ศบค.ชุดใหญ่ ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบศบค. หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น กลับไปใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

by ThaiQuote, 23 กันยายน 2565

“กลไกต่อไปจะเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะดูแล และจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี” -พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม-

 

 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้ ศบค.มีอันต้องยุบเลิกไปด้วย

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบยกเลิกประกาศการบังคับใช้พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 65 เป็นต้นไป กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมติดังกล่าวต้องนำเข้าครม.วันอังคารที่ 27 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ เมื่อยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็จะทำให้การทำหน้าที่ของ ศบค. ยุติไป รวมถึงศูนย์ต่างๆ ทั้ง 9 ศูนย์ของ ศบค.ก็ต้องยุติไปด้วย และ ใช้กลไกปกติในการดำเนินการ

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า “กลไกต่อไปจะเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะดูแล และจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ส่วนประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว”

อย่างไรก็ตาม หากมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ก็สามารถประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้อีก ซึ่งในประเทศไทยหากมีเรื่องใดที่วิกฤตที่ครม.เห็นว่า ต้องใช้กฎหมายพิเศษก็สามารถทำได้ ซึ่งในเรื่องของโควิด-19 ก็จะใช้กลไกผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง กทม. และต่างจังหวัด ก็เป็นกลไกหนึ่ง ในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ก็สามารถใช้อำนาจในการประกาศเป็นโรคระบาดได้ และใช้กฎหมายที่ตนเองมีอยู่ดำเนินการได้เลย

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

 

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า หลังจากมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ที่ประชุมศบค.รับทราบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ดำเนินการ ซึ่งสำหรับเรื่องวัคซีนโควิด-19 จะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติทำหน้าที่ต่อ ส่วนการจัดหาและกระจายวัคซีน ก็จะเป็นหน้าที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ส่วนการเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน จะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มาดูแลตรงนี้ต่อไป พร้อมยืนยันว่า วัคซีนหลังจากนี้ก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย และศบค.ชุดใหญ่ ได้อนุมัติแผนจัดหาวัคซีน ตามที่กรมควบคุมโรคเสนอ

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 หลังจากนี้ว่า อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างตามสถานการณ์ ซึ่งยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ธนาคารชั้นนำด้านการเดินเรือ จับมือบริษัทประกันภัยทางทะเลคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
https://www.thaiquote.org/content/248239

e-scooter ของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นสำหรับสองที่นั่งทำให้การขนส่งสุนัขเป็นเรื่องง่าย
https://www.thaiquote.org/content/248242

ปตท. หนุนสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ด้วยเงินกว่า 730 ล้านบาทในธุรกิจเปลี่ยนตัวอ่อนแมลงวันให้เป็นอาหารสัตว์
https://www.thaiquote.org/content/248220