“ตู้กับข้าวตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในทะเล” แต่ไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตอาหารทะเล ปลาบางชนิดหายไปจากโต๊ะอาหารคนไทย

by วันทนา อรรถสถาวร , 2 กรกฎาคม 2565

สถานการณ์การประมงของไทยดีขึ้น ผลมาจากแรงกดดันด้านสิทธิมนุษย์ชนสากล มีการก่อตัวของชุมชนชายฝั่งที่เข้มแข็งเพื่ออนุรักษ์ทำป่าชายเลน และประมงชายฝั่ง แต่จำนวนมีเพียงไม่ถึง 10%

 

“ตู้กับข้าวตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในทะเล” แต่ปรากฏว่าในระยะหลังไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตอาหารทะเล การทำประมงเชิงอุตสาหกรรมทำให้ปริมาณอาหารทะเลไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังทำให้ปลาบางชนิดที่เคยเป็นอาหารของคนไทยได้หายไปจากโต๊ะอาหาร คนจนเข้าถึงอาหารทะเลได้ยากขึ้น

 

บรรจง นะแส

บรรจง นะแส

 

Thaiquote ได้พูดคุยกับ “บรรจง นะแส” ผู้ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “ผู้กล้าแห่งท้องทะเลไทย” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหลายส่วนล้วนเกี่ยวข้องกับการคืนชีวิตการประมงพื้นบ้าน และการอนุรักษ์ทะเลไทย โดยปัจจุบันเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ปี 2540-ปัจจุบัน) คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาสตรีผู้ใช้แรงงานใน จ.สงขลา (2539-ปัจจุบัน) ทำงานด้านพัฒนาด้านพัฒนาชนบทโดยเฉพาะกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่ ปี 2524 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันทำให้เห็นปัญหาของการประกอบอาชีพ การเสียสิทธิ์ เสียโอกาส ตลอดถึงการถูกละเมิดสิทธิของกลุ่มเกษตรที่เป็นประมงพื้นบ้านตลอด 2 ชายฝั่งในพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคใต้เป็นอย่างดี

ขณะนี้สถานการณ์ทรัพยากรอาหารของทะเลไทยเป็นอย่างไร

สถานการณ์ประมงไทยดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศเรื่อง Over Fishing แล้วเครื่องมือไปทำร้ายตัวอ่อนค่อนข้างมาก รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตามหลักของ IUU จัดการกับเรือประมงที่ผิดกฎหมาย เรือเถื่อนต่าง ๆ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย แต่เรามีปัญหาเรื่องอวนลาก แต่เรือที่ถูกกฎหมายก็ยังมีอยู่มาก ปัญหาเรื่องการประมงที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในทะเลก็ยังมีอยู่

แต่ที่มันรอดอยู่ได้บางส่วนเพราะ ชุมชนรวมตัวกันแก้ไขปัญหาของตัวเอง จัดตั้งเป็นชมรม สมาคมประมงพื้นบ้าน ดูแลทะเลหน้าบ้านตัวเอง หลายกิจกรรมที่ชุมชนขึ้นมาจัดกิจกรรม ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น สร้างกติกาชุมชน ไม่ให้อวนลากเข้ามา ทำเรื่องธนาคารปู ทุกอย่างที่ชุมชนทำ ส่งผลให้ภาพรวมส่วนใหญ่ดีขึ้น แต่เนื่องจากพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลของเรามีถึง 22 จังหวัด ปริมาณของการจัดตั้งชุมชนมีไม่ถึง 20% ของพื้นที่ทั้งหมด ฉะนั้นพื้นที่ที่ขาดการจัดตั้งชุมชนก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม ที่ผ่านมาเรามีกฎหมายที่ดีในการดูแลเรื่องทรัพยากรประมงเพื่อการบริโภค แต่ปัญหาของไทยคือขาดความเข้มข้นของการบังคับใช้ ตัวอย่างเช่น พื้นที่แถบสมุทรสงคราม สมุทรสาครยังมีเรืออวนขนาดใหญ่ทำการประมงเป็นจำนวนมากอยู่ เป็นการทำประมงผิดกฎหมาย แต่ชุมชนไม่กล้าร้องเรียน เพราะอิทธิพลท้องถิ่น นักการเมืองบ้าง

 

 

แนวทางในการแก้ไขปัญหาคือการจัดตั้งชุมชนขึ้นมาดูแล ช่วยกันอนุรักษ์ แต่ปัญหาของการจัดตั้งชุมชนคือจะต้องเอาหน่วยงานภายนอกเข้าไปช่วย ต้องมีการลงสนามไปกินอยู่กับชาวบ้าน เรียนรู้ปัญหา ให้เขาสามารถจัดทำกิจกรรมง่าย ๆ ไปจนถึงเรื่องนโยบาย แต่กลไกรัฐ เช่น พัฒนาชุมชน ไม่มีแนวทางนี้ ไม่มีงบในการจัดตั้ง อย่างมากก็เอาของไปแจก ซึ่งไม่ได้สร้างความเข้มแข็งและสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชน เช่น ปลูกป่าชายเลน ถ่ายรูปเสร็จก็จบ แต่การที่จะให้ป่าชายเลนยั่งยืนต้องทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของป่าชายเลนนี้ด้วย

การจะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งก็ต้องผ่านกระบวนการ เหมือนการเรียนหนังสือ ต้องมีการสอนการอบรมเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อการจัดตั้งชุมชน ซึ่งการให้ความรู้แก่ชุมชนแต่ละแห่งก็แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของปัญหา การให้ความรู้ก็มีหลายขั้นตอน บางพื้นที่ไม่เคยมีการรวมกลุ่มเลย

บางชุมชนรวมกลุ่มโดยภาครัฐแล้วระดับหนึ่ง เช่น อสม. และชุมชนที่รัฐสร้างขึ้นไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาแต่ละท้องถิ่น แต่เป็นการตอบโจทย์รัฐบาล แต่โจทย์ของชุมชนมีมาก ขบวนการจัดตั้งของเรา มันมีทฤษฎีของมันอยู่ ต้องมีกระบวนการคัดกรอง เริ่มต้นด้วยการให้การศึกษา และจะต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ฉาบฉวย สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นวิชาที่ NGO ใช้กัน แต่ราชการจะเป็นระบบงานประจำ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็ยังหวังหน่วยงานรัฐใช้ข้อมูลในการจัดการทะเล แม้ว่าพื้นที่ไหนไม่มีการจัดตั้งชุมชน แต่รัฐบาลเข้าใจปัญหา เช่น การประมงอวนลากไปทำร้ายตัวอ่อนไม่ให้เติบโตเต็มที่เพื่อมาเป็นอาหารของคนเมื่อพร้อม ถ้ารัฐได้เข้าไปจัดการตรงนี้ ก็เท่ากับเป็นการแก้ปัญหา และได้พลังมากกว่าการจัดตั้งชุมชนเสียอีก ต้องแก้ปัญหาที่ขึ้นอยู่บนฐานวิชาการ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย และทำงานอยู่บนฐานของหัวคะแนน นายทุนพรรค อันนี้เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมนี้อยู่ และเรื่องที่ดิน เรื่องป่าไม้ ก็ใช้หลักการเดียวกัน เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องเปราะบาง

 

 

สถานการณ์ป่าชายเลนตลอด 2 ฝั่งทะเลไทยเป็นอย่างไร

ปัญหาเรื่องป่าชายเลนนั้น การมีป่าชายเลนจะช่วยเรื่องการประมงชายฝั่ง ซึ่งชุมชนตระหนักในเรื่องเหล่านี้ดี แต่มีมาตรการของทางราชการห้ามตัด แต่บางครั้งการที่คนในชุมชนตัดไป 4-5 ต้นเพื่อมาทำเล้าไก่ก็ผิดกฎหมาย กลายเป็นว่าระบบราชการไม่เข้าใจวิถีชุมชน กลายเป็นเรื่องความขัดแย้งกับชุมชน ทำให้ชุมชนรังเกียจป่าชายเลน มีการทำลายกันอีก เพราะชุมชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ยังไม่สามารถนำมาใช้สอยเพื่อวิถีชีวิต เลยการเป็นการต่อต้านจากชุมชน เรื่องปัญหาป่าชุมชนจึงยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ลงตัว และต้องปรับกันอีกสักพัก

 

 

สถานการณ์ประมงชายฝั่งของไทยเป็นอย่างไร

ทางด้านปัญหาประมงชายฝั่งของไทยเท่าที่ทำงานกับชุมชนและ NGO ถือว่าดีขึ้น ช่วงโควิด-19 ทะเลเป็นหลังพิงให้กับคนตกงานเหล่านั้นเป็นอย่างดี ชาวบ้านที่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่งอยู่ตามชายทะเล เมื่อตกงานก็กลับบ้าน ออกทะเลไป ได้สัตว์ทะเลมาเป็นอาหาร นำไปขายส่วนหนึ่ง ก็อยู่รอดได้แล้ว ชาวบ้านที่เห็นคุณค่าเหล่านี้ก็ช่วยกันไล่เรืออวนที่เข้ามาลุกล้ำ เพราะเท่ากับมาแย่งอาหารของชาวบ้าน การประมงชายฝั่งจึงเข้มแข็งมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ดีขึ้นแต่ไม่ทุกพื้นที่ เพราะพื้นที่ที่ไม่มีการจัดตั้งเป็นชุมชนก็ยังอ่อนแออยู่ โดยเฉพาะการเห็นประมงอวนลุนแถวสมุทรสาคร สมุทรสงครามที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนที่ดีขึ้นมีอยู่ประมาณ 7-8% ของ 22 จังหวัดชายฝั่ง ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก เพราะเราเป็นองค์กร NGO ไม่มีบุคลากรมากที่สามารถส่งไปสนับสนุนทุกจังหวัดได้

 

 

ปัญหาของทรัพยากรประมงไทยอยู่ที่ตรงไหน

ปัจจุบันการจัดการทรัพยากรอาหารทางทะเลของทางราชการขึ้นอยู่กับนักการเมือง หัวคะแนน และนายทุนใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการประมง ดังนั้นหากเราต้องการการประมงที่ยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับแรงกดดันจากผู้บริโภค และแรงผลักดันจากชนชั้นกลาง แต่ปัจจุบันชนชั้นกลางละเลยปัญหา ทำให้คนจนเข้าถึงโปรตีนที่มาจากอาหารทะเลได้น้อยมาก เพราะราคาแพงขึ้น ปัจจุบันนี้จำนวนประมงชายฝั่งมีอยู่ 85% ที่เหลืออีก 15% เป็นการประมงจากเรืออวนใหญ่ แต่เรือพวกนี้ครองจำนวนการผลิตมากที่สุด และที่สำคัญไปทำร้ายทะเล รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ และกล้าดำเนินการอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้อาหารทะเลเป็นที่พึ่งของคนส่วนใหญ่ ในอดีตอาหารทะเลเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยมากกว่าครึ่งประเทศ แต่ปัจจุบันนี้สัดส่วนนี้ไม่ใช่เสียแล้ว อาหารทะเลเป็นอาหารที่มีประโยชน์มีคุณค่า เติบโตตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้อาหารสัตว์เป็นอาหารเลี้ยง

การฟื้นฟูหรือการส่งเสริมให้มีอาหารทะเลมากขึ้น เพียงแค่ไม่ส่งเสริมให้เรืออวนใหญ่เข้าไปจับปลาอย่างจริงจัง มีวินัยต่อการจับสัตว์น้ำด้วยการใช้อวนตาห่าง หากเราสามารถทำเช่นนี้ได้ แค่ 6 เดือน เราสามารถได้ปลาทูที่เติบโตเต็มที่มาเป็นอาหาร ได้เป็นจำนวนมาก และยังสามารถเพิ่มประชากรปลาทูในทะเลให้มากขึ้นด้วย เพราะตัวอ่อนสามารถเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ได้ แต่ปัญหาปัจจุบันนี้คือเราใช้เรือใหญ่ทำการประมง อวนตาถี่ จับสัตว์น้ำตัวเล็กมาทำปลาป่น ได้ทำลายระบบนิเวศน์ของอาหารทะเลลงอย่างมากมาย

เราปล่อยทะเลเป็นแหล่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมอาหารหารสัตว์ที่ในแต่ละปีต้องทำลายสัตว์ทะเลหลายแสนตัน เพื่อแลกมาเป็นกำไรของกลุ่มทุนเหล่านั้น ในขณะที่คนยากจนต้องไปอาศัยโปรตีนจากเนื้อที่ผ่านกระบวนการเลี้ยง ซึ่งมีต้นทุนสูง ทั้ง ๆ ที่อาหารทะเลเป็นผลผลิตโปรตีนตามธรรมชาติที่มีต้นทุนต่ำที่สุด.

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

SMART SME EXPO 2022 จัดเต็มหัวข้อการสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับ SME และผู้สนใจแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ
https://www.thaiquote.org/content/247400

ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ก็ยังมีโอกาสอีกมากมายที่น่าจับตามอง
https://www.thaiquote.org/content/247403

การลอกคราบของผีเสื้อเป็นเวลาหนึ่งเดือนในหุบเขาในยูนนานถือเป็นการแสดงความงามประจำปี ตามธรรมชาติ
https://www.thaiquote.org/content/247405