เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ปรับตัวให้ทันกับยุคของ BCG และอาศัยแต้มต่อจาก FTA เพื่อส่งออกขั้นเทพ

by ThaiQuote, 3 มิถุนายน 2565

ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังมีอนาคต เป็นหัวหอกนำเงินตราเข้าประเทศอย่างมากมาย แต่ก็ยังมีโอกาสอีกหลายประเทศยังเข้าไม่ถึง นำกระบวนการผลิตแบบ BCG และอาศัยแต้มต่อ FTA ตะลุยตลาดใหม่

 

คุณบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หลายประเทศใช้ข้อได้เปรียบของ FTA เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า โดยเจรจาให้กำแพงภาษีให้น้อยที่สุด เช่นถ้าต้องการทำการค้ากับจีน ไทยก็มี FTA มีภาษีเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นการสร้างแต้มต่อให้นักธุรกิจเพื่อส่งออกสินค้า ทำให้เราสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้

ปัจจุบันนี้ไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ จำนวน 14 ฉบับมีทั้งแบบทวิภาคี และแบบภูมิภาค เช่น อาเซียน-จีน อาเซียนเกาหลี อาเซียน ญี่ปุ่น เป็นต้น

นอกจากนี้เรายังมีข้อตกลง “อาเซ็ป” ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่มีขนาดจของตลาดที่ใหญ่มากมีทั้งหมด 15 ประเทศมีขนาดตลาดประมาณ 2,200 ล้านคน ทำให้ขายสินค้าง่าย ตลาดนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 อยากให้นักธุรกิจดูตลาดนี้ ผลประโยชน์อาเซ็ป ตกกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ มีตลาดที่เป็นแบบ B to B แต่อย่างไรก็ตามนักธุรกิจก็ต้องดูเรื่องพฤติกรรมของลูกค้าด้วย ประโยชน์ของ “อาเซ็ป” จะช่วยเกษตรกรขายสินค้าได้ง่ายขึ้น แต่สมัยนี้การทำการค้าก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของบริการด้วย

 

 

คุณบุณิตากล่าวว่า ข้อตกลง “อาเซ็ป” นั้น SME เป็นอีกหน่วยหนึ่งที่ได้ประโยชน์ ทั้งในแง่ของการส่งออกและนำเข้า ในแง่ของการส่งออกผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีราคาถูก และทางผู้บริโภคคนไทยก็ได้สินค้าดีเข้ามาบริโภคด้วย เพราะข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลง 2 ทาง คือมีทั้งการส่งออกและนำเข้า ประโยชน์ของนำเข้าคือช่วยให้การนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาในราคาที่ถูกกว่าเดิม

ประโยชน์จาก FTA ส่งผลให้ 64% การค้าตกอยู่กับ 18 ประเทศ แต่ในส่วนที่เหลือกรมเจรจาการค้าก็เร่งเจรจากับประเทศทางยุโรปและเอเชียใต้ เจรจาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมเข้าสู่ตลาดอินเดีย เพื่อเป็นการเติมเต็มส่วนที่เหลือ

สินค้าเกษตรที่ได้ประโยชน์จากการเจรจา ช่วงโควิดการส่งออกด้านสินค้าเกษตร เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 8 ของโลก มันสำปะหลัง ผักขยายตัว 51% ลำไย ทุเรียน มังคุด อัตราการขยายตัวสูง สินค้าที่ขยายตัวอย่างน่าตกใจคือ ฟ้าทลายโจร สมุนไพร โตสูงมากและเป็นเทรนด์ในอนาคต อีกตัวไม่ใช่อาหาร อัตราการเติบโตก็สูงและน่าจับตามองนั่นคือกลุ่มของอาหารสัตว์เลี้ยง ตลาดนี้ถือเป็นเทรนด์ของโลก

อีกตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพในอนาคตคือเกษตรแปรรูปก็สำคัญมาก ผลไม้กระป๋องแปรรูปโต 9% ไอศกรีมผลิตจากวัตถุดิบในประเทศ เครื่องปรุงรส น้ำมัน ขายดีหมด เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด กลุ่มสินค้าต้องกินต้องใช้ยังขายดี นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมก็ยังจัดอยู่ใน 10 อันดับที่เป็นสินค้าขายดี ทั้งนี้เนื่องจากคุณภาพการผลิตและข้อได้เปรียบของ FTA

รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่าจากนี้ต่อไปเทรนด์ของ BCG ก็เป็นอีกเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วยการผลิตที่มั่นคงยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน มีความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม พวกนี้โลกให้ความสนใจ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน พื้นฐานด้านการเกษตรจะใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าได้ เทรนด์ของ BCG มาแรง เป็นกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับ 3 ส่วนนี้

คุณลักษณะของสินค้าBCG คือ กระบวนการผลิตทั้งหมดไม่ทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น กาแฟ มีการนำเมล็ดกาแฟไปวิจัยทำน้ำรักษาไขมันพอกตับ กากกาแฟทำที่รองแก้ว ภาชนา ใบข้าวทำชา คอฟฟี่เมต จับนวัตกรรมใส่เข้าไปเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงร่างการ หรือเทรนด์อาหารอนาคต เช่น แมลง ก็เข้าการผลิตยั่งยืนได้ สมุนไพร บัวแดง ผลิตเป็นชา ก้านบัวทำอาหาร ไม่มีสูญเสีย ผ้าเวลาถักทอเอาใยฝ้าย ไหม ให้เกิดเป็นผิวสัมผัสใหม่ หรือในกรณีที่นำยางพารามาทำเป็นนวัตกรรมมของชำร่วยในงานเอเปค เป็นต้น

สินค้า BCG เป็นเทรนด์ของโลกที่ต้องพัฒนา ภาคการผลิตของไทยต้องปรับตัว ต้องมีนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า ปรับสายการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องเร่งเห็นถึงโอกาสของ BCG เพื่อให้เป็นการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทางด้านนายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า เกษตรกรต้องมีการเตรียมตัวเข้าสู่ยุคใหม่ เทรนด์ใหม่ของการผลิตและการบริโภค ที่ผ่านมาหน้าที่ของภาคเกษตรคือความมั่นคงอาหาร รองรับแรงงานมากกว่า 60% แต่จีดีพีแค่ 10% ส่วนใหญ่ผลิตมาเพื่อเป็นวัตถุดิบส่งออก ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และหวังว่า FTA จะเข้ามาช่วย

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยเศรษฐกิจดีกว่า แต่เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นพัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มจี 7 ต่อมาก็เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ต่างก็นำหน้าไทย ตอนนี้มาเลเซียนำกว่า 1 เท่าตัว ขณะนี้เราอยู่ในระนาบเดียวกันกับเวียดนาม และปากีสถาน เพราะฉะนั้น FTA มีความสำคัญกับเกษตรกรไทย และมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเมือง

 

 

สถานการณ์ไทยในปัจจุบัน แนวโน้มอนาคต
1.ประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้าง ที่ดินทั้งหมดประมาณ 320 ล้านไร่ อยู่ในกำมือของประชากร 5% ที่ถือครองที่ดินกว่า 70% มีคนอีกมากกว่า 75% ไม่มีที่ทำกิน เกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยที่ดินของรัฐทำกิน ทำให้ไม่เกิดความมั่นคง
2. มีประชากรที่มีรายได้น้อยประมาณ 4.2 ล้านคน รายได้ต่ำมากจนไม่สามารถใช้เป็นค่าครองชีพประจำวันได้
3. เผชิญปัญหาวิกฤตอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำ
4.ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงวัย
5. ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม น้ำจืดเพื่อทำการเกษตรลดลงกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ยังไม่รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศในทะเลที่วิกฤตไม่แตกต่างจากบนบก
6.ไทยเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย โดยหลายปีมานี้มีอัตราการเติบโตเพียง 2.5%/ปี
7. อนาคตอันใกล้นี้ราคาที่ดินจะขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 8% มีการเติบโตของสังคมเมือง ผู้คนต้องอาศัยอยู่กับตึกสูง จากโรคภัยและมลพิษ ส่งผลให้พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ นิยมที่จะอยู่ในบ้านมากกว่าวันละ 11 ชั่วโมง
8. เกิดช่องว่างระหว่างวัยทั้งในแง่ของทัศนคติและเทคโนโลยี คนต่างวัยจะมีค่านิยมทางสังคมที่แตกต่างกันมาก
9. โลกของอนาคตเป็นโลกของเทคโนโลยีชั้นสูง คนกว่า 43% มีความต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในแง่ของความเป็นอยู่ เครื่องใช้ไม้สอย และสุขภาพ

นายรัตนะกล่าวว่า หนทางที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศไทยคือการยึดโยงเศรษฐกิจและการผลิตให้เข้ากับหลัก BCG และอาศัยแต้มต่อจาก FTA ในการผลักดันสินค้าออกสู่ต่างประเทศ และช่วยให้สภาพแวดล้อมในประเทศดีขึ้น

ในประเทศไทยถ้าเราไม่เปลี่ยนแบบแผน ยังคิดเหมือนเดิมจะอยู่ไม่ได้ การปรับประเทศไทยสู่สากลต้อง
1. เศรษฐกิจมูลค่าสูงใส่ใจสิ่งแวดล้อม
2. ต้องหลีกหนีกับดักความยากจน ต้องพยายามสร้างเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ โดยมีอาวุธเป็น BCG
3. วิถีชีวิตยั่งยืน สังคมคาร์บอนต่ำ
4. พลิกโฉมประเทศ ให้มีสมรรถนะสูง

โลกในอนาคต จีน ญี่ปุ่นมีอิทธิพลเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ยุโรปก็เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ อเมริกา และอินเดีย และถ้าไทยต้องการก้าวสู่ตลาดโลกต้องเปลี่ยนแนวคิด จุดแข็งของประเทศคือเกษตรและอาหาร ยอดการส่งออกอาหารของไทยเติบโตถึง 137% ในขณะที่เรามีส่วนแบ่งการตลาดของโลกเพียง 2.1% ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ของไทยคือส่งอียูและสหรัฐ ดังนั้นยังมีตลาดขนาดใหญ่อีกหลายตลาดที่เป็นโอกาสของเกษตรกรไทย

ฉะนั้นเกษตรของไทยต้องปรับตัว ถ้าเราไม่ปรับตัวจะถูกผู้บริโภคยุคการเปลี่ยนแปลงกดดันเรา ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพ มาเป็นอันดับ 1 ส่วนรสชาติตามมาเป็นอันดับ 2 ในอนาคตโลกเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นกรณีประมง ต่อต้านสินค้าประมงเข้าประเทศ เขาเน้นเรื่องสวัสดิภาพแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสะอาดพร้อมรับประทาน ฉะนั้นเราต้องตามให้ทัน

ต่อไปนี้อีก10 ปี คนไทยจะคุ้นชินกับคำต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรรมยั่งยืน SDE BCG ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตามเกษตรและอาหารไทย เราอยู่ในโลกการแข่งขันคือ ต้นทุน คุณภาพ ประสิทธิภาพ สามสิ่งนี้จะขับเคลื่อนได้ต้องเปลี่ยน นอกจากนี้ส่วนที่เป็นอุปสรรคมาก ๆ คือเรายังมีระเบียบของข้าราชการเป็นจุดอ่อน สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องทำงานพร้อมกัน

ส่วน ดร. วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า อนาคตของอาหารไทยและอาหารแห่งอนาคต สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ BCG เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน และผลกระทบของวิกฤตของโลกที่กดดันเรา สหประชาชาติมีข้อตกลง 17 ข้อ และไทยนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ประกอบไปด้วย

อาหารและการเกษตร ไทยเรามีการสอนมาโดยตลอดเรื่องการกินไม่เหลือทิ้ง การดูแลเรื่องขยะอาหาร ในกระบวนการผลิตมีการสูญเสียอาหาร เริ่มตั้งแต่การเก็บเกี่ยว ในกระบวนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงมาก พวกประมง เอามาปลามานึ่ง น้ำนึ่งปลาเอาไปทำโอเมก้าในสารอาหาร เนื้อปลาไม่สวยอาหารสัตว์เลี้ยง ในอุตสาหกรรมนี้ต่างจากปลากระป๋อง เพราะไม่ใหญ่จริงดำเนินการไม่ได้ มีการควบคุมราคา และมีการเปลี่ยนแบรนด์ได้ง่ายกว่า ราคาอาหารสัตว์ต้องแพง น่าเชื้อถือ ใส่ใจกับอาหารสัตว์เลี้ยงมาก เป็นธุรกิจสามารถสร้างแบรนด์ได้

ปัจจุบันนี้ในพืชนำส่วนที่เหลือจากการผลิตมาทำหลายอย่างแล้ว ของเหลือจากกระบวนการเกษตร ตอนนี้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก มีส่วนประกอบที่ดี แร่ธาตุ ซ่อนอยู่ในใบ ก้านที่ไม่ได้นำไปกิน กลุ่มสตาร์อัพ และ SME ต้องใช้แนวทางนี้เพื่อสร้างความแตกต่าง ถึงสามารถอยู่รอดได้

โอกาสด้านเกษตรและอาหารในอนาคตของไทยยังมีอีกมาก ปีที่ผ่านมาส่งออกอาหารลำดับที่ 13 ของโลก ตัวเลขเติบโตมีปีแรกของโควิดที่ลดลงไป แต่พอมาปีนี้ 4 เดือนแรกเติบโตมากถึง 20% ส่วนหนึ่งสาเหตุเพราะพลังงานแพง ความต้องการเข้ามามากขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินของไทยอ่อนค่ามาก ทำให้แข่งขันได้ ยอดการส่งออกจึงดี

เครื่องปรุงรสเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการเติบโตและพัฒนาสูตรออกมามากมาย ปีที่ผ่านมาโตถึง 24% นอกจากนี้ผลไม้แปรรูปก็ขายได้ดีในตลาดโลก ข้าวสามารถทดแทนตลาดที่มีการรับประทานข้าวประกอบกับอาหารจำพวกแป้งอื่น ๆ ทั้งนี้สาเหตุของการเติบโตของตลาดข้าวได้อานิสงส์จากปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารโลก สงครามรัสเซีย ยูเครน ทำให้อาหารหายไป 30% อาหารสัตว์ 37% น้ำตาล กากน้ำตาลก็เติบโตสูง กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมา ไขมัน น้ำมัน ก็ขายดี ปัจจุบันนี้ไทยได้ก็เริ่มมานำน้ำมันปาล์มเข้าไปแข่งกับผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินโดนีเซีย

 

 

ตลาดของอาหารอนาคตที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่งคือ ตลาดของโปรตีนที่ได้มาจากพืช โดยจะต้องมีคุณค่ารสชาติอร่อยไม่แตกต่างจากเนื้อสัตว์ เช่นการนำขนุนอ่อนกระป๋องที่มีรสสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์กำลังกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในต่างประเทศ หรือตลาดโปรตีนที่มาจากแมลง แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการส่งออกอยู่ หรือแม้กระทั่งถั่วเขียวไทยก็สามารถทำโปรตีนได้ไม่แพ้ถั่วเหลือง เป็นต้น

กลุ่มตลาดต่อมาที่มีศักยภาพคือฟังก์ชั่นนอลฟู้ด เป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตเป็นอย่างมากในตลาดตะวันตก อาหารที่มีส่วนดีต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย พวกนี้ขายได้ง่ายกว่ายาหรือพวกอาหารเสริม เพราะขออนุญาตได้ง่ายกว่า

อาหารที่เหมาะแต่ละบุคคล เช่นกรณีของผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาหารสำหรับผู้สูงวัย ต้องเคี้ยวง่าย รักษาสุขภาพ และอร่อย ตลาดนี้ก็เป็นเทรนด์สำคัญในอนาคตทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ.