจก โลกร้อน ถ้าเราไม่แก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ เมืองก็ยากที่จะยั่งยืน กทม.เราปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านตันต่อปี มาจากขนส่ง 29% มาจากการใช้พลังงาน 61% เรื่องขยะน้ำเสียที่ปล่อยก๊าซมีเทน 10% เราหักลบ 1% จากการปลูกพื้นที่สีเขียว ถ้าเราต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราก็ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ใช้พลังงานให้น้อยลง ไม่ให้กรุงเทพฯเป็นตัวดูดความร้อน ทำให้มีพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้คลุมอาคาร ลดการใช้พลังงานในอาคารลง

ถ้าอยากลดก๊าซเรือนกระจกจากขยะก็ต้องมีการแยกขยะ บริหารการจัดการขยะให้ดี ดูน้ำเสียให้ดี ต้องปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นเพื่อดูดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องทำนโยบายทั้ง 9 ด้านของเราให้ผลักดันไปพร้อม ๆ กัน

สิ่งแรกที่ท่านจะดำเนินการเมื่อเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯมีข้าราชการประมาณ 80,000 คน มีงบประมาณ 80,000 ล้านบาท มี 16 สำนัก มี 50 เขต มีประชากรที่เราต้องดูแลตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ 5 ล้านคน แต่ถ้ารวมประชากรแฝงก็ประมาณ 10 ล้านคน จากนโยบายหลัก 9 ด้านของเรา ทีมเรามีนโยบายย่อยกว่าอีก 200 เรื่อง เรามองว่าทุกเรื่องจะต้องดำเนินทันทีในวันแรก เราคิดแล้วว่า 200 กว่าเรื่องต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กันทีเดียว กทม.มีหลายหน่วยงาน มีทั้งสำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการศึกษา สำนักการจราจร ขนส่ง ทุกนโยบายที่เราเขียน ทำให้ทุกคนสามารถเดินก้าวได้ทันที แล้วไปแตะกับชีวิตของทุกคน ตัวอย่างเช่น เรามีเป้าหมายว่าจะปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ฉะนั้นในสัปดาห์แรกเราให้แต่ละเขตไปปลูกต้นไม้เขตละ 100 ต้น 1 ปีได้ 250,000 ต้น 4 ปีได้ 1 ล้านต้น โครงการที่เราจะคืนครูให้กับนักเรียนก็ต้องเริ่มเลย เริ่มขบวนการลดภาระสำหรับครู แล้วคืนครูให้กับนักเรียน

 

 

เราจะทำรถเมล์ให้กับคนกรุงเทพฯวันแรกก็ต้องทำเลย ตรงไหนขาดจุดเชื่อมต่อ และเริ่มวางแผนรถเมล์เลย ทุกอย่างสามารถเริ่มได้เลย ถ้าเรามีรายละเอียด ตัวอย่างเช่น จากการลงสนามของเราทำให้เราเห็นว่าเด็กกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น เราจำเป็นต้องสร้างสนามกีฬา สระว่ายน้ำ ครูสอนว่ายน้ำกระจายอย่างทั่วถึง เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสในราคาที่ถูก หรือในกรณีที่เราต้องการจะทำ Tele Med หรือหมอทางไกล มีรถที่เชื่อมต่อกับหมอได้ คนไม่ต้องไปหาหมอ คนอยู่ที่บ้าน มีรถไปตรวจ โครงการลักษณะนี้เราได้มีต้นแบบเคยทดลองทำแล้ว สามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอ แต่ถ้าเราบอกว่ารออีก 6 เดือนมาศึกษาก่อน ทำทีละเรื่องเวลาที่มีค่าก็เสียไป แต่ถ้าหัวใจเรามีความพร้อมที่จะเริ่มหลายโครงการ นับหนึ่งได้ทันทีเลยครับ นอกจากนี้ด้านการบริหารจัดการ เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การเปิดเผยข้อมูลกรุงเทพฯ การลดขั้นตอนการบริการประชาชน พวกนี้อยู่ใน 1 ของ 200 โครงการที่เราตั้งใจไว้ ผู้ว่าฯกทม.เหมือนคอนดักเตอร์ พอนับหนึ่งทั้งวงซิมโฟนี่ ก็สามารถบรรเลงได้เลย

ท่านตั้งเพื่อนชัชชาติขึ้นมาเพื่ออะไร นอกจากนี้ท่านเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่มีส.ก.อยู่ในมือจะเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่

เราสมัครในฐานะอิสระ ไม่มีพรรคหรือฐานการเมืองสนับสนุน และเราคิดว่ากรุงเทพฯจะทำให้ดีขึ้นมาได้ ต้องเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย แต่ละคนก็มีความรู้ มีจุดอ่อน จุดแข็งที่แตกต่างกัน มีคนมาสมัครประมาณ 10,000 คน คนเหล่านี้บางส่วนสมัครที่จะทำเป็นอาสาสมัครชุมชน ทำงานในส่วนของชุมชน บางคนเป็นอาสาสมัครเมือง ทำงานในส่วนของเมือง ทุกคนมาเพราะไม่อยากยุ่งกับการเมือง แต่อยากทำงานเมือง การที่เราเป็นกลุ่มอิสระก็ทำให้เราทำงานได้ดีกว่า เพราะหลายคนเบื่อการเมือง ไม่ชอบความขัดแย้งทางการเมือง แต่อยากทำงานเมือง แต่ตอนนี้ต้องหยุดกิจกรรมพวกนี้เพราะเข้าโหมดของการเลือกตั้งแล้ว

 

 

ส่วนคำถามที่ว่าผมเป็นผู้สมัครอิสระไม่มีการจัดส่งส.ก.ลงสมัคร แต่เนื่องจากระบบการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพฯ แยกออกจากกัน ดังนั้น ผู้ว่าฯกทม.ต้องตั้งสมมุติฐานว่าตัวเองจะอยู่ในกลุ่มฐานเสียงข้างน้อย สุดท้ายผู้ว่าฯต้องทำงานกับส.ก.ได้ เรามองส.ก.ไม่ใช่นักการเมือง เราต้องมองว่า ส.ก.คือคนที่ประชาชนเลือกมา ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ส.ก. และ ส.ก.ก็ต้องมองว่าเราก็เป็นคนที่ประชาชนเลือกมาเช่นกัน ทำงานด้วยกัน โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ที่ผ่านมากทม.ก็มีผู้ว่าอิสระมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ทำงานไม่มีปัญหา ที่ต่างประเทศ เช่น โตเกียว นิวยอร์กก็มีผู้ว่าอิสระ การทำงานก็ไม่มีปัญหา หน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.คือการรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ภาพของการเมืองใหญ่ที่ต้องมีอุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องอันนั้นต้องมีฐานเสียง

 

 

จุดเด่นของท่านคืออะไร

เราก็ทำงานมานาน ออกตัวมากว่า 2 ปีแล้ว หัวใจของการทำงานของเราคือ เราเข้าใจปัญหา เข้าใจจิตใจของประชาชน มองเห็นว่าพื้นที่แต่ละเขตปัญหาคืออะไร นอกจากนี้เราเป็นทีมงานที่เข้มแข็ง เรามีทีมงานหลากหลายด้าน เรามีทีมงานทั้งคนรุ่นใหม่ และคนที่เกษียณแล้ว มาช่วยกันหาคำตอบให้กับกรุงเทพฯ ต่อมาเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานจริง ๆ และความมุ่งมั่นนี่แหละที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้.