“Zero Dropout พาเด็กไทยกลับสู่ห้องเรียน นวัตกรรมเรียนรู้ยืดหยุุ่นตอบโจทย์เด็ก 3 ทางเลือก

by ThaiQuote, 22 กันยายน 2566

“แสนสิริ” ปลดล็อกช่องว่างโอกาสการศึกษา ปั้นนวัตกรรมเรียนรู้โครงการ “Zero Dropout” พาเด็กไทยกลับสู่ห้องเรียนด้วย 3 รูปแบบการเรียนรู้ยืดหยุ่น ตอบโจทย์วิถีการเรียนรู้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองต่อเป้าหมาย ปั้น“ราชบุรีโมเดล” นำร่องแก้ระบบความเท่าเทียมการศึกษา ปีที่ 2 ผ่านการระดมทุนเพื่อสังคม 100 ลบ.

 

 

 

เด็กเยาวชนคืออนาคตของชาติ และเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ เด็กทุกคนจึงควรได้รับโอกาสการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ทว่า ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งต้องหลุดจากระบบการศึกษา จนถือได้ว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กัดกร่อนระบบการศึกษาไทยนับตั้งแต่มีโควิด -19 ระบาด เด็กไทยกว่า 2 ล้านคนไม่ได้เข้าสู่ห้องเรียน ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน

 


นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเด็กเยาวชน เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่มุ่งมั่นส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม สู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงในระดับประเทศ จึงประสานงานกับภาครัฐ และเอกชน ขับเคลื่อน”ราชบุรี โมเดล” ต้นแบบพาเด็กเยาวชนกลับสู่ระบบการศึกษา โดยโครงการมีระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2565-2567) ตั้งเป้าไร้เด็กเยาวชน วัยศึกษาหลุดออกนอกห้องเรียนเป็นศูนย์ในปีหน้า (2567)

 


“ตามที่แสนสิริได้ดำเนินโครงการ ZERO DROPOUT วางแผนระยะยาว 3 ปี นำร่องแห่งแรกที่จังหวัดราชบุรี ให้เป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศ ช่วยเด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ในปี 2567 ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี ร่วมด้วยแสนสิริที่สนับสนุนเงินทุนในโครงการจำนวน 100 ล้านบาท

 


โครงการดังกล่าวกำลังจะดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 2 โดยได้เห็นความคืบหน้าและความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ อย่างเช่นการสร้างโมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อเป็นตัวเลือกทางการศึกษาแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ ตลอดจนการเปิดพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิต

 


โดยโครงการเข้าไปสนับสนุนทุนการศึกษาทางเลือกให้กับเด็กเยาวชนและเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยโดยการช่วยลงมือ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน พร้อมกันกับสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่

 


โดยโครงการพื้นที่แห่งแรกที่เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน “ราชบุรีโมเดล” เป็นจังหวัดต้นแบบนวัตกรรมการศึกษาของประเทศ ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและยั่งยืน

 


สำหรับผลงานที่ผ่านมา กับพันธกิจโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ สามารถลดจำนวนเด็กเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา รวมไปถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วให้สามารถได้รับการศึกษาและพัฒนาให้มีทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ ได้แล้วจำนวน 9,311 คน จากทั้งหมด 10 อำเภอ

 


“ล่าสุด ลดจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาราว 1 หมื่นคน จาก 10 อำเภอ จึงผลักดันโมเดล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และศูนย์การเรียนรู้ สร้างโอกาส ให้กับเด็กเยาวชน”

 


3 โมเดลการเรียนรู้ยืดหยุ่น เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง


โดยโครงการล่าสุดได้ออกแบบโมเดลรูปแบบการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เริ่มต้นนำร่องใน 12 โรงเรียน ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อยู่ในขั้นตอนวางแผนสร้างความรู้และความเข้าใจ ก่อนจะมีการขยายไปทุกเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดราชบุรี พื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่นี้ เอื้อให้โรงเรียนจัดการศึกษา ได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

     1. การศึกษาในระบบ รูปแบบเดียวกันกับหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน
     2.การศึกษานอกระบบ มีการปรับการเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่นขึ้นด้วยเนื้อหาหลักสูตรสอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม
     และ3.การศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ

 

 

โดยการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบ สามารถเทียบโอนผลการเรียนที่สะสมไว้ได้ ทั้งในเรียนรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ครอบคลุมไปถึง การเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงาน รวมถึงการสร้างศูนย์การเรียนรู้ สร้างโอกาส พื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ออกแบบการเรียนรู้เป็นรายคน (Personalized Learning) มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขการเข้าเรียน ไม่มีข้อจำกัดเรื่อง อายุของผู้เรียน สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยได้

 

 

ที่สำคัญ ยังร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจในพื้นที่หรือเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญได้นำเด็กเยาวชนไปฝึกงาน เพื่อเปิดโอกาสให้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่มีกรอบของห้องเรียนหรือโรงเรียน เรียนได้ทุกที่ ทั้งที่บ้าน ชุมชน ธรรมชาติ และ แหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น Mobile School

 

 


ครั้งแรกในเอเชีย ระดมทุนเพื่อสังคม

 


สำหรับเงินทุนการศึกษาให้กับเด็กไทยในโครงการ Zero Dropout เป็นวิธีการหาเงินทุนเพื่อกิจกรรมทางสังคม ที่แสนสิริได้ดำเนินการจากการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ (ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งที่ระดับ BBB+) ลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท พร้อมรับผลตอบแทนดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ตลอดระยะเวลาถือครอง 3 ปี นับเป็นครั้งแรกในเอเชีย ที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ยังมีส่วนช่วยเหลือสังคมไปพร้อมๆ กัน

 


“ถือเป็นครั้งแรกในเอเชีย ที่ทุนดำเนินงาน 100 ล้านบาท มาจากการระดมทุนจากหุ้นกู้ที่ผู้ร่วมลงทุนได้รับผลตอบแทน และมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน”

 


สำหรับสภาวะการศึกษาในพื้นที่ จ.ราชบุรี ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เนื่องจากจากภูมิศาสตร์จังหวัดติดชายแดน ที่มีสภาพทั้งแบบชุมชนและเมือง แต่พื้นที่จังหวัดอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ และที่สำคัญคือ แสนสิริไม่มีการพัฒนาโครงการและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว

 

จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจของแสนสิริที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม และให้ความสำคัญในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเท่าเทียม รวมถึงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเด็กอย่างยั่งยืน จนได้รับเกียรติเป็นพันธมิตรที่ลงนามกับองค์การยูนิเซฟ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กต่อเนื่อง

 


10 ปี ร่วมมือองค์การยูนิเซฟผ่าน 17โครงการเพื่อเยาวชน

 

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา แสนสิริและองค์การยูนิเซฟ ได้ร่วมกันผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กมากกว่า 17 โครงการ อาทิ แคมเปญ “IODINE PLEASE” ผลักดันการแก้ปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีนในเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศมานานกว่า 50 ปีได้สำเร็จ, โครงการ Best Start หกปีแรกของชีวิต คือ หกปีทองของเด็ก ที่ต่อยอดสู่โครงการ “The Good Space” หรือ “พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” ที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างของแสนสิริ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่มุ่งเน้นในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ สร้างความตระหนักในด้านสิทธิเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และกีฬา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลืออย่างไร้พรมแดนต่อเด็กในประเทศไทยและเด็กทั่วโลก