ธ.ก.ส.จับมือกับภาคีเครือข่าย ตั้งมั่นเป็นธนาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Model

by ThaiQuote, 25 สิงหาคม 2566

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เผยมุ่งหมายจับมือกับภาคีเครือข่่าย ร่วมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและการเติบโตภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Model

 

 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า "ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและการเติบโตภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยได้ขับเคลื่อนภารกิจสีเขียว ทั้งในระดับชุมชน ภาคีเครือข่ายและองค์กร ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยมีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,814 ชุมชน ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 12.4 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท"

การยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งเป็นการนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้คนในชุมชนหันมาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรายได้ อาทิ การเพาะกล้าไม้ การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำส้มควันไม้ สมุนไพร และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่าแล้ว 404 ชุมชน และสร้างรายได้จากกิจกรรมดังกล่าวแล้วกว่า 116 ล้านบาท การประสานความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการให้ความรู้และสร้างผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ จำนวน 1,504 ราย ทำให้ชุมชนสามารถนำต้นไม้ที่ปลูกมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้วจำนวน 4.4 ล้านบาท และเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในยุคดิจิทัล และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกธนาคารต้นไม้

ธ.ก.ส. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) เพื่อใช้ในการบันทึก รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต้นไม้ โดยสามารถคำนวณมูลค่าต้นไม้และปริมาณในการกักเก็บคาร์บอนต้นไม้ได้อีกด้วย เพื่อสนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อน ธ.ก.ส. ได้จัดโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีการปลูกต้นไม้เพิ่มในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 150,790 ต้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนกิจกรรม ลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) โดยร่วมกับองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ให้ความรู้ในการตรวจวัดต้นไม้ บันทึกข้อมูล และการวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งมีชุมชนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 76 ชุมชน และสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 1.59 ล้านตันคาร์บอน นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังต่อยอดในรูปแบบธุรกิจภายใต้โครงการ BAAC Carbon Credit โดยนำร่องการพัฒนาระบบการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน โดยเริ่มที่ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น บนพื้นที่ประมาณ 369 ไร่ ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้กว่า 453 ตันคาร์บอน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,624,000 บาท

นายฉัตรชัยกล่าวว่า "การบูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการนำน้ำมาใช้ในกระบวนการผลิตทางการเกษตร โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,670 แห่งทั่วประเทศ การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในภาคการเกษตร พร้อมลดมลภาวะทางอากาศผ่านโครงการลดการเผาวัสดุทางการเกษตรฯ เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพดและตอซังข้าวโดยการให้ความรู้ เข้าไปช่วยแก้ปัญหา และสร้างเครือข่าย มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 443,534 ไร่ มีวัสดุการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ใบอ้อยหรือฟางข้าวที่ชุมชนสามารถนำมาบริหารจัดการจนเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกในชุมชนกว่า 420 ล้านบาท"

ทั้งยังเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตสู่เกษตรแบบปลอดการเผาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีการสนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน รวมถึงการปรับปรุงการทำนาข้าวแห้งสลับเปียก เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ธ.ก.ส. จะเชื่อมโยงไปสู่ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

สำหรับการขับเคลื่อนภายในองค์กร ธ.ก.ส. จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) โดยลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพลังงานและทรัพยากรในสำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศ อาทิ การลดปริมาณขยะ การนำน้ำเสียมาปรับคุณภาพเพื่อใช้รดต้นไม้ โครงการติดตั้ง Solar Roof Car park โครงการกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการติดตั้งเครื่องควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ (VSD) และโครงการปรับ ลด ปลด เปลี่ยน เพื่อลดพลังงาน รวมถึงการรณรงค์ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

"ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Model เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและความยั่งยืนภาคการเกษตร โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) และสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้าน หนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การลดปริมาณของเสีย (Zero waste) ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับรายได้และสร้างการเติบโตภาคเกษตร ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050"นายฉัตรชัยกล่าวในที่สุด

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

รัฐบาลปรับปรุงองค์กรและระเบียบราชการ รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย
https://www.thaiquote.org/content/250991

ถอดรหัส DNAออมสิน ธนาคารเพื่อสังคมบนเส้นทาง ESG
https://www.thaiquote.org/content/250986