เอ็กซิมทำนาย ยังหวังไทยฟื้นตัว บลูบอนด์ สร้างโลกยั่งยืน

by ESGuniverse, 27 ธันวาคม 2566

ภายในงานเสวนา “Green Wishes” มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินธุคกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG)

 

 

ทั้งนี้ กำลังมุ่งสู่การหาทางออกในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้น และยังมีสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในระดับค่อนข้างวิกฤติ สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) จากกิจกรรมต่าง ๆ โดยประเทศไทยปล่อยคาร์บอนฯ เพิ่มขึ้นเป็น 3.78 ตันต่อคนต่อปี ในปี2565 จากในปี 2545 อยู่ที่ 4.16 ตันต่อคนต่อปี ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อยคาร์บอนราว 15 ตันต่อคนต่อปี ด้านจีน ปล่อยคาร์บอน 7.99 ตันต่อคนต่อปี

 

 

 

นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยการกำหนดพันธสัญญาลดคาร์บอนจากการใช้พลังงานฟอสซิล เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนตามเป้าหมายประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และบรรลุNet Zero Emission ภายในปี พ.ศ.2608

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว ด้วยกลยุทธ์ “Go Green” ว่า ปี 2567 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายในความซับซ้อนหลากหลายด้านมากกว่าปี 2566 ทั้งการเมืองโลก สงคราม ยังมีปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัว กลับมาขยายตัว 3.2% จากปีนี้ 2566 ขยายตัวอยู่ที่ 2.5% ในช่วงปลายปี

 

 

 

ปีหน้าในบางสาขาที่มีโอกาสฟื้นตัวคือภาคการส่งออก โดยเฉพาะผลิตชิ้นส่วนจะฟื้นกลับมาจากปีนี้ และภาคการท่องเที่ยว ที่ยังมีโอกาสเติบโต จึงต้องมองหาโอกาสใหม่ ที่มีศักยภาพ ทั้งตลาดสีเขียว (Green Economy) และตลาดทางตอนใต้ (South) ประกอบด้วย อเมริกาตอนใต้, แอฟริกาใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ถือเป็นตลาดที่ยังมีอำนาจการซื้อขายสูง และมีการเติบโตสูง หากเทียบกับทิศทางการค้าในประเทศกำลังซื้อยังหดตัว จากปัญหาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ผู้ประกอบการจึงต้องแยกธุรกิจไปสู่ส่งออกสัดส่วน 5-10% เพื่อป้องกันความเสี่ยง

 

 

 

“นักเศรษฐศาสตร์ หักปากกาไปหลายสํานักแล้ว ปีหน้าเนี่ยหน้าตาของเศรษฐกิจไทยยังคาดเดายาก ตราบใดที่โลกนี้ยังมีความขัดแย้งมาก มันไม่ได้เป็นปีหน้าที่สดใสหลายคนมองว่าปีหน้าจะเหนื่อยกว่าปีนี้ จึงต้องหาโอกาสจากความซับซ้อน หากแข่งเรื่องค่าแรง และราคา ต้นทุนอย่างเดียวเหนื่อยแน่นอน นี่คือสาเหตุที่เราต้องไปตลาดสีเขียว Go Green มีอนาคตสดใส”

รุกกรีนบอนด์ สู่บลูบอนด์
ขยายพอร์ตเศรษฐกิจสีเขียว

ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า การแข่งขันด้วยตลาดเดิม (Conventional) ไม่หอมหวานอีกต่อไป จึงต้องหันไปมุ่งสู่ตลาดเศรษฐกิจสีเขียว สินค้าใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ ที่สอดคล้องกับการเติบโตยั่งยืน สมดุล 3 ด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) รวมถึงการพัฒนาไปสู่ การออกพันธบัตรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ บลูบอนด์ (ฺBlue Bond) ในปี 2567 เป็นการระดมทุนนำมาปล่อยสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมมูลค่า 5,000 ล้านบาท เป็นการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้เป็นแหล่งการจ้างงาน และแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก เพราะมีมูลค่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ตามที่ ทาง Orginization for Economic Co-operation and Development (OECD) คาดการณ์ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจทางทะเลของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 หรือ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 20 ปีก่อน คุณประโยชน์ของ ผืนน้ำและมหาสมุทรยังมีส่วนต่อการดำรงชีวิต ช่วยผลิตก๊าซออกซิเจน (O2)บนโลกมากถึง 50% ช่วยดูดซับความร้อนจากกิจกรรมมนุษย์ถึง 90% ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กว่า 25% ทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เท่ากับว่า ยังขาดช่องว่างในการเติมเงินลงทุนมูลค่า 1.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือ ราว 1 ใน 3 ของ GDPไทย

“การออกบลูบอนด์ เป็นการเสริมพอร์ตสินเชื่อตลาดการเงินสีเขียว เพื่อสร้างทางเลือกหลากหลาย จึงมีการระดมทุนบลูบอนด์ ่ช่วยขยายตลาดไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่อสนับสนุนการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ”

 

 

 

ผู้นำ Green Devopment Bank
วัดคุณค่าธุรกิจจากการทำดีเพื่อโลก

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในปี 2567 EXIM BANK รุกสู่การเป็นผู้นำด้าน Green Development Bank พัฒนาองค์กรตั้งแต่ภายใน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยการพัฒนาภายในองค์กร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเอ็กซิม 2,200 ตันคาร์บอน ทั้งตึก จากพนักงาน 800 คน ตั้งเป้าหมายปีหน้าจะลดการปล่อยให้ลดลง ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการตระหนักรู้โดยเริ่มต้นจากธนาคาร


อุ้มคนตัวเล็กเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
โชว์ลดคาร์บอนแลกดอกเบี้ยต่ำ

จากนั้นจึงเข้าไปสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมให้ธุรกิจSMEs และธุรกิจอื่น ขับเคลื่อนสู่ธุรกิจสีเขียว โดยการส่งเสริมให้เกิดการลดคาร์บอนในองค์กร นำเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเข้ามากำกับ วัดผลธุรกิจ นอกเหนือจากผลประกอบการทางด้านธุรกิจกำไร ขาดทุน ความสามารถในการชำระหนี้ แล้วยังต้องเข้าไปดูหลักเกณฑ์ด้าน ESG ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความดีงามของธุรกิจ เช่น การวัดการปล่อยคาร์บอนตามเกณฑ์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. สามารถนำมาแลกเป็นส่วนลดดอกเบี้ยได้

“นี่เป็นการเปลี่ยนเกมธุกริจเพื่อทำให้คนตัวเล็ก กลายเป็นธุรกิจสีเขียวได้ โดยใช้พันธมิตรเครือข่ายของเอ็กซิมสร้างซัพพลายเชนสีเขียว ให้สิทธิประโยชน์ดอกเบี้ยต่ำกับคนที่ทำดี ลดคาร์บอน เราต้องการสร้างแรงบันดาลใจ และไมด์เซ็ทใหม่ แทนที่จะอวดรวย ก็หันมาอวดดี เรามาปลูกจิตสำนึกไปสู่การโกกรีน ซึ่งเอ็กซิมเริ่มต้นตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เราพูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องที่พูดอยู่คนเดียว จนวันนี้ หลายธนาคารต่างก็ตั้งปฎิญญาเพิ่มสัดส่วนกรีนพอร์ต ต่างให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน”

 

 

 

เป้าหมายพอร์ตสีเขียว 50%

ทั้งนี้ เอ็กซิมมีเป้าหมายขยายพอร์ตสินเชื่อสีเชียวเพื่อสิ่งแวดล้อม มีพอร์ตกรีนมูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับกลยุทธ์การขับเคลื่อนการเติบโตด้วยสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ให้มีสัดส่วน 50% ภายในปี 2571 (หรือ อีก 5 ปีข้างหน้า)
นอกจากนี้ยังจะมีการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่สามารถได้รับการรับรองการลดการปล่อยคาร์บอน หรือ มีคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) สามารถนำมาเจรจาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ลดดอกเบี้ยได้ต่ำกว่า 5 %

อีกทั้งยังต้องการสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีฝันและมีแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจสีเขียว เอ็กซิมแบงก์จะสร้างช่องทางการให้SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ในเงื่อนไขที่แตกต่างจากรายใหญ่ ให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งสิทธิประโยชน์ด้านดอกเบี้ย และการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ในการเป็นที่ปรึกษา

ทางเอ็กซิม ย้ำว่า ที่ผ่านมา ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ มุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษบกิจสีเขียว มาโดยตลอด (Development Bank) แม้ในช่วงเวลาที่โลกยังไม่ขับเคลื่อนเทรนด์สู่ธุรกิจยั่งยืนชัดเจน แต่ผู้บริหารของธนาคารก่อนหน้านี้ก็สนับสนุนภาคการลงทุนสีเขียวนำร่องก่อนตลาด อาทิ  สนับสนุนการพัฒนาโซลาร์ฟาร์ม ที่จ.ลพบุรี,

ที่ผ่านมา มุุ่งเน้นการดำเนินกลยุทธ์ ซ่อม สร้าง และเสริม หมายถึงการซ่อม คือการช่วยฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจการบิน ในยุคที่เกิดวิกฤติโควิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เอ็กซิมเข้าไปจัดการรองรับความเสี่ยงปล่อยสินเชื่อ ให้กับมาฟื้นตัว

สร้าง หมายถึงการสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ที่ไม่มีในตลาดมาก่อน ถือเป็นความเสี่ยง เช่น ภาชนะจากชานอ้อย ของเกรซ เอ็กซิมแบงก์ เข้าไปสนับสนุนนให้พัฒนาธุรกิจต่อได้ จึงสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพแแปลงฝัน

 

สำหรับเอ็กซิมแบงก์ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 ได้เป็นผู้นำในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เริ่มต้นพัฒนาพลังงานหมุนเวียน อาทิ การผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 400 โครงการ มีกำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังพัฒนาสินค้าเพื่อความยั่งยืนในรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สินเชื่อ Solar Orchestra และ EXIM Solar D-Carbon Financing ที่ไม่เพียงให้เงินทุน แต่ยังสนับสนุนด้านการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ประกอบการ และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษกับธุรกิจสีเขียว

 

 

 

หนุนปรับไมด์เซ็ท
ปลูกป่า สร้างเศรษฐกิจสีเขียว

ด้านดร. ประชา คุณธรรมดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยมลพิษและขยะสูง ซึ่งมาจากภาคการขนส่ง พลังงาน และภาคการเกษตร โดยใช้เหตุผลไทยยังเป็นประเทศเล็ก และเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ในความเป็นจริง ไทยได้อยู่ตรงกลางหลุดจากประเทศกำลังพัฒนาแล้ว จึงต้องมีการเปลี่ยนผ่านพัฒนายกระดับการลดการปล่อยคาร์บอน

สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิด ปัญหาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของไทย อยู่ที่ไมด์เซ็ทของการคิดว่าตัดป่าคือการทำลายป่า คือการไม่อนุรักษ์ แม้จะมีระบบปิดป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 แต่พื้นที่ป่ากลับไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรปรับวิธีคิดมองป่าไม้ คือสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมีการส่งเสริมให้เกิดการปลูกป่า และสร้างรายได้ให้กับประชาชน

“เราต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการปลูกต้นไม้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบเศรษกิจสีเขียว ปลูกแล้วใช้ประโยชน์จากป่า ในรูปแบบต่างๆ แล้วช่วยกันอนุรักษ์ กระตุ้นให้ผู้บริโภค ตระหนักรู้คุณค่าของความสมดุลของป่าไม้ สนับสนุนสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ดี เช่น ผึ้ง”