เยาวชนร่วมยื่นปกขาวชงลงทุน 3.5 แสนล้านบาท ใช้นวัตกรรมฟื้นธรรมชาติ อุ้มคนเปราะบาง

by ThaiQuote, 4 ตุลาคม 2566

ตัวแทนเยาวชนไทย ฐานะคนรุ่นใหม่ ร่วมยื่นสมุดปกขาว รวบรวมข้อเสนอนายกฯ ลงทุน 3.5 แสนล้านบาทต่อปี เปลี่ยนผ่านไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน พร้อมแนะรัฐกล้าเปิดเสรีพลังงานหมุนเวียน กลวิธีเร่งคนเลิกใช้พลังงานฟอสซิล ด้านเอสซีจี ชง 4 แนวทาง ร่วม เร่ง เปลี่ยน ผ่านสังคมไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อุดหนุนกลุ่มเปราะบางใช้เงินถึง 52ล้านล้านบาท

 

 

 

สถานการณ์วิกฤตโลกเดือดส่งผลกระทบเร็วและรุนแรงทั่วโลก ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประเมินว่าอุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2027 (พ.ศ.2570) ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าโลกร้อนผ่านไป โลกเดือดเริ่มประทุขึ้นมา จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องระดมพลังร่วมกันหาทางออก ลดความรุนแรงสภาพอากาศแปรปรวน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมกันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หลังจาก SCG จัดเวิร์คช็อประดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทาง ร่วม เร่ง เปลี่ยน สังคมสู่คาร์บอนต่ำ โดยมีการนำเข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นางสาวจิตใส สันตะบุตร คนรุ่นใหม่ใจรักษ์โลก กลุ่ม SDG7 Global Youth Ambassador for Southeast Asia เปิดเผยถึงข้อเสนอจากภาคประชาชนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ขาดทรัพยากร และความรู้ความเข้าใจในการปรับตัว ได้แก่ SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน เราควรแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลือตามความต้องการอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ให้มีความตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต้องการใช้เงินมูลค่าราว 52 ล้านล้านบาท

"สำหรับแนวทางที่ภาคประชาชนต้องการให้ไทย ไปถึงเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำจะต้องมีการใช้เงินทุนถึง ปีละ 350,000 ล้านบาท ในด้านการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการระบบ อาทิ การจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้ปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้”

เสรีพลังงาน คำตอบสุดท้าย
พลังงานหมุนเวียนเกิดในตลาด

นอกจากนี้ยังควรมีการสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม โดยการเสนอให้เกิดทางเลือกกับประชาชน ในการใช้พลังงาน ในบ้านแต่ละหลังสามารถกำหนดได้ว่าจะเลือกการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 100% หรือ เปิดเสรีภาคพลังงาน ซึ่งจะถือเป็นทางเลือกสำคัญที่มาจากเสียงเรียกร้องของผู้บริโภค ในการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพให้เกิดการศึกษา และนำไปสู่การลงมือปฏิบ้ติอย่างแท้จริง

“สิ่งที่อยากเห็นคือก่อนที่ภาครัฐที่กำหนโยบายอะไรควรจะมีการสร้างการมีส่วนร่วม ให้คนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมกันออกแบบนโยบาย เพื่อลดการสิ้นเปลืองของงบประมาณเมื่อดำเนินการแล้วไม่เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ รวมถึงการร่วมมือกับแก้ไขปัญหาวิกฤติโลกเดือดในครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือบูรณาการกันอย่างแท้จริง ไม่มองเป้าหมายแค่เพื่อตัวเอง หรือเป้าหมายขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และโลกของเรา ร่วม-เร่ง-เปลี่ยนแก้วิกฤติโลกเดือด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอนเป็นจริงได้แน่นอน” คุณธรรมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย

 

เปิดผนึกปกขาว 4 ข้อเสนอ ยื่นนายก
เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งส่งผลกระทบที่เร็วและรุนแรงขึ้นต่อทุกชีวิตในโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เอสซีจีจึงเชิญชวนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ระดมสมองหาแนวทางกู้วิกฤตดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี ในงาน ESG Symposium 2023 วันที่ 5 ตุลาคมนี้

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ทุกภาคส่วนอยากเห็นการทำงานแบบบูรณาการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริง จึงเสนอ 4 แนวทางความร่วมมือ ได้แก่
1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

2) เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ขณะนี้มี 3 อุตสาหกรรมต้นแบบแล้ว คือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ก่อสร้าง การผลักดันเป็นวาระแห่งชาติจะดึงดูดให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ร่วมขยายผล เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัดจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ได้สะดวก อาทิ เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด (Energy Storage System) และส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฮโดรเจน เชื้อเพลิงชีวมวล ขยะจากชุมชน พืชพลังงาน

4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีความตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าหากทุกภาคส่วนบูรณาการตามข้อเสนอจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ
สร้างความสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG”

สำหรับ งาน ESG Symposium 2023 จัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วนกว่า 1,500 คน โดยมีวิทยากรระดับโลก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลาย ชมนิทรรศการความร่วมมือและนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก ผู้สนใจรับชมออนไลน์ได้ที่ Facebook และ Youtube ของ SCG ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เวลา 12.00-17.15 น.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.scg.com