โครงการ “สุนัขชุมชน” การแก้ปัญหา “สุนัขจรจัด” ได้อย่างยั่งยืน

by วันทนา อรรถสถาวร / Info: Kaki, 28 พฤษภาคม 2565

โครงการ “สุนัขชุมชน” ทางออกของปัญหา “สุนัขจรจัด” โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ทั้งชุมชน องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างยั่งยืน

 

จากรายงานการสำรวจจำนวนสุนัขจรจัดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ พบว่ามีสุนัขจรจัด ทั้งประเทศ จำนวน ๒.๓ ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งมีสุนัขจรจัดเพียง ๗.๓ แสนตัว หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่า ในเวลาเพียง ๖ ปี และมีแนวโน้มที่จะทวีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนนำสุนัขที่ไม่ต้องการเลี้ยงไปปล่อยทิ้งในที่สาธารณะ เช่น ชุมชน วัด ตลาด ถนน ที่ทิ้งขยะมูลฝอย และอื่น ๆ อีกทั้งสุนัขจรจัดเหล่านี้ยังแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี จนเกิดปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญ ปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชน ปัญหาความสวยงามเป็นระเบียบและความสะอาดของบ้านเมือง ปัญหาการท่องเที่ยว ปัญหาการทารุณกรรมและสวัสดิภาพสัตว์ และปัญหาอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

กองสวัสดิภาพสัตวและสัตวแพทย์บริการซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ที่รับผิดชอบ จึงได้จัดทำโครงการสุนัขชุมชน โดยมีลักษณะเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ทั้งชุมชน องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างยั่งยืน

Thaiquote ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษน.สพ.ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ที่ปรึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ “สุนัขชุมชน” เพื่อแก้ไขปัญหา “สุนัขจรจัด” อย่างยั่งยืน ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับสุนัขชุมชน รู้หรือไม่ว่า สุนัขชุมชนกับสุนัขจรจัดแตกต่างกันอย่างไร

สุนัขจรจัดในประเทศไทย อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

กลุ่มแรก คือ สุนัขไม่มีเจ้าของ ใช้ชีวิตหาอาหารอย่างอิสระตามธรรมชาติในที่สาธารณะ ไม่มีคนดูแลหรือให้อาหาร
กลุ่มที่ 2 คือ สุนัขไม่มีเจ้าของ ใช้ชีวิตหาอาหารอย่างอิสระตามธรรมชาติในที่สาธารณะ มีคนให้อาหารบ้าง สุนัขส่วนใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนทั่วไป ไม่สามารถจับเพื่อให้วัคซีนหรือผ่าตัดทำหมันได้
กลุ่มที่ 3 คือ สุนัขกึ่งจรจัดที่อยู่ตามชุมชน มีคนให้อาหารและคอยดูแลบ้าง อาจมีการตั้งชื่อให้และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคน ส่วนใหญ่ผู้ดูแลสามารถจับเพื่อให้วัคซีนหรือผ่าตัดทำหมันได้

สุนัขชุมชน คือ สุนัขกิ่งจรจัดหรือสุนัขที่อยู่ในกลุ่มที่ 3 ที่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนนั้น ๆ โดยมีอาสาสมัครในชุมชนช่วยกันดูแลเรื่องสวัสดิภาพของสุนัข เช่น ความเป็นอยู่ อาหาร การทำหมัน การป้องกันโรค ความเจ็บป่วย และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสุนัขกับคนในชุมชน นอกจากนี้หากสุนัขในกลุ่มที่ 2 บางตัวสามารถปรับพฤติกรรมให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในชุมชนได้ก็จัดเข้าเป็นสุนัขชุมชนด้วย

 

  

ข้อแตกต่างระหว่าง”สุนัขชุมชน” กับ “สุนัขจรจัด” คือ สุนัขชุมชุนเป็นสุนัขจรจัดที่คนในชุมชนให้การยอมรับและมีอาสาสมัครให้การดูแล และได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน โดยมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสุนัขกับชุมชน หรืออาจกล่าวได้ว่า สุนัขชุมชน เป็นสุนัข “ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน”

สุนัขชุมชนกับการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด

บ่อยครั้งเมื่อกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด มักจะมีผู้เสนอโครงการสุนัขชุมชนว่าเป็นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เนื่องจากไม่ต้องเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและบริหารสถานสงเคราะห์สัตว์ และเข้ากับบริบทของสังคมไทยที่คนไทยมีอุปนิสัยและจิตใจเมตตาสงสารสัตว์ และไม่ยอบรับการทำลายสุนัขจรจัดเพราะขัดกับศีลธรรมและวัฒนธรรมตามหลักศาสนาพุทธของไทย แต่จะดำเนินการสุนัขชุมชนได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงกฎหมายหรือระเบียนท้องถิ่นที่มีอยู่ เช่น เรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ เรื่องความสะอาด เรื่องการปล่อยสัตว์ เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ประกอบด้วย

ปัจจุบันโครงการสุนัขชุมชนได้ดำเนินการที่ใดบ้าง

เนื่องจากแต่ละชุมชนมีโครงสร้างและปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการดำเนินการโครงการสุนัขชุมชนในแต่ละชุมชนจึงมีการบริหารจัดการที่แตกต่าง ปัจจุบันที่มีการดำเนินการเป็นรูปธรรมและเป็นที่รู้จักซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ โครงการจัดการปัญหาสุนัขในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบบมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างยั่งยืน (MaCMU Project) โครงการสุนัขชุมชนเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โครงการสุนัขชุมชนตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นต้น

โครงการจัดการปัญหาสุนัขในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบบมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ MaCMU

มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาการเพิ่มจำนวนของสุนัขจรจัดภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาของ ชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายด้าน เช่น นักศึกษาและบุคลากรถูกสุนัขกัด การเกิดอุบัติเหตุทางการจราจร ความเสี่ยงจากโรคพิษสุนัขบ้า การขัดแย้งของคนในสังคม สุขอนามัยและการรักษาความสะอาด

ดังนั้นคณะสัตวแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนคณะต่าง ๆ ได้ร่วมจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของสุนัขในพื้นที่สาธารณะของมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ พร้อมกับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รักษาโรคผิวหนัง ถ่ายพยาธิ และดำเนินการผ่าตัดทำหมันเพื่อควบคุมประชากรให้กับสุนัขในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกตัว โดยดูแลสุนัขเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ให้ความรัก ความใกล้ชิด ให้ที่พักพิง อาหารและน้ำ ปรับพฤติกรรมให้ควบคุมได้และเป็นมิตรกับนักศึกษาและบุคคลากร ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อคนในชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งการสร้างการยอมรับของชุมชนทั้งนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย ด้วย

โครงการสุนัขชุมชนเมืองทองธานี

มีจุดเริ่มต้นจากโครงการเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นโครงการของเอกชน ดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้านที่พักอาศัย ศูนย์ราชการ ศูนย์จัดงานแสดงสินค้า ศูนย์จัดการแสดงและกีฬา ศูนย์ธุรกิจ สถานบันการศึกษาและศาสนาสถาน มีสุนัขจรจัดจำนวนมากซึ่งเกิดมีผู้นำมาปล่อยทิ้งและแพร่พันธุ์กันเอง โดย คนในชุมชนมีทั้งผู้เมตตาให้อาหารสุนัข และผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ถูกสุนัขทำร้าย ทำลายทรัพย์สิน เกิดอุบัติเหตุทางการจราจร ทำความสกปรก และเสี่ยงจากโรคพิษสุนัขบ้า จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคม โครงการเมืองทองธานีซึ่งมีความเข้าใจเรื่องปัญหาสุนัขจรจัดเป็นอย่างดีเห็นว่าหากนำเอาสุนัขจรจัดออกไปจะมีสุนัขใหม่ เข้ามาอยู่แทน จึงประสานของความร่วมมือกับองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ SOS สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนนทบุรี และเทศบาลเมืองปากเกร็ด ดำเนินการโครงการสุนัขชุมชน โดยมีกิจกรรมสำรวจและขึ้นทะเบียนสุนัขจรจัด การทำเครื่องหมายประจำตัวสุนัข การเฝ้าระวังสุนัขใหม่เข้ามาในชุมชน การผ่าตัดทำหมันสุนัข การรักษาโรคพยาธิและโรคผิวหนัง การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า การชี้แจงกับคนในชุมขนและการแก้ไขปัญหาให้คนในชุมชนเมื่อได้รับผลกระทบจากสุนัขจรจัด หากพบสุนัขที่ไม่สามารถอยู่กับชุมชนได้จึงมีการจับและนำออกไปเลี้ยงในสถานสงเคราะห์สัตว์ ซึ่งจากการดำเนินโครงการได้ ๒ ปี ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนมากขึ้น ลดปัญหาความขัดแย้ง และไม่มีสุนัขเพิ่มจำนวนมากขึ้น

 

 

 โครงการสุนัขชุมชนตลาดแม่กลอง

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการที่นายณัฐพงษ์ งามสง่า ได้รับเลี้ยงสุนัขจรจัดและจัดทำป้ายห้อยคอให้สุนัขที่ดูแลทุกตัว โดยป้ายห้อยคอจะมีชื่อของสุนัข รูปถ่ายและเบอร์โทรศัพท์ของนายณัฐพงษ์ งามสง่า สุนัขทุกตัวจะได้รับการดูแลเรื่องอาหาร การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า การผ่าตัดทำหมัน ดูแลพฤติกรรม พร้อมทั้งรับผิดชอบความเสียหายต่าง ๆ ที่สุนัขก่อความเดือดร้อนแก่คนในชุมชน การแก้ปัญหาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การปรับความเข้าใจของคนในชุมชนให้ยอมรับ ลดการรังเกียจสุนัข จนสามารถให้สุนัขอยู่ร่วมในชุมชนได้ ซึ่งหลังจากมีการจัดการสุนัขจรจัดในรูปแบบสุนัขชุมชนนี้ทำให้คนในชุมชนบริเวณตลาดแม่กลองยอมรับการมีอยู่ของสุนัขกลุ่มนี้ และมีอาสาสมัครผู้มาร่วมดูแลด้วย จากนั้นก็พัฒนาจนมาเป็นโครงการสุนัขชุมชนและได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดสมุทรสงคราม ปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสงคราม เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งปัจจุบันมีสุนัขจำนวนประมาณ ๓๖ ตัว

แนวทางการดำเนินกิจกรรมโครงการสุนัขชุมชน

๑. การลงทะเบียนประวัติสุนัขทุกตัว
๒. การทำเครื่องหมายประจำตัว เช่น การฝังไมโครชิพ การทำสัญลักษณ์ การใส่ปลอกคอ
๓. การตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นประจำทุกปี
๔. การกำจัดเห็บหมัดและถ่ายพยาธิ
๕. มีเครื่องหมายหรือปลอกคอที่สามารถระบุพฤติกรรมได้ เช่น
ปลอกคอสีเขียว หมายถึง สุนัขที่มีพฤติกรรมเข้าได้กับทุกคนสามารถจับต้องได้
ปลอกคอสีเหลือง หมายถึง สุนัขที่มีพฤติกรรมที่คนดูแลเท่านั้นสามารถจับต้องได้
ปลอกคอสีแดง หมายถึง สุนัขที่มีพฤติกรรมหวาดระแวงไม่มีใครสามารถจับต้องได้
๖. การผ่าตัดทำหมันเพื่อควบคุมจำนวนประชากรสุนัข

เริ่มจากคนในชุมชน

จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของทั้งสองโครงการนั้น เกิดจากคนในชุมชนรับรู้และตระหนักถึงปัญหาสุนัขจรจัดว่าเราไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เนื่องจากปัญหาสุนัขจรจัดเป็นปัญหาที่เกิดจากคนในสังคมที่ยังมีการทอดทิ้งสุนัขและสภาพวัฒนธรรมไทยที่คนมีความเมตตาต่อสัตว์ รัฐจึงไม่สามารถกำจัดสุนัขจรจัดได้ อีกทั้งสุนัขเหล่านี้ก็มีนิสัยความเป็นสัตว์เลี้ยงชอบที่จะอยู่กับคน เมื่อมีคนในชุมชนเป็นอาสาสมัครที่มีความตั้งใจและอยากที่จะแก้ไขปัญหา จึงเกิดเป็นโครงการสุนัขชุมชนขึ้น โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนคนในชุมชน องค์กรภาครัฐหรือเอกชนในเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ การป้องกันโรค การควบคุมจำนวนให้กับสุนัขชุมชนด้วย ทั้งนี้ต้องไม่ทิ้งคนที่ไม่ชอบสุนัขหรือคนที่กลัวสุนัขโดยการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เขาได้รับผลกระทบและสร้างความเข้าใจเรื่องการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดต้องร่วมมือกันของคนในชุมชน


ความยั่งยืนของสุนัขชุมชน

ความยั่งยืนของโครงการสุนัขชุมชนขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคนในชุมชนเป็นสำคัญ ดังนั้นความยังยืนจึงเริ่มจากความเข้าใจและทัศนคติที่ดีของคนในชุมชน โดยกลุ่มอาสาสมัครคนรักสุนัขซึ่งเป็นแกนหลักควรสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีให้ในชุมชน หากชุมชนมีความเข้าใจและยอมรับว่าปัญหาสุนัขจรจัดเป็นปัญหาที่เกิดจากคนในชุมชนนั้น ๆ จึงจำเป็นต้องแก้ไขจากคนในชุมชน และยอมรับว่าสุนัขชุมชนเป็นวิถีการแก้ปัญหาของชุมชน นอกจากนี้โครงการสุนัขชุมชนต้องจัดให้มีการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย เช่น การควบคุมจำนวนสุนัข การปรับพฤติกรรมของสุนัขไม่ให้สร้างความเดือนร้อน ไม่มีการนำสุนัขจากนอกชุมชนมาเพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตจะสามารถลดจำนวนให้น้อยลงไปในที่สุด

 

 

 สุนัขไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน

โดยทั่วไปคนในชุมชนจะแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนรักสุนัข กลุ่มที่สองคือกลุ่มคนไม่ชอบหรือกลัวสุนัข และกลุ่มที่สามคือกลุ่มคนที่ไม่รักและไม่รังเกียจสุนัข ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเห็นและความรู้สึกต่อสุนัขชุมชนแตกต่างกันออกไป ดังนั้นกลุ่มอาสาสมัครคนรักสุนัขต้องรับหน้าที่ในการขับเคลื่อนโครงการสุนัขชุมชน โดยจัดให้สุนัขอาศัยอยู่ภายในบริเวณและมีขอบเขตชัดเจน ดูแลสุขภาพให้มีสุขภาพดีไม่เป็นโรคผิวหนังหรือมีเห็บหมัด เก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขอยู่อาศัย ปรับพฤติกรรมไม่ให้สุนัขทำความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนในชุมชน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นต้องมีการสื่อสารพูดคุยทำความเข้าใจอย่างจริงใจในการแก้ไขปัญหา เมื่อคนในชุมชนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นก็จะให้การยอมรับ “สุนัขชุมชน” ในการเป็นแนวทางที่แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในชุมชนได้

โครงการสุนัขชุมชนคือทางออกที่ดีที่สุด ?

“สุนัขชุมชน” เป็นเพียงแนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหา”สุนัขจรจัด”เท่านั้น การผลักดันให้สุนัขจรจัดออกจากชุมชนหรือจับเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์สัตว์เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีคนมาปล่อยสุนัข หรือ มีสุนัขจรจัดจากภายนอกชุมชนเข้ามาอาศัยในชุมชนเพราะไม่มีสุนัขเจ้าถิ่นเดิม ดังนั้นการนำสุนัขออกนอกชุมชนจึงไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว การทำโครงการ”สุนัขชุมชน” จึงเป็นการปรับเปลี่ยนสุนัขจรจัดให้ง่ายต่อการจัดการเพื่อให้การควบคุมจำนวนสุนัข การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การสร้างความสะอาดของชุมชน การมีคุณภาพชีวิต สุขอนามัยและสวัสดิภาพที่ดีขึ้นของสุนัข และเมื่อเวลาผ่านไปจำนวนสุนัขจรจัดในชุมชนจะคงที่และจะลดน้อยลงไปในที่สุด ทั้งนี้ ”สุนัขชุมชน” เหมาะสมกับการจัดการสุนัขจรจัดบางตัวเท่านั้น แต่อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้กับสุนัขจรจัดที่มีพฤติกรรมดุร้ายหรือก้าวร้าวได้ แต่ถ้าเลือกได้สุนัขจรจัดก็คงอยากมีเจ้าของและอยู่ในบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัย และที่สำคัญไปกว่านั้น สุนัขจรจัดจะไม่เกิดขึ้นถ้าเจ้าของสุนัขมีความรับผิดชอบให้การดูแลสุนัขของตนเป็นอย่างดี มีการผ่าตัดทำหมัน และไม่ทอดทิ้งสุนัขให้เป็นปัญหาของชุมชน.