มองข้ามช็อต จากการอภิปราย “ยกสุดท้าย” คณะรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไปสู่เกมการเลือกตั้งครั้งหน้า

by วันทนา อรรถสถาวร เรียบเรียง, 24 กรกฎาคม 2565

ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรวมกัน 11 คน โดยทุกคนผ่านการไว้วางใจในรัฐสภาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ภายใต้คะแนนเสียงต่าง ๆ ที่ออกมาได้แสดงนัยที่สำคัญทางการเมืองสำหรับศึกการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของคณะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ประธานโครงการมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ช่วยวิเคราะห์ฉากทัศน์การเมืองไทยหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ยกสุดท้าย”

 

 

ดร. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ประธานโครงการมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดร. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ประธานโครงการมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

 ดร.บุญเกียรติกล่าวว่า การอภิปรายในครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราจะเห็นว่าการอภิปรายในครั้งนี้ด้วยตัวเนื้อหาอาจจะไม่เท่าไหร่ การที่จำนวนคนถูกอภิปรายมากทำให้ เนื้อหาจึงกระจายและไม่สามารถพุ่งเป้าไปยังจุดอ่อนของรัฐบาลได้ เป็นการแตะแต่ละคนนิดแต่ละคนหน่อย แต่สิ่งที่เห็นในครั้งนี้คือมีการต่อรอง แตกแยกในพรรคมากขึ้น เนื่องจากเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้าย

สิ่งที่น่าสนใจในครั้งนี้คือ จำนวนคนไม่ลงคะแนนประกาศตัวมาก ไม่นับสวน และการที่ไม่ลงคะแนนของรัฐบาลนี้จำนวนถึง 18 เสียงโอกาสพวกนี้น้อยมาก นั่นหมายความว่าตัวแทนเหล่านี้หากมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างไรก็สามารถประกาศได้ ในรอบนี้เห็นชัดเจนมาก คนที่ได้รับความไว้วางใจน้อย ๆ ตัวอย่างเช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งทั้งสองคนล้วนเป็นคนในระดับแกนนำ

ดังนั้นในการอภิปรายในครั้งนี้จึงใคร่ขอสรุปประการแรกทุกคนไม่มีความเหนียมอายทางการเมือง แสดงออกชัดเจนว่าจะต้องการอะไร ฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนพรรค ก็เลือกที่จะโหวตโดยไม่ฟังกระแสพรรค ฝ่ายค้านที่ต้องการไปอยู่ซีกรัฐบาลก็ไม่มีความเหนียมอายโหวตสวนมติพรรคเช่นเดียวกัน

ประการที่สอง พรรคเล็กมีการต่อรองอย่างเปิดเผย และการลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ทำให้เห็นระบบการจัดสรรปันส่วนแบบผสม หรือการใช้ระบบปัดเศษ ทำให้พรรคเล็กเหล่านี้มีการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น

ประการที่สาม ในแต่ละพรรคการเมืองก็ไม่มีความเกรงใจ เหนียมอายกัน เช่น ในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ถ้าต้องการกดดันคุณจุรินทร์ก็กดดันเลย เขาต้องการกดดันคุณจุติ ไกรฤกษ์ ก็แสดงท่าทีออกมาชัดเจน ในการอภิปรายรอบสุดท้าย

ดังนั้นในทางการเมืองการอภิปรายในครั้งนี้ เป็นสัญญาณเพื่อเตรียมไปสู่การเลือกตั้งรอบหน้า ถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เข้าใหม่มีระยะเวลาในการบริหารที่สั้นมากเพียง 6 เดือนโดยประมาณ ซึ่งไม่เป็นเนื้อเป็นหนังที่จะทำอะไรได้

โฉมหน้าการเลือกตั้งครั้งหน้า

ดร.บุญเกียรติวิเคราะห์ว่า “ถ้าเราดูกระแส จากการที่มีประชาชนโหวตควบคู่ไปกับการโหวตในสภา เห็นชัดเจนว่าจำนวนผู้โหวตร้อยละ 90 ไม่ค่อยเห็นด้วยกับรัฐบาล ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคซีกรัฐบาลจำเป็นต้องเกาะตัวกันให้แน่น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเผชิญกับความพยายามฟื้นตัวของพรรคเพื่อไทย และยังคงต้องเผชิญกับกระแสของพรรคก้าวไกลที่ยังคงมีอยู่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพรรคฝ่ายซีกรัฐบาลไม่เกาะกันให้แน่น โอกาสที่จะพ่ายแพ้ต่อพรรคฝ่ายค้านมีอยู่สูง”

 

 

เงื่อนไขการหารฐานด้วย 100 และ 500 มีผลอย่างไรต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า


ดร.บุญเกียรติมองต่อไปว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นหาร 100 หรือหาร 500 ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นเจ้ายุทธวิธี เชื่อว่าต่างก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ปรับตัวได้ อาจจะหมายถึงการมีพรรคย่อย ซึ่งหากให้เวลาทางซีกฝ่ายค้านเชื่อว่ามีวิธีในการแก้เกมนี้ทัน ทางซีกฝั่งรัฐบาลก็ต้องมียุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อแก้ไขสถานการณ์เช่นกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับซีกรัฐบาลคือความชัดเจนในพรรคพลังประชารัฐ เพราะว่าพรรคภูมิใจไทยมีตลาดหรือฐานเสียงเฉพาะ และคาดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่เป็นพรรคอันดับ 2 แต่อาจจะได้เป็นอันดับ 3,4 ซึ่งขนาดของจำนวนส.ส.ที่มีประมาณ 60-70 คน สามารถปรับเปลี่ยนที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายไหนก็ได้ เชื่อว่าเกมหลังเลือกตั้งไม่ใช่ว่าเพื่อไทยจะเอาภูมิใจไทยไหม แต่เป็นภูมิใจไทยจะเอาเพื่อไทยไหม

ส่วนพรรคพลังประชารัฐกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เนื่องจากฐานการก่อร่างสร้างพรรคขึ้นมาเกิดจากการรวมกลุ่มหลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่นตัวแทนของกรุงเทพมหานครที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน การเลือกตั้งล่าสุดนี้ก็ไม่ได้ ส่วนฐานเสียงในต่างจังหวัดที่เคยแข็งแกร่ง คาดว่าในขณะนี้อ่อนแรงลงไปมาก การฉายหรือขายนายกรัฐมนตรีที่เป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำได้ยากขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ เขาต้องพยายามที่จะแสดงให้ได้ว่า เขาจะเลือกใครเข้ามาแทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะลำพังพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ คงไม่มีบารมีพอ.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

โออาร์ จัดงาน Inclusive Growth Days empowered by OR เปิดแพลตฟอร์มแห่งการสร้างโอกาส รองรับ และเติมเต็มทุกการเติบโตร่วมกับพันธมิตร
https://www.thaiquote.org/content/247638

ไทยพบฝีดาษลิงรายแรกแล้ว ศึกษาโรคนี้มีอาการอย่างไร ติดต่อทางไหนได้บ้าง
https://www.thaiquote.org/content/247628

อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้คนไทยไม่ต้องตื่นโรคระบาด “ฝีดาษลิง” ย้ำไม่ติดกันง่าย ๆ เว้นแต่มีการสัมผัสทางร่างกายกับผู้ป่วย
https://www.thaiquote.org/content/247631