สมาพันธ์SMEsไทยเสนอรัฐ 2 แนวทาง ติดปีก 3.2 ล้านราย เปลี่ยนผ่านยั่งยืน

by ESG Universe, 6 ตุลาคม 2566

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นห่วงจุดอ่อนเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยั่งยืน SMEs ไทยกว่า 3.2 ล้านราย ยังขาดข้อมูลองค์ความรู้ BCG เตรียมหารือกับรัฐบาลใหม่ 2 แนวทางอุ้มธุรกิจ SMEs คือ สร้างมาตรฐานคาร์บอนเครดิต และ กองทุนเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำ

 

 

การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อสอดคล้องกับทิศทางของโลก เมกะเทรนด์ ในการร่วมมือกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หลังจากรัฐบาลไทยลงนามความตกลงใน COP26 ( Conference of the Parties)ครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศ สกอตแลนด์ ในเวทีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติ (UN) ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ทั้งโลกแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนทั้งโลกมีความตกลงร่วมกัน รวมถึงประเทศไทยจะต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608)

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย(SMEs) เปิดเผยถึงสถานะและองค์ความรู้ในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเทรนด์โลกว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยยังถือว่ามีความรู้และความเข้าใจในด้านการพัฒนาเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน และสีเขียว , Bio-Circular-Green Economy) ยังน้อยมาก จากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) พบว่า มีเอสเอ็มอีไทยเข้าใจเพียง 10% และยังเหลืออีก 90% ไม่เข้าใจ จากผู้ประกอบการทั้งหมด 3.2 ล้านราย เท่ากับว่าผู้ประกอบการที่ มีความเข้าใจเพียง 3 แสนกว่าราย จึงถือว่าเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่การพัฒนาธุรกิจ ESG ที่จะต้องเร่งดำเนินการด้านการยกระดับด้วยนวัตกรรมพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาของสังคม ในขณะเดียวกันจะต้องมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายใน 2-3 ปี

สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการยอมรับในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับสากล คือการที่ประเทศไทยต้องจัดทำมาตรฐานการผลิตในสินค้าและบริการ ที่ระบุได้ถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการยืนยันคาร์บอนเครดิตภายในประเทศสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ของ CBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน สหภาพยุโรป (EU) และมาตรฐานอื่น ๆ จากกลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มมีมากขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น จะต้องมีการ “จัดตั้งกองทุนเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำ” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ที่ยังไม่พร้อมด้านการลงทุน และภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำมาตรฐานรายงานเมื่อมีการส่งออก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมพร้อมปรับตัว ให้สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นอาจจะหลุดจากห่วงโซ่อุปทาน (ซัพลพายเชน) และไม่ได้รับการยอมรับในตลาด ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายแสงชัย กล่าวว่า “ภายใน 1-2 ปี เราต้องหาวิธีในการเปลี่ยนผ่านให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ปรับตัวทันกับยุค ของการการพัฒนายั่งยืน โดยการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้น ประเทศคู่ค้าก็จะไม่ซื้อสินค้า”

แม้ไทยจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล แต่หากผู้ประกอบการไทยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงร.9 ก็จะทำให้เข้าใจ ตระหนักรู้และพร้อมปรับตัวเคลื่อนไปเท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะหลักการขคือสอนให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ มีวิธีการบริหารจัดการ และธรรมมาภิบาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของESG

“ESGและ เศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงกันและครอบคลุมถึงการตระหนักรู้ ใฝ่รู้ เรียนรู้ตัวเอง หมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ สอนให้มีภูมิคุ้มกันไม่ก่อหนี้เกินตัว บริหารความเสี่ยง จึงขจัดความยากจน สอดคล้องกับยุคยั่งยืน เศรษฐกิจสีเขียว” นายแสงชัยกล่าวในที่สุด