กลุ่มธุรกิจ SCGC กวาด 11 รางวัล ต้นแบบอุตสาหกรรมคู่ชุมชนยั่งยืน

by ThaiQuote, 11 กันยายน 2566

11 บริษัทในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC รับรางวัลจากการ กนอ. ด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยปี 2566 เผยรางวัลเชิดชูอุตสาหกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมชุมชน มีธรรมาภิบาล พร้อมกับจัดการระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ตอบโทย์แแผนแม่บทขจัดมลพิษโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือ มาบตาพุด

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้มอบรางวัล 11 บริษัทในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC จาก กนอ. ภายใต้โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ประจำปี 2566 ได้แก่ รางวัลธงขาว-ดาวทอง และรางวัลธงขาว-ดาวเขียว ซึ่งพิจารณาจากผลการตรวจประเมินโรงงานในด้านต่างๆ อาทิ ศักยภาพการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ตามแผนลดและขจัดมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด

สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือเอสซีจีซี (SCGC) ที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยยอดเยี่ยม (ธงขาว-ดาวทอง) ประจำปี 2566 ซึ่งมอบให้กับโรงงานที่ผ่านเกณฑ์ในระดับดีเยี่ยม ได้แก่ บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แกรนด์สยามคอมโพสิต จำกัด บริษัท ไทยเอ็มเอฟซี จำกัด บริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด และบริษัท ระยอง เทอร์มินอล จำกัด

นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือเอสซีจีซี (SCGC) ที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยยอดเยี่ยม (ธงขาว-ดาวเขียว) ประจำปี 2566 ซึ่งมอบให้กับโรงงานที่ผ่านเกณฑ์ในระดับดี ได้แก่ บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ไอโค พอลิเมอร์ จำกัด บริษัท แกรนด์สยามคอมโพสิต จำกัด บริษัท ไทยเอ็มเอ็ฟซี จำกัด บริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด บริษัท ระยอง เทอร์มินอล จำกัด บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ทีพีซี เพสต์ เรซิน จำกัด

โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีเกณฑ์การพิจารณาตามมาตรฐานสากล 13 ด้าน ได้แก่ การจัดการพื้นที่สีเขียว ระบบระบายน้ำ การส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจชุมชน การจัดการน้ำ การจัดการกากอุตสาหกรรมและลดปริมาณของเสีย การจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการไอระเหยของสารเคมี (เฉพาะโรงงานที่มีสาร VOC) ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน การจัดการอุบัติเหตุและอุบัติภัย ข้อร้องเรียนที่มีต่อโรงงานฯ นั้น ๆ คุณภาพชีวิตและสังคมของพนักงานในโรงงาน คุณภาพชีวิตและสังคมของชุมชนโดยรอบ และการบริหารจัดการโรงงาน โดย กนอ. ได้จัดตั้งภาคีเครือข่ายของหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของแต่ละโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้ชุมชนและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน