“ทีมไอทีอาสา” ของ “แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส” พัฒนาหลังบ้านไอทีให้ศูนย์นเรนทร ช่วยคนด้อยโอกาสด้านไอที

by วันทนา อรรถสถาวร / ภาพ: Kaki, 7 พฤษภาคม 2565

“แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส” ใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและไอทีรับใช้สังคม ตั้งทีม “ไอทีอาสา” พัฒนาระบบหลังบ้าน Home Isolation ให้ศูนย์นเรนทรและราชวิถี หนุนกีฬาฟุตบอลเยาชนด้อยโอกาส

 

ทุกวันนี้ ผู้บริโภคอยู่ท่ามกลางบริการของเทคโนโลยีอย่างมากมาย และเมื่อวิถี New Normal เข้ามา ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ นวัตกรรม IT เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคมากขึ้น

ทุกคนต่างก็ยอมรับว่าเทคโนโลยีด้าน IT และนวัตกรรมเป็นหนึ่งในกุญแจความสำเร็จของโลกอนาคต แต่การที่ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนกับเรื่องดังกล่าว นับเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องปรับรูปแบบการทำงาน การให้บริการของกิจการ สืบเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนสังคมให้เข้าสู่ยุค New Normal อันเป็นตัวเร่งที่สำคัญของการนำนวัตกรรมด้าน IT มาสนับสนุนระบบการทำงานของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 


คุณวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “Thaiquote” คอลัมน์ “CEO Vision” โดยกล่าวว่า จุดแข็งของบริษัทคือศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา Technology ต่าง ๆ ออกมา เพื่อมุ่งเน้นการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการให้สามารถพ้นจากวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ด้วยการนำ Technology มาช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาและดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถือเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบการ ในการนำเทคโนโลยีทางด้าน IT มาปรับตัวที่ให้เข้ากับยุค New Normal

บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล, IT Solution , E-commerce และระบบอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งได้รับความน่าเชื่อถือและยอมรับมานานกว่า 15 ปี

 

 


เมื่อ 15 ปีก่อน บริษัทเริ่มต้นธุรกิจจากการพัฒนาระบบเติมเงินมือถือ ออนไลน์ผ่านระบบแม่ข่าย (server) โดยดำเนินธุรกิจให้บริการ ระบบเติมเงินมือถือออนไลน์ทุกเครือข่าย, บริการจำหน่ายบัตรเกม / บัตรโทรศัพท์ บริการส่งข้อความ (SMS) โดยเชื่อมต่อผ่าน Partner ที่เป็น Operator รายใหญ่ ทั้ง AIS, DTAC , True และ TOT โดยดำเนินการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ บริการดังกล่าวได้ disrupt การทำธุรกิจแบบเดิม โดยอำนวยความสะดวกให้ร้านค้าปลีกทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องสต๊อกบัตรที่มีหลากหลายค่าย หลายราคา ผู้บริโภคก็ลดปัญหาการทำบัตรเติมเงินหายและได้รับบริการทันที ส่วนค่ายมือถือก็ลดต้นทุนในการผลิตบัตรและการกระจายสู่ร้านค้า และต่อมาก็ได้พัฒนาบริการเพิ่มเติมให้อยู่ในรูปของ ตู้อัตโนมัติ (Kiosk) เพื่อบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้บริการเป็น partner gateway เชื่อมต่อบริการระบบหลังบ้าน ให้กับอีกหลากหลายแบรนด์ของตู้เติมเงินมือถือ

จากนั้นในปี 2554 ได้พัฒนาแพลตฟอร์มตัวใหม่ “WeloveBooking” ขึ้นมาให้บริการ โดยจุดเริ่มต้นมาจากการให้บริการกับสโมสรฟุตบอลหลายแห่ง ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศไทย ค่อนข้างเป็นที่นิยมมาก จึงมีหลาย ๆ สโมสรต้องการพัฒนาระบบขายและบริหารจัดการตั๋วเข้าชมให้ง่ายและสะดวกเพื่อรองรับผู้เข้าชมจำนวนมาก จากนั้นบริษัทก็ได้ขยายฐานลูกค้าออกไปให้กับอีกหลากหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มพิพิธภัณฑ์ กลุ่มสถานที่ท่องเที่ยวและการเดินทาง กลุ่มกีฬาและสันทนาการ กลุ่มคลินิกและสปา เป็นต้น

ในระยะต่อมา จากการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้พัฒนาระบบให้ทำงานอยู่บน Cloud service ซึ่งก็ยิ่งทำให้สะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยังมีการพัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานใหม่ๆ ของ platform เพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าโดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบบริหารจัดการเอเย่นต์ (Agency Management) ระบบบริหารจัดการที่นั่ง (Seat Management) ระบบบริหารจัดการกิจกรรม (Event Management) ระบบบริหารจัดการสมาชิก (Member Management) เป็นต้น ทำให้เกิดการให้บริการแบบ B2B2B2C ได้สมบูรณ์แบบและทดแทนการใช้ Platform จากต่างประเทศได้ รวมถึงมีการพัฒนาแยกทั้งสำหรับให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ และ package เพื่อให้สามารถทำงานเหมาะกับธุรกิจ SME อีกด้วยเพื่อให้ SME ได้ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งยังเกิดการใช้งานครอบคลุมและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

บริษัทยังได้ให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบ บล็อกเชน (Blockchain) เพื่อนำไปใช้งานในรูปแบบงานการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability Platform) หรืออีกรูปแบบในงานที่ต้องการทำให้เอกสารข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ไม่ถูกปลอมแปลง (Blockchain Certificate Authority Platform) ซึ่งบริษัทได้เริ่มออกแบบและพัฒนาระบบดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2561 และได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยระบบ Blockchain ที่บริษัทพัฒนานั้น เป็นรูปแบบ Private Blockchain สำหรับองค์กร เพื่อการให้บริการข้อมูลแบบกระจายศูนย์กลาง รวมถึงการเพิ่มความปลอดภัย น่าเชื่อถือของข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลและส่งผ่านข้อมูลดังกล่าวได้รวดเร็วกว่าการใช้งาน blockchain ปกติทั่วไป ต่อมาบริษัทได้คิดพัฒนา Blockchain Platform ออกมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นความจำเป็นของธุรกิจหลากหลายในอนาคต

 

 

ในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการพัฒนา Platform Online เพื่อใช้งานกับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติได้ โดยให้เจ้าของตู้ สามารถใช้งานผ่าน Line OA ในการตรวจเช็กข้อมูลสินค้า ข้อมูลการขาย ข้อมูลการทำรายการต่าง ๆ รวมถึงการตั้งเตือนต่าง ๆ ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ประกอบการ ทั้งยังมีระบบ Report Dashboard ต่าง ๆ มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลและประเมิน ระบบบริหารจัดการตัวแทน ทั้งยังตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค New Normal ที่มีการ Lockdown ในหลาย ๆ พื้นที่ รวมไปถึงการพัฒนาระบบ Online Ordering Delivery Platform ให้กับผู้ประกอบการสามารถมีช่องทางในการขายสินค้าและบริการเป็นของตัวเอง ผ่านทั้งทาง website หรือ ใน Social media ของตัวผู้ประกอบการเองได้ จึงถือได้ว่าเป็นการพัฒนาเป็น Online Ordering & Social Commerce ซึ่งเป็นการนำธุรกิจเข้าสู่ยุค Social Commerce เต็มรูปแบบ

คุณวิโรจน์ฉายภาพทิศทางการเติบโตของบริษัทว่า เป้าหมายในปีนี้ต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ 3 ซึ่งเป็นตลาดใหม่สำหรับ SME เรียกว่า Live Exchange วัตถุประสงค์ของตลาดนี้ต้องการเปิดมาเพื่อสนับสนุน SME Start up และกลุ่มที่ไม่ถึง MAI มีข้อดีคือมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ลดลงมากกว่า MAI เช่น เรื่องของทุนจดทะเบียน ผลประกอบการ แต่ต้องมีผู้ตรวจสอบที่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของกลต. เป็นบัญชีเล่มใหญ่ และแปรสภาพเป็นมหาชนแล้ว เน้นความโปร่งใสด้านบัญชีการเงินเป็นหลัก ช่วยลดต้นทุนการเข้าตลาดที่สูงในกลุ่มของ SME และมีการจำกัดกลุ่มผู้ลงทุนจะต้องเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน กองทุน และกลุ่มนักลงทุนเครือข่ายใหญ่ เพราะถือว่ากลุ่มนักลงทุนพวกนี้เป็นกลุ่มที่มีความรู้ และรับความเสี่ยงได้สูง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับ SME ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าไปซื้อขายในตลาดใหม่นี้ภายในปีนี้ และปลายปี 2566-2567 จะยื่นเข้า MAI ในลำดับต่อไป

ส่วนในตลาด Live Exchange จะระดมทุนมาขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของบริษัท เพื่อลดต้นทุนของ Cloud Server ที่ไปเช่าในต่างประเทศ มีแผนที่จะมี Cloud Server เป็นของตนเอง ต้องการพัฒนาเว็บ 3.0 ของบริษัท บล็อกเชน พัฒนาตู้สมาร์ทเวนดิ้ง ขยายทีมไอที ทีมขาย เพื่อขยายยอดขาย เป้าหมายเข้าสู่ตลาด MAI ต่อไป

โครงการช่วยเหลือสังคม ทำในสิ่งที่บริษัทถนัด

คุณวิโรจน์เล่าว่า โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) จะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเมื่อช่วงการระบาดหนักโควิดที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้าน นักเรียนเรียนหนังสือออนไลน์ มีคนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่ออนไลน์ ทางบริษัทจึงจัดตั้ง “ทีมไอทีอาสา” ออกไปให้บริการยังชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะชุมชนที่นักเรียนขาดโอกาส ในต่างจังหวัด ตั้งแต่การนำเครื่องคอมพิวเตอร์มือสองที่บริษัทมีจำนวนมากไปบริจาคให้กับชุมชน มีกิจกรรมการสอนให้ความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ สอนเด็ก ๆ ให้มีทักษะการเรียนออนไลน์ เข้าไปช่วยแก้ปัญหาด้านไอทีให้กับสมาชิกในชุมชน

 

 

โครงการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือนำทีม “ไอทีอาสา” เข้าไปพัฒนาระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาลราชวิถีในช่วงที่โควิดระบาดหนัก ๆ ต้องมีการแยกคนไข้ออกเป็นเขียว เหลือง แดง ต้องนำรถเอ็กซ์เรย์ไป on side บริษัทได้มีโอกาสพัฒนาระบบหลังบ้านให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้ และบริหารจัดการผู้ป่วยได้ และระบบนี้ได้ส่งต่อไปยังศูนย์นเรนทรได้ใช้ และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายไปได้อีกหลายที่ ช่วยลดปัญหาความแออัดในช่วงวิกฤตขณะนั้น

ส่งเสริมในสิ่งที่ตัวเองชอบ

และด้วยส่วนหนึ่งที่คุณวิโรจน์มีความชอบกีฬาฟุตบอลเป็นการส่วนตัว ดังนั้นจึงได้ให้ทุนสนับสนุนนักกีฬาเยาวชนฟุตบอลของจังหวัดปทุมธานี เนื่องจากเยาวชนในปทุมธานีขาดโอกาส มักจะใช้เวลาในการเล่นเกมหรือมั่วสุมในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ให้สามารถตั้งเป็นทีมชมรมของจังหวัดปทุมธานี โดยเลือกเยาวชนอายุตั้งแต่ 8-13 ปี จัดหาสถานที่เช่าในร่มให้ และจัดทีมโค้ชผู้สอนให้ มีหลายคนติดตัวบุรีรัมย์ สนับสนุนอยู่ประมาณ 3 ปี จนเดี๋ยวนี้ทีมเยาวชนดังกล่าวเติบโต และมีหน้าที่การงานไปจนหมดแล้ว ต่อมาบริษัทเองก็ได้เข้าไปสนับสนุนทีมเยาวชนฟุตบอลจังหวัดสุรินทร์ โครงการนี้มีการสนับสนุนตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว โดยสนับสนุนด้านค่าชุดนักกีฬา และอื่น ๆ ซึ่งทีมนี้ได้พัฒนาเป็นทีมเยาวชนตัวแทนจังหวัดสุรินทร์เข้าแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ

 

 

“ข้อดีของการสนับสนุนก็คือ เยาวชนพวกนี้วันหนึ่งเขาก็ต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ หากเขาไม่ไปติดเกม ติดยา อย่างน้อยเราก็มีส่วนผลักดันเขาบ้าง และที่สำคัญที่สุดเด็กเหล่านี้ก็มีส่วนเข้ามาสืบทอดให้รุ่นน้องในลำดับต่อไป ก็จะเริ่มเกิดเป็นกระแส สมัยนี้ง่ายกว่าเดิมเพราะมีอะคาเดมี่เป็นเป้าหมาย สนับสนุนให้เด็กไปถึงฝัน” คุณวิโรจน์กล่าว

 

 

SCG ของ แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส

คุณวิโรจน์กล่าวว่า ด้วยที่บริษัทยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก สิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ก็ประมาณ 3-4 ด้าน หลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องของบุคลากร มีโครงการฝึกอบรม สร้างความรู้ความสามารถ เสริมศักยภาพของบุคลากร เพื่อให้บุคลากรของบริษัทสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านไอทีใหม่ ๆ เพราะจุดแข็งของบริษัทคือการสร้างนวัตกรรมแก่ธุรกรรมด้านไอที และเน็ตเวิร์คต่าง ๆ ส่วนการสนับสนุนภายนอกที่มีอย่างต่อเนื่องคือการสนับสนุนด้านครุภัณฑ์ของไอทีให้กับโรงเรียนที่ยากไร้ ซึ่งทางบริษัททำมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ.