3 คำถามรู้ทันนโยบายหาเสียงไม่รับผิดชอบ “ทำได้ไหม ทำทำไม ทำอย่างไร”

by ThaiQuote, 9 เมษายน 2566

หลายวันที่ผ่านมาและนับจากนี้ต่อเนื่องไปจนถึงก่อนวันชี้ชะตะเลือกตั้ง ส.ส. 14 พ.ค. 2566 พรรคการเมืองทุกพรรคแห่ออกมาพูดนำเสนอนโยบายกรอกหูคนไทยทุกวัน บรรดาและต่างก็พยายามเกทับปลั๊ฟแหลก เสนอนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ที่มากกว่าแก่ประชาชน เหมือนกับที่เห็นตลอดหลายปีมานี้

 

การแข่งขันกันนำเสนอนโยบายให้ผลประโยชน์กับประชาชน เริ่มต้นขึ้นจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของพรรคไทยรักไทยที่กวาดส.ส. มาได้เป็นอันดับหนึ่ง เมื่อปี 2544 ต่อเนื่องถึงการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยนำโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้หาเสียงและดำเนินนโยบายจนได้ใจประชาชนในหลายโครงการ เช่น นโยบายพักหนี้เกษตรกร นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค การอัดฉีดเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน และโอทอป ทำให้ทุกพรรคการเมืองหันมาให้ความสำคัญกับการหาเสียงเชิงนโยบายเหมือนกัน

สุดท้ายเกิดคำถามว่า การแข่งขันกันเสนอให้ผลประโยชน์ประชาชนหลายๆเรื่องไม่คำนึงผลกระทบที่ตามมา เช่น การใช้จ่ายงบประมาณที่เกินตัว การดำเนินการโครงการมีความเสี่ยงทำแล้วเกิดการทุจริตรั่วไหล และหลายโครงการนอกจากไม่ก่อเกิดประโยชน์ในภาพรวมแล้วยังกระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว เช่นโครงการรับจำนำข้าว ที่ใช้งบประมาณถึง 7 แสนล้านบาท จนเรียกได้ว่าเข้าสู่ภาวะ “ประชานิยมสุดขั้ว”

การเลือกตั้งส.ส.ที่กำลังจะมาถึงครั้งใหม่นี้ บรรดาพรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถหลุดออกจากแนวทางหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมสุดขั้ว ยังแข่งขันกันลดแลกแจกแถมกันเป็นล่ำเป็นสัน แม้จะมีบางพรรคฯมีความพยายามกำหนดนโยบายแจกควบคู่กับทำโครงการส่งเสริมให้ประชาชนผู้รับสิทธิช่วยเหลือมีการพัฒนาตนเอง เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้เลี้ยงชีพ เช่น พรรคพลังประชารัฐ ที่จะเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจาก 500 บาทเป็น 700 บาท พร้อม ๆ กับมีโครงการตั้งศูนย์พัฒนาประชารัฐทั่วประเทศ เพื่อที่จะให้ผู้รับสิทธิเข้าอบรมทักษะอาชีพเพิ่มเติม เป็นต้น

ดังนั้นการที่เมืองไทยดำเนินนโยบายประชานิยมต่อเนื่องมากว่า 20 ปี จึงมีคำถามว่าทำให้คนส่วนใหญ่อาจเสพติดการให้การแจกแล้วใช่หรือไม่ บรรดาพรรคการเมืองจึงไม่สามารถขายนโยบายที่มุ่งเพื่อการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ยังจำเป็นต้องขายนโยบายประชานิยมสุดขั้วเช่นเดิม

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายยอมรับว่า การแจกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มคนเปราะบาง อาจมีความจำเป็นในสถานการณ์หนึ่งและควรเป็นนโยบายในระยะสั้น เพื่อไม่ให้สังคมติดเสพการได้มาแบบฟรีๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมีนโยบายอีกด้านที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้วย และที่สำคัญคนไทยต้องรู้ทันว่า นโยบายที่นำเสนอเหล่านั้นเป็นเพียงการขายฝันสวยหรู เป็นการหาเสียงโดยไม่มีความรับผิดชอบหรือไม่

เวลาฟังพรรคการเมืองหาเสียงคนไทยจำเป็นต้องมีคาถาประจำใจเพื่อป้องกันถูกผีหลอก โดยตั้งคำถามง่ายๆ 3 ข้อแล้วให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองตอบ คือ 1.เป็นโครงการที่ทำได้จริงหรือไม่ พรรคการเมืองต้องตอบให้ได้ว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ จัดหางบประมาณมาจากไหน 2.ทำไปทำไม พวกเขาต้องตอบให้ได้ว่าทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร ประเทศได้อะไร มีผลกระทบอะไรตามมาบ้าง 3.ทำอย่างไร มีกระบวนการหรือกลไกลที่จะทำให้สำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง ปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่จะแก้ไขอย่างไร

หากบรรดาพรรคการเมืองตอบไม่ได้ครบทั้ง 3 ข้อ หรือตอบแล้วไม่กระจ่าง ก็สันนิฐานได้เลยว่านโยบายที่หาเสียงนั้น เป็นเพียงนโยบายขายฝันลมๆแล้งๆ ประดิษฐ์ขึ้นมาให้ดูสวยหรูแต่ทำไม่ได้จริง ในทางกลับกันขอเตือนพรรคการเมือง ก่อนที่จะขายนโบบายอะไร ควรทำการบ้านให้หนักและตอบคำถามให้ได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะไม่ยอมถูกหลอกเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

ผดุงศักดิ์   เหล่ากิจไพศาล
ผดุงศักดิ์ เหล่ากิจไพศาล ผู้อำนวยการฝ่าย content PMG Corporation Co.,Ltd. อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และอดีตบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจเนชั่นทีวี
Tag :