ปลาเก๋าหยก เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศไทย

by ThaiQuote, 10 กุมภาพันธ์ 2566

ปลาเก๋าหยก หรือ Jade Perch มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็น 1 ใน 13 ชนิดสัตว์น้ำที่กรมประมง ‘ห้ามเพาะเลี้ยง’ ในราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน หรือเอเลี่ยนสปีชี่ส์ (Alien species) คือ การที่มีชนิดพันธุ์ใหม่จากต่างถิ่นเข้ามาบุกรุกชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิม ทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิมหายไป จนเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ

 

แม้จะมีชื่อว่าปลาเก๋าแต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ปลาเก๋า แต่จัดอยู่ในวงศ์ปลาข้างตะเภา (Terapontidea) ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกับปลากะพง แต่ด้วยสมัยนั้นคนไทยอาจจะยังไม่รู้จักปลา Jade Perch จึงอยากได้ชื่อภาษาไทยที่สามารถจำได้ง่ายและดูมีราคา ถ้าเป็นปลากะพงหยก จะเป็นชื่อที่ค่อนข้างยาว และปลากะพงยังมีราคาต่ำ เมื่อเทียบกับปลาเก๋าในสมัยนั้นท้ายที่สุด จึงได้ตั้งชื่อว่า ‘ปลาเก๋าหยก’ เนื่องจากจดจำได้ง่ายและกลายแป็นปลาชนิดที่มีราคาสูง

ลักษณะรูปร่างมีร่างหนาโค้งมน มีหัวขนาดเล็ก หัวและหลังโค้ง ท้องมีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนกลม มีเกล็ดค่อนข้างละเอียด ครีบหางสั้นและเว้าเล็กน้อย ทั้งสองด้านหรือด้านใดด้านหนึ่งจะมีจุดสีดำรูปวงรี 1-3 จุด หรืออาจมากกว่านั้น

ปลาชนิดนี้ มีพฤติกรรมการกิน คือสามารถกินได้ทุกอย่าง จนแทบจะไม่หลงเหลืออะไรไว้ ณ พื้นที่นั้น ๆ เลย ปลาเก๋าหยก สามารถเติบโตในน้ำได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 21-25 องศาเซลเซียส และสามารถอยู่ในน้ำที่มีค่า pH ตั้งแต่ 5.5 ถึง 8.5 ได้ อีกทั้งยังสามารถทนความเค็มได้ถึง 16 เรียกได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของการเอาตัวรอดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้เป็นอย่างดี

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน คือ การมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามารุกรานในถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิม แก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย แย่งอาหาร รวมถึงการยับยั้งการสืบพันธุ์ของชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิม ทำให้ไม่สามารถสืบพันธุ์และถ่ายทอดลักษณทางพันธุกรรมได้ ทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิมหายไป ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติในที่สุด

ดังนั้น หากเราเลี้ยงแล้วเผลอทำหลุดลงไปธรรมชาติ ด้วยพฤติกรรมที่ปลาเก๋าสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด ปลาเก๋าหยกจึงมีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่าปลาท้องถิ่น ปลาเก๋าหยกจะแย่งอาหาร แย่งที่อยู่อาศัย รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ทำให้ปลาท้องถิ่นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และตายในที่สุด ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพได้ในอนาคต

ที่มา: ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์/ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
รูป: https://www.pinterest.com/

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ความหวังของผู้รอดชีวิตริบหรี่ หลังยอดแผ่นดินไหวในตุรกี-ซีเรียทะลุ 20,000 คน
https://www.thaiquote.org/content/249468

บีเวอร์กำลังฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างไร
https://www.thaiquote.org/content/249460

แฮมอิเบริโกที่โด่งดังไปทั่วโลกกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
https://www.thaiquote.org/content/249432