ตำแหน่งปวดท้อง… บอกโรคได้

by ThaiQuote, 18 พฤศจิกายน 2565

หนึ่งในอาการป่วยที่หลายคนเป็นกันบ่อย และเป็นๆ หายๆ แถมดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาหรืออาจถือได้ว่าปกติมากๆ นั่นก็คือ “อาการปวดท้อง” แต่ใครจะรู้ว่าอาการเหล่านี้อาจกำลังเตือนเราว่ามีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่ก็ได้

 

ปกติในทางการแพทย์จะมีการแบ่งช่องท้องออกเป็น 4 ส่วน โดยมีเส้นจุดตัดบริเวณสะดือ ซึ่งสามารถแบ่งจุดที่ปวดท้องได้ 5 จุด ดังนี้

  

 

• ปวดท้องขวาบน อวัยวะที่อยู่บริเวณท้องด้านขวาบน คือ ตับ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี ถ้า “ถุงน้ำดีอักเสบ” จะมีอาการปวดท้องต่อเนื่องและมีไข้ร่วมด้วย ส่วน “นิ่วในถุงน้ำดี” ปกติแล้วหากมีนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการใดๆ แต่อาการปวดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนิ่วหลุดมาที่ท่อน้ำดี ทำให้ทางเดินน้ำดีถูกอุดกั้น ร่างกายจึงพยายามบีบไล่นิ่วให้หลุดจากท่อบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวด อาการปวดนิ่วในท่อน้ำดีจะปวดแบบเฉียบพลัน 15-30 นาที โดยจะปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยบางคนปวดจนตัวงอ เหงื่อแตก ใจสั่น อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ข้างหลัง หรือปวดไปที่สะบักข้างขวาก็ได้ หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว
• ปวดท้องซ้ายบน อวัยวะที่อยู่บริเวณท้องด้านซ้ายบนคือ “ม้าม” หากปวดรุนแรง ปวดมาก มักเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงม้าม เช่น ม้ามขาดเลือด แต่เป็นภาวะที่เจอน้อยมาก มักจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย คนทั่วไปอาจไม่เจอปัญหาเรื่องนี้ แนะนำควรพบแพทย์ดีกว่า หากปวดบริเวณนี้
• ปวดท้องขวาล่าง หลายท่านอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นตำแหน่งของ “ไส้ติ่ง” อาการไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดจุกที่รอบๆ สะดือ ก่อนย้ายไปที่ด้านขวาล่าง จนปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีไข้ร่วมด้วย อาการนี้ถือว่าเข้าข่ายภาวะไส้ติ่งอักเสบ ถือว่าร้ายแรงพอสมควร หากมีอาการปวดแบบรุนแรงต้องรีบพบแพทย์
• ปวดท้องซ้ายล่าง ด้านซ้ายล่างเป็นตำแหน่งของ “ลำไส้ใหญ่” ส่วนปลาย หากปวดเป็นๆ หายๆ ร่วมกับการถ่ายอุจจาระผิดปกติ ให้ระวังเรื่องลำไส้แปรปรวน หรือหากเป็นผู้สูงอายุอาจต้องระวังเรื่อง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เพราะอาจจะมีการอุดกั้นทางเดินอาหารได้ อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการคล้ายท้องผูก มีพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนไปจากเดิม มีภาวะซีด ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หากไม่แน่ใจและอายุค่อนข้างมาก ควรไปพบแพทย์ตรวจเพิ่มเติมดีที่สุด
• ปวดท้องตรงกลาง อาการปวดท้องตรงกลางจะเกี่ยวข้องกับ “กระเพาะอาหาร” โดยปกติแล้วอาการปวดจะอยู่บริเวณกลางท้องค่อนไปทางเหนือสะดือเป็นหลัก หากลึกกว่านั้นจะเกี่ยวกับตับอ่อน ซึ่งอยู่บริเวณค่อนข้างกลางๆ หรือบริเวณลิ้นปี่แต่อยู่ลึก อาการ “ตับอ่อนอักเสบ” จะมีอาการปวดบริเวณเหนือลิ้นปี่ และปวดตลอดอย่างต่อเนื่อง หากมีไข้ร่วมด้วยควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเร็วที่สุด

เพราะฉะนั้นการสังเกตอาการตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ… ใครที่มีอาการปวดท้องเป็นประจำจนเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดดีที่สุด! จะได้รู้ว่าอาการปวดท้องที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากอะไรกันแน่! และรักษาได้อย่างถูกต้องนั่นเอง

ที่มา: โรงพยาบาลรามคำแหง

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

การศึกษาใหม่ชี้ Paxlovid สามารถป้องกัน Long-COVID ได้
https://www.thaiquote.org/content/248732

ภูมิแพ้ขึ้นตา หากปล่อยไว้เสี่ยงต่อเยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง
https://www.thaiquote.org/content/248724

“นิ้วล็อค” ไม่รีบรักษา ระวัง!… ล็อคถาวร
https://www.thaiquote.org/content/248687