เร่งยกระดับวาระแพลงก์ตอน หาต้นเหตุน้ำเสีย ก่อนถึงจุดวิกฤติทะเลไทย

by ThaiQuote, 14 กันยายน 2566

นักวิชาการมองตรงกัน สภาพปัญหา แพลงก์ตอนบลูม เป็นปรากฎการณ์โลกแปรปรวน ทะเลคุณภาพแย่ลง หวั่นกระทบ ภาคเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และชุมชนระยะยาว ติดตามเอลนีโญซ้ำเติมปัญหา เร่งยกระดับวาระแพลงก์ตอน แก้ไขปัญหาให้ชัด จากความร่วมมือทุกภาคส่วนก่อนวิกฤติทะเลไทย ด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรีชี้ ถึงเวลาติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียจริงจัง

 

 

จากปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูม สะท้อนได้ถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ส่งผลกระทบต่อความผิดปกติของธรรมชาติในท้องทะเล ที่เป็นช่วงเดียวกันกับ ปัญหาน้ำมัน ดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล (SBM-2) ในวันที่ 3 กันยายน 2566 นักวิชาการ 2 ท่านประเมินผลการสำรวจคุณภาพน้ำ


ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงที่มาวงจรการเกิดแพลงก์ตอน ทางคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้เข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องเกี่ยวกับคุณภาพน้ำทะเล จากสถานีศรีราชา โดยดูจากข้อมูลย้อนหลังในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า น้ำเขียวช่วงพฤษภาคม-ตุลาคม เป็นช่วงเกิดเหตุการณ์ และน้ำจะกลับมาดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนพฤษภาคน ปีถัดไป ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมพัดน้ำเขียวมาสู่ฝั่งด้านนี้ ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากการไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทย

ทั้งนี้ ปีนี้มีปรากฎการณ์เอลนีโญ รุนแรงขึ้น และสภาพอากาศแปรปรวน จึงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอน จนเป็นภัยคุกคาม ภาคธุรกิจเกี่ยวข้อง อาทิ การประมง การเพาะเลี้ยง และการท่องเที่ยว ส่งผลไปถึงการทำเกษตร กระทบกับครอบครัวที่ต้องพึ่งพาทะเล ทะเลคือแหล่งกระจายรายได้ดีที่สุด สร้างอาชีพสร้างงานขอเพียงรักษาทะเลที่สมบูรณ์ไว้ คนริมทะเลก็ยังหาเช้ากินค่ำต่อไปได้


“หากทะเลกลายเป็นเช่นนี้ จะหาเช้าหาค่ำก็คงไม่พอกิน และหนี้สินก็จะตามมาธรรมชาติที่ดีคือเศรษฐกิจที่ดี ธรรมชาติที่ดีคือทุกคนที่อยู่รอบๆ มีความสุข มีอาชีพมีรายได้เพียงพอแต่ถ้าทะเลกำลังตาย จะกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเท่าไหร่ สุดท้ายจานข้าวก็ว่างเปล่า”


ปรากฎการณ์แพลงก์ตอน ที่เกิดขึ้นในทะเลบางแสน ศรีราชา น้ำทะเลสีเขียว ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ปลาตาย เพราะกระแสน้ำ คลื่นลม พัดอยู่บริเวณ บางแสน/บางพระ/ศรีราชา แพลงก์ตอน เกิดการย่อยสลายที่ใช้ออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในมวลน้ำชั้นกลาง/ใกล้พื้นทะเลลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ออกซิเจนในน้ำจะต่ำลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ บางแห่งไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

เมื่อสำรวจไปยัง สำรวจคุณภาพน้ำบแถวศรีราชา/บางแสน พบว่า มีค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำ และเกิดแพลงก์ตอนบลูมถี่ขึ้น กลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงของชายฝั่งทางตะวันออก ถือเป็นมันเป็น

ปัญหาที่สะสมมานาน โดยมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังนี้ คือ

1.เร่งสนับสนุนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางเตือนภัย/แก้ไขระยะสั้นกลางยาว จำแนกผลกระทบที่ซับซ้อนในพื้นที่
2.ยกระดับประเด็นปัญหา ตั้งคณะอะไรสักอย่างมารับมือผลักดันโดยอิงกับหลักวิชาการ เพราะความรุนแรงไม่เหมือนก่อน มันเกินกว่ากลไกปรกติจะทำงานไหว
3.ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ช่วยผลักดันและสนับสนุนนโยบาย/งบประมาณ เพราะความเดือดร้อนมันจริงจังและรุนแรง



“หากคิดจะสู้ เราต้องยกระดับการรับมือ หนึ่งการทดลองการยกระดับของคณะประมง ใช้เทคโนโลยีและการสำรวจร่วมกันหลายรูปแบบ เพื่อเข้าใจข้อมูลที่แท้จริง และเตือนภัยล่วงหน้า จะไปต่อได้แค่ไหน ต้องรอดูความจริงจังในการสนับสนุนช่วยกันของทุกฝ่าย เหมือนกับที่เคยบอกซ้ำแล้วซ้ำเล่านักวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ แต่แนวทางการแก้ปัญหา ต้องมาจากความร่วมมือทุกฝ่าย เริ่มต้นจาก ฝ่ายนโยบาย/รัฐบาล ที่จะส่งผลกระทบต่อทะเล และภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่อง หากไม่มีการแก้ไขปัญหาจริงจัง ซึ่งในปัจจุบัน การติดตามทำงานและแก้ไขปัญหาแพลงก์ตอนยังเป็นแบบติดตามปลายเหตุ เพราะยังเข้าใจวัฎจักรท้องทะเลให้ชัดเจน”

แพลงก์ตอนบลูมเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากทิศทางลมแรงขึ้น จึงพัดเอาแพลงก์ตอนมารวมตัวบริเวณชายฝั่ง จนทำให้เกิดสีเขียววงกว้าง ซึ่งโดยทั่วไป เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม จากนั้นจะถึงช่วงบางแสนน้ำใส พักปิดเทอมกันยาวๆ จนถึงหน้าฝนปีหน้า แพลงก์ตอนจะลดลง เมื่อคลื่นลมเบาลง มวลน้ำเขียวก็อาจไม่ลอยเข้าไป ทำให้แพลงก์ไม่ขยายตัว ลดลงจนถึงฤดูฝนปีหน้า

"หาดบางแสนถึงวอนนภา มีส่วนยื่นออกมาจากชายฝั่ง จึงกลายเป็นเขตรับมวลน้ำเขียวจากทะเล รวมถึงปลาตายที่ลอยมาตามกระแสน้ำ/คลื่นลม มวลน้ำเขียวยังไหลเข้าสู่แพเพาะเลี้ยงริมชายฝั่ง หากอยู่ขอบนอกก็เจอเยอะหน่อย แพลงก์ตอนไม่เป็นพิษ แต่เมื่อมีเยอะมากๆ จะทำให้แสงส่องลงไปในน้ำได้น้อยมาก"


4 สีจัดระดับวิกฤตทะเลไทย

มีการนำผลวิจัย จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก.ทำแบบจำลองแสดงค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ในบริเวณอ่าวไทยตอนใน ค่าที่ใช้เป็นข้อมูลย้อนหลัง เพื่ออธิบายสถานการณ์น้ำเขียว/แพลงก์ตอนบลูมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในชายฝั่ง EEC บางแสน/บางพระ/ศรีราชา/แหลมฉบัง ถูกแบ่งระดับความรุนแรง เป็นชนิดของสี ดังนี้ คือ

 



สีแดง ถือว่าทะเลปรกติ ค่า DO มากกว่า 5
สีเหลือง/สีเขียวโผล่ขึ้นมาก็ยังพอรับได้ DO มากกว่า 3
สีฟ้าปนน้ำเงิน เข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน ค่า DO ต่ำลงจนปริมาณออกซิเจนไม่พอ (ต่ำกว่า 2)
สีน้ำเงินโผล่มาถือว่าวิกฤตแล้ว ค่า DO ต่ำกว่า 0.5 สัตว์น้ำจะตายกันหมด

กรณีที่เกิดขึ้นที่บางแสน และศรีราชา ต้องประเมินผลถึงขนาดพื้นที่/ระยะเวลาที่เกิดขึ้น หากความเสียหายขยายพื้นที่กว้าง/ออกซิเจนต่ำมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน นำไปสู่การเกิดปัญหารุนแรงได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปริมาณแพลงก์ตอนบลูมทำให้ค่าออกซิเจนในทะเลต่ำลง โดยมีสาเหตุมาจาก เช่น น้ำเบียด หรือ ปริมาณน้ำจืดไหลลงทะเลเยอะ ทำให้น้ำแยกเป็นชั้น ออกซิเจนในมวลน้ำข้างบนลงไปไม่ถึงข้างล่าง

“เดือนพฤษภาคมถือเป็นช่วงตีระฆัง ปัญหาเริ่มมาแล้ว สังเกตว่าสีน้ำเงินจะปรากฏ 2 หย่อม ส่วนหนึ่งอยู่ด้านมุมซ้าย นั่นคือปากน้ำแม่กลอง อีกส่วนคือด้านขวา เรื่อยลงมาตามชายฝั่งขวา เป็นเขตตั้งแต่เจ้าพระยา บางปะกง บางแสน ศรีราชา แหลมฉบัง"

วงจรปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม
เกิดตามฤดูกาล

วงจรชีวิตแพลงก์ตอนบลูมตลอดทั้งปี เริ่มจากต้นปี มกรา/กุมภา/มีนา ทะเลเป็นสีแดง แทบจะไม่เกิดแพลงก์ตอนบลูม เพราะเป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำจืดลงทะเลน้อย ธาตุอาหารต่างๆ จึงมีน้อย พอเข้าเดือนเมษา เริ่มมาประปราย เดือนพฤษภาคม เริ่มเปิดปัญหาเข้าขั้นวิกฤต สีน้ำเงินปรากฏ 2 จุด ทางด้านตะวันตก พื้นที่ปากน้ำแม่กลอง และด้านตะวันออก เขตเจ้าพระยา บางปะกง บางแสน ศรีราชา แหลมฉบัง ซึ่งมีมากกว่า เพราะว่า เป็นเขตชุมชนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากมาย เป็นตัวเพิ่มธาตุอาหารให้แพลงก์ตอน ที่เกิดจากค่าออกซิเจนต่ำ/สัตว์น้ำตาย
ปรากฎการณ์แพลงก์ตอน จึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เริ่มลดลง

ส.อ.ท.แนะหาตัวกลางพิสูจน์ต้นตอปัญหา


นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวให้ความเห็นว่า ปัญหาแพลงก์ตอนเกิดขึ้นก่อนเกิดน้ำมันรั่วไหล แต่แน่นอนว่าคุณภาพน้ำคุณภาพน้ำทะเลแย่ลงทุกปีเป็นเรื่องจริงที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหา แต่สิ่งสำคัญคือ การมีหน่วยงาน เครื่องมือ หน่วยงานกลางมาทำหน้าที่หาตัวชี้วัด ประเมินคุณภาพของน้ำ พร้อมกันกับค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และจะมีวิธีการในการบำบัดน้ำอย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญทุกหน่วยงานจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทาง สำนักทรัพยากร​ทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี ได้มีการจัดหารือประเด็นแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) หรือ ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ที่เกิดขึ้นบริเวณชายหาดบางแสน บางพระ และพัทยา จนทำให้ปลาหลากหลายชนิดตายเกลื่อนชายหาด

นักวิชาการจ.ชลบุรี
ชี้ถึงเวลาติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียจริงจัง

นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯเปิดเผยถึงผลศึกษาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าปลาตายจำนวนมาก เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ซึ่งทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและน้ำมีกลิ่นแรง และยังทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนและตายเป็นจำนวนมาก”

" ขณะนี้ในพื้นที่บางพระ น้ำทะเลก็ยังสีเขียวอยู่มากแต่ไม่พบผลกระทบแนวปะการัง และไม่พบคราบน้ำมันจากการสุ่มเก็บตัวอย่างและการลงพื้นที่ ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว" นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ กล่าว

สำหรับปรากฏการณ์ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่จะทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นักท่องเที่ยวจึงไม่ควรลงเล่นน้ำ เนื่องจากอาจมีอาการคันและระคายเคืองได้ ส่วนอาหารทะเลนั้น สามารถจับและรับประทานได้ตามปกติ

สำหรับแนวทางการแก้ไขเรื่องแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) นั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ ให้ความเห็นว่า “ควรให้ความรู้เกี่ยวกับ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ต่อประชาชน และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอย่างจริงจัง”