COP28 เชิญโป๊ป -ผู้นำศาสนา ยกระดับ‘ศีลธรรม’ นำมวลมนุษย์ชาติกู้โลก

by วันทนา อรรถสถาวร, ประกายดาว แบ่งสันเทียะ, 8 พฤศจิกายน 2566

COP28 ดึงองค์กรจิตวิญญาณ-ศาสนา โป๊ปร่วมสุนทรพจน์ ส่งสารถึงนักการเมือง มุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงาน ปกป้องโลก สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ปลุกประชาชนตื่นรู้ ศีลธรรม ร่วมหยุดเวลามากู้โลก ดูแลธรรมชาติคือการปกป้องความดีงามจากพระเจ้า

 

 

แก่นของของทุกศาสนา มีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงจิตอันงดงาม สงบ ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนได้ออกมาทำคุณค่าให้สังคม และโลก ไม่ว่าจะเป็นยิว พุทธ ซิกห์ ฮินดู คริสต์ และอิสลาม ต่างยึดมั่นในเชื่อและความศรัทธา ที่ดึงให้มนุษย์กลับคืนสู่จิตวิญญาณ ของตัวตนภายในของมนุษย์ คือ อินทรีย์ธาตุ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของธรรมชาติ มนุษย์จึงต้องมีหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ แต่การพัฒนาเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนทำให้ยิ่งใช้ชีวิตห่างไกลจากธรรมชาติ มนุษย์ต่างวิ่งตามและให้ความสำคัญกับเรื่องไกลตัว ยึดโยงอัตตาถูกดึงไปกับโลกภายนอกมากกว่าภายใน นั่นจึงทำให้เกิดปัญหาโลกขาดดสมดุล สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติถูกทำลาย

  

 

การเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้มนุษย์ทุกคนร่วมฟื้นฟูโลกครั้งนี้ มีเป้าหมายขับเคลื่อนพลังงานสะอาด เพื่อปกป้องโลก และกลับไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นี่คือโมเดลสำคัญที่จะทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะทำตัวกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ

สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่พูดถึงในเวทีการประชุม Conference of the Parties ซึ่งเป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP28) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 12 ธ.ค.2566 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สาระสำคัญได้วางกรอบความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (UN Framwork Convention on Climate Change-UNFCCC) ผ่านการแสวงหาความร่วมมือในการต่อสู้กับวิกฤติสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศ และ การขับเคลื่อนเป้าหมายที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) รวมถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement)

  

 

กลุ่มผู้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับเชื่อมต่อกับมวลมนุษชาติทั้งโลก คือ องค์กรด้านความเชื่อและศรัทธา (Faith-based organizations -FBOs) ที่เชื่อมโยงกับ “ผู้นำศาสนา” ถือว่ามีบทบาทสำคัญส่งต่อพลังผ่านความเชื่อและศรัทธา ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกที่ดีกว่าเดิมไปด้วยกัน เพราะสัดส่วนมากกว่า 80 % ของประชากรโลก เกี่ยวข้องกับผู้นำทางจิตวิญญาณและศาสนา ท่านผู้นำเหล่านี้จึงมีความสำคัญในการเป็นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประชากรส่วนใหญ่ทั่วโลกร่วมกลับมาสู่รากของปัญหา คือ การทำให้มนุษย์เกิดการตระหนักรู้ มีศีลธรรมไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และโลกรักษาสิ่งแวดล้อม

  

 

Faith Pavillion ชูไฮไลท์
เชิญผู้นำร่วมปลุกจิตวิญญาณ

ดร. ซุลตัน อัล จาเบอร์ ประธานการจัดงาน COP28 (Dr. Sultan Al Jaber, the President-Designate of COP28) กล่าวถึงการดึงให้ผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณมาร่วมในงาน COP28 เพราะมองว่าทุกศาสนามีส่วนในการกระตุ้นให้มนุษย์ทุกต้องการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ และเป็นผู้พิทักษ์รักษาโลกใบนี้ให้อยู่รวมกันไปยาวนาน จึงมีการจัด “Faith Pavillion” โดยเชิญผู้นำศาสนาร่วมกล่าวสุนทรพจน์ ลงนามความร่วมมือ และทำกิจกรรมปลูกต้นไม้

การสร้างความร่วมมือในงาน COP28 จากการรวมตัวผู้นำทางจิตวิญญาณ องค์กรด้านศาสนา มีส่วนสำคัญในการร่วมส่งพลังใน The Faith Vavilion มีผู้นำระดับสูงจากองค์กรศาสนาและจิตวิญญาณ และหลากหลายความเชื่อ กระจายอยู่ในทั่วทุกมุมโลก อาทิ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน และประเพณีทางศาสนาอื่นๆ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

งานนี้เกิดขึ้นจาก พันธมิตรด้านความเชื่อและศาสนา (FBOs) ได้ทำงานร่วมมือกันกับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) เป็นวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อโลกจากพลังศรัทธา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนการทำงานกันมายาวนานจัดประชุมเดือนละครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ แนวคิด การวางกลยุทธ์ กรอบการทำงานขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลง ในการประชุมCOP28 จะมีตัวแทนองค์กรด้านศาสนามาร่วมกิจกรรมราว 60 คน อาทิ Episcopal Diocese of California, Interfaith Center for Sustainable Development, International Partnership on Religion and Sustainable Development (PaRD/GIZ), Muslim Council of Elders, UNEP (Faith for Earth), World Evangelical Alliance

  

 

โป๊ปฟรานซิส บินสู่ดูไบ
ส่งเสียงปลุกชาวโลก ใช้เวลาที่เหลือหยุดวิกฤติ

หนึ่งในบุคคลสำคัญระดับโลกที่จะเข้าร่วมการประชุมCOP28 ที่ดูไบ คือ องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (โป๊ปฟรานซิส) ท่านตัดสินใจเข้าร่วมผลักดันขับเคลื่อนปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับผู้นำศาลนา และผู้นำจิตวิญญานอื่น ๆ ทั่วโลก ท่านจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการเข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ทำให้คนทั่วโลกได้ตื่นตัวกับมหันตภัยของสภาวะโลกร้อน

เราเดินมาถึงจุดวิกฤติเพราะหลังจากที่ UN ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2015 แต่ยังถูกวิจารณ์ถึงความล้มเหลว ไม่มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อน อุณหภูมิโลกยังคงสูงขึ้น จึงต้องปลุกพลังความเชื่อ ความศรัทธาทางด้านศาสนาทั่วโลก มาเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการตื่นรู้ และลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกลับมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

เพราะนี่คือเป็นวาระของโลก ที่ต้องส่งเสียงให้คนทั่วโลกรับฟัง เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม โลกกำลังเกิดวิกฤติอย่างหนัก จะเริ่มลงมือทำหรือ ยอมตาย “ Do-or-Die Moment” และส่งเสียงว่า นี่คือโอกาสสุดท้ายที่จะลุกขึ้นมากอบกู้ ลดก๊าซเรือนกระจกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น จนก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกในอนาคต

ก่อนหน้านี้ พระสันตะปาปาพรานซิส เคยเขียนบทความไว้ใน “Laudate Deum” ว่า

“เรายังตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่เพียงพอ”

  

 

ผลลัพธ์ที่ยังไม่สำเร็จ จนเข้าสู่วิกฤติ จึงทำให้ท่านออกมาเรียกร้องให้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อโลก เพราะสุดท้าย ผลกระทบก็ย้อนกลับมาสู่ชีวิตและความเป็นอยู่ของเราและครอบครัวที่เรารัก ทั้งสุขภาพ และการจ้างงาน ทรัพยากร บ้านที่อาศัยหากได้รับผลกระทบ ก็จำเป็นอพยพต้องย้ายถิ่นฐาน

พระสันตะปาปาในวัย 86 ปี (ได้รับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ.2556) แต่ยังมีพลัง จึงถือเป็นโป๊ปคนแรกที่เข้าร่วมCOP28 ในรอบ 27 ปีที่ผ่านมา (หลังจากประชุม COP Climate Change Berlin ปี 1995) ท่านจะเดินทางไปร่วมงานCOP28ที่ดูไบ ในระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม ในฐานะผู้นำส่งเสียงเรียกร้องเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักไปยังคนทั้งหมด

ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาท่านได้เรียกร้องอย่างหนัก และเข้าไปสนับสนุนชุมชนเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

“ฉันจะไปดูเดินทางไปดูไบเป็นครั้งแรก โดยใช้เวลา3 วันตั้งแต่วันที่ 1 -3 ธันวาคม "ท่านให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์ในอิตาลี”

เป้าหมายในการกล่าวสุนทรพจน์ของโป๊ปใน COP28 ครั้งนี้ เพื่อเตือนว่า

“เรายังมีเวลาในการเร่งการหยุดยั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นให้ทันเวลาได้ มีอนาคตเป็นเดิมพัน เพราะสิ่งที่ทำวันนี้จะส่งผลต่ออนาคตของลูกหลาน สิ่งที่คนรุ่นนี้ต้องรับผิดชอบ หากข้อตกลงในดูไบยังล้มเหลว จะถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ และเป็นอันตราย และเป็นการทำลายสิ่งดี ๆ ที่ได้ทำสำเร็จมาจนถึงตอนนี้” พระสันตะปาปากล่าว

การแสดงออกทางความคิดของ สมเด็จพระสันตะปาปาถือเป็นจุดยืนอันหนักแน่น เพื่อต้องการส่งเสียงไปยังผู้นำทั่วโลก ให้หันมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะถึงเวลาที่มนุษย์ ต้องหวนกลับมายึดมั่นในศีลธรรม อันดีงาม

สำนักข่าว vaticannews ระบุนอกจาก สมเด็จพระสันตะปาปาแล้วยังมีผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส รวมถึงผู้นำทางจิตวิญญาณจากศาสนาอื่นๆ อาทิ ศาสตราจารย์โมฮัมเหม็ด อัล-ดูไวนี ตัวแทนของอิหม่ามใหญ่แห่งอัลอัซฮาร์ , พระสังฆราชทั่วโลกแห่งคอนสแตนติโนเปิล ,พระสังฆราชแห่งมอสโก ,และอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี”

การรวมตัวจากผู้นำทางจิตวิญญาณจากทุกศาสนา ชี้ให้เห็นว่าประเพณี ความเชื่อทางศาสนาล้วนความสัมพันธ์ระหว่างความศักดิ์สิทธิ์และการสร้างสรรค์ รวมถึงหน้าที่ทางศีลธรรมในการพิทักษ์ นั่นก็คือพลังจากธรรมชาติที่โลกมอบให้ การดูแลรักษาโลกต่อสู้โลกร้อน จึงเปรียบเสมือนการ ปกป้องรักษา“สิ่งดีงามจากพระเจ้า”

  

 

 GreenFaith หวัง ภาคศาสนาเปลี่ยนโลก

ขับเคลื่อนผ่านที่ดินฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ทางด้านบาทหลวงเฟลตเชอร์ ฮาร์เปอร์ ยังเป็นนักบวชและผู้อำนวยการบริหารของกลุ่ม GreenFaith ในนครนิวยอร์ก ผู้บุกเบิกการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมทางศาสนากล่าวว่า องค์กรและผู้นำศาสนาส่วนใหญ่ ยังดำเนินการ ไม่เพียงพอ จึงทำหน้าที่เคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านกิจกรรมทางศาสนาตามสาขาต่างๆ ทั่วโลก

“การเทศนาปีละครั้งไม่เพียงพอ แค่การสร้างสวนด้านหลังโบสถ์ วัด หรือมัสยิด ก็ยังไม่เพียงพอ เราต้องการคนที่เต็มใจที่จะยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลและสถาบันการเงิน พร้อมกับความกล้าที่จะส่งเสียงไปถึงคนเหล่านี้ว่า คุณกำลังทำลายโลก และคุณต้องหยุด'”

ฮาร์เปอร์ ไม่มั่นใจนักว่าการกระทำเรียกร้องของผู้นำทางศาสนาอื่นจะออกมาพูดดังเช่นที่โป๊ป ทำอย่างกล้าหาญ

“การใช้คำพูดทางศาสนาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจะล้มเหลว เพราะผู้นำศาสนานั้นมีความกลัวว่าการวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา จะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมและความศรัทธาจะลดลง จึงเป็นเหตุผลที่ผู้นำศาสนาคนอื่นๆ อาจไม่เห็นด้วย”

เขาหวังว่าเสียงจากโป๊ป จะมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ไปยังบุคคลที่ทรงอิทธิพลจากหลากลหายวงการที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อโลก

การเข้าถึงองค์กรด้านศาสนา จะมีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะศาสนามีที่ดินครอบครองประมาณ 8% ของพื้นที่ที่เหมาะสมในการอาศัย ( ราว510 ล้านเฮกตาร์ หรือ 1.3 พันล้านเอเคอร์)และประมาณ 5% ของป่าเขิงพาณิชย์

ข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดของผู้นำทางจิตวิญญาณเหล่านี้คือ ให้เร่งการเปลี่ยนแปลงพลังงาน การปกป้องโลก การเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการหมุนเวียนของการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และการนำพลังงานสะอาดมาใช้อย่างรวดเร็ว พัฒนาเป็นจารีตปฏิบัติและเป็นส่วนหนึ่งของศีลธรรมอันดี

โลกกำลังจับตาดูการประชุม COP28 อย่างใกล้ชิด โดยหวังว่าจะมีความคืบหน้าตามเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศอันทะเยอทะยาน การปรากฏของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและผู้นำทางศาสนาที่สำคัญ ๆ ในการประชุมสุดยอดเป็นการเตือนใจว่ามีความเสี่ยงสูง และเราทุกคนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องโลกของเราสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป.