6 บริบทอันเปราะบาง ท้าทายคนหมดไฟ แกะ 6 โหมดฐานใจปลุกไฟทำงานESG

by ESGuniverse, 22 มกราคม 2567

แนวคิด ESG คือคำตอบของการทำให้องค์กรอยู่รอดท่ามกลางโลกอันอ่อนไหว สับสน อลหม่าน รุมเร้า ทั้งภายในสู่ภายนอก

 

โจทย์ใหม่ในองค์กรจึงไม่เพียงแค่ปรับตัวธุรกิจยืดหยุ่น พร้อมรับทุกสภาวะอันท้าทาย หากแต่ต้องเพิ่ม “พลัง” สำคัญ ในการทำงานสร้างความสำเร็จพาองค์กรข้ามสู่ความยั่งยืนได้ ด้วยการปลุกฐานใจ ให้เกิดความรัก สามัคคี ร่วมมือในการเปลี่ยนแปลง ที่มองเห็นว่าภารกิจครั้งนี้เพื่อตัวเอง สังคม มนุษยชาติ ธุรกิจและโลกใบนี้ของเรา

 


คนในองค์กร จึงร่วมขับเคลื่อน ESG (Environment-Social-Governance) อันถูกผสานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง “6C” ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหญ่ระดับโลก “ดร.วิรไท สันติประภพ” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต และประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ มองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องสถานการณ์ความเปราะบาง ( polycrisis) สร้างความสับสน กลายเป็นปัญหา ที่นำไปสู่วิกฤติใหญ่ๆ

แนวคิด ESG ถูกผสานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง “6C” ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหญ่ระดับโลก “ดร.วิรไท สันติประภพ” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต และประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ มองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องของ polycrisis ซึ่งสร้างความสับสน กลายเป็นปัญหา ที่นำไปสู่วิกฤติใหญ่ๆ

polycrisis หรือสถานการณ์ความเปราะบาง มีความเปลี่ยนแปลง หรือความท้าทายใหญ่ๆ ในบริบท 6C คือ

 


1. climate catastrophe (การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ) เมื่อ 5 ปีที่แล้วโลกอยู่ในโหมดของ climate crisis (วิกฤติสภาวะภูมิอากาศ) แต่ทุกวันนี้โลกกำลังอยู่ในโหมด climate catastrophe (ความหายนะทางภูมิอากาศ) จากเดิมที่เป็น global warming (โลกร้อน) แต่ปีสองปีมานี้ UN เลือกที่จะใช้คำว่า global boiling (โลกเดือด) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรุนแรงของสภาวะอากาศที่รุนแรงมากขึ้น กระทบวิถีชีวิต และการดำเนินธุรกิจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในมุมของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคตอย่างเขา มองว่า ไม่มีทางที่ภูมิอากาศจะกลับไปเหมือนเดิม ภัยแล้งจะเกิดบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น แรงขึ้น จะเกิดภัยใหม่ๆ ที่ไม่เคยสำคัญในอดีต เช่น ไฟป่า ที่เกิดขึ้นทุกปี หรือโรคติดต่อที่จะเห็นหนาตามากขึ้น ดังนั้นองค์กรจึงต้องปรับตัว รับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง อย่างรู้เท่าทัน

“เมืองไทยพูดถึงแผน adaptation น้อยมาก ไม่มีการพูดถึงการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้องค์กรที่ไม่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะประสบปัญหาการรักษาพนักงานเก่งๆ ตัวพนักงานเองก็ต้องพร้อมปรับตัวรับมือกับภัยใหม่ๆ ที่กระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสุขภาวะ”

 



2. conflicts (ความขัดแย้ง) ที่พร้อมแตกหัก ยกระดับเป็นสงคราม ทั้งระดับโลก tech war และระดับภูมิภาค ทั้งสงครามยูเครน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ มีโอกาสขยายความรุนแรงเป็นระดับโลกได้ ถึงดูเหมือนเป็นวิกฤติที่ห่างไกลกับประเทศไทย แต่สามารถสร้างผล กระทบได้ ทั้งในแง่ของราคาพลังงานและอาหาร

ขณะที่ระดับประเทศ ก็มีความแตกต่างหลากหลายกับคนต่างขั้ว เช่น นโยบายนักการเมืองที่เน้นให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มคนต่างๆ ทำให้ความขัดแย้ง มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ด้วยทรัพยากรในโลกที่มีจำกัด คนต้องแข่งขันกันมากขึ้น แก่งแย่งกันมากขึ้น เขตแนวทะเล ที่ดิน และน้ำสะอาด จึงถือเป็นโจทย์ที่ใหญ่ ขณะเดียวกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็นำไปสู่ความแตกแยกทางความคิด สำหรับองค์กรแล้ว ความขัดแย้งจึงถือเป็นความเสี่ยงที่ละเลยไม่ได้

3. changing demographics (การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร) สิ้นทศวรรษ 20 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 8,500 ล้านคน จาก 8,000 ล้านคน ปัญหาการแก่งแย่งทรัพยากรจำกัดจะรุนแรงมากขึ้น ประชากรที่เพิ่มขึ้นจะท้าทายประเด็นความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จะเห็นเด่นชัดขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ

“ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน ปัญหางบประมาณ การขาดแคลนแรงงาน ทำให้บริษัทหาคนมาทำงานยากขึ้น และคนรุ่นใหม่ต้องทำงานเก่งขึ้นมากในสังคมผู้สูงอายุ ต้องมี productivity มากกว่าเดิม อีกปัญหาคือความเห็นต่างระหว่างรุ่น”

4. cyber technology (เทคโนโลยีไซเบอร์) พัฒนาการก้าวกระโดดของโลกไซเบอร์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และนำไปสู่ความท้าทาย 3 ด้านคือ

     4.1 data โลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล มีทั้งข้อมูลเท็จและจริง การแยกแยะข้อมูลเป็น  ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต คนทำงานต้องรับมือกับข้อมูลที่ท่วมท้น ส่งผลให้เกิดความเครียด จากการที่ต้องตื่นตัวกับข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา

     4.2 cyber attack คนต้องรักษาสุขภาวะไซเบอร์ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร และสังคม เพื่อให้มีภูมิต้านทานในชีวิต

     4.3 digital divine เส้นแบ่งของการเข้าถึงเทคโนโลยีที่กว้างมากขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่เข้าถึงกับเข้าไม่ถึง เป็นข้อจำกัดระหว่างธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก กับขนาดใหญ่ ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด เพราะมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น

 

 



5. corrupted value (คุณค่าที่ถูกบิดเบือน) คุณค่าและวัฒนธรรมองค์กร เป็นตัวกำหนดตัวตน แนวทางการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ โดยการเปลี่ยนแปลงคุณค่า มาจากหลายปัจจัย ทั้งจากกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสบริโภคนิยม การย้ายคนเข้าสู่เมือง ทำให้กลายเป็นวิถีเมือง ที่ต่างคนต่างอยู่ และการติดอยู่ใน echo chamber หรือคนที่คิดและเชื่อเหมือนกัน มากองอยู่รวมกัน

หลายวงการคุณค่าเสื่อมถอยลงมาก เช่น บางธุรกิจยอมรับการคอรัปชั่น เป็นบรรทัดฐานในการทำงานบางเรื่องกับภาครัฐ หรือการยอมรับว่าการพูดไม่ครบ เป็นพฤติกรรมปกติ การเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน เอาเปรียบองค์กรในรูปแบบต่างๆ ความเกรงกลัว ความรู้สึกผิด ค่อยๆ หายไปจากสังคม คุณค่าองค์กรถูกพูดถึงน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญในยุคที่โลกเราให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

6. collapse of the center (การลดบทบาทศูนย์กลาง) จากที่เคยเป็นแกนกลางตัดสินใจ เมื่อพลังเทคโนโลยีเข้ามาอย่างก้าวกระโดด คนมีความเป็นปัจจัย เริ่มแคลงใจในสถาบันหลักๆ ทำให้บทบาทของศูนย์กลางลดลงเรื่อยๆ

“ตัวอย่าง www เป็นการทำงานโดยไม่ต้องมี server กลาง ประโยชน์ของเทคโนโลยีคือ คนไม่ต้องทำงานเป็นขั้นเป็นตอน สามารถทำงานพร้อมกันได้ คนกระจายทำงานไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเห็นหน้ากัน เดี๋ยวนี้ไม่มีใครรับข่าวสารจากสำนักข่าวไทยเป็นหลัก แต่รับข่าวจากนักข่าวพลเมือง จาก social media”

 



ขณะเดียวกัน โลกข้างหน้าเคลื่อนจากมีศูนย์กลางไปหา platform based มากขึ้น เป็นโลกที่ทำงานแบบมีเครือข่าย คนจะมีอิสระในการทำงาน ในการใช้ชีวิต ไม่ต้องอิงกับสถาบันหลัก หรือศูนย์กลางหลักแบบเดิม

“พอคนใช้ชีวิตแบบ platform เส้นแบ่งจะมีความสำคัญน้อยลง ไม่ว่าพรมแดนประเทศ เส้นแบ่งอำนาจ มองไปข้างหน้าเราต้องเผชิญกับแรงปะทะกับโลกใหม่ที่กระจายอำนาจมากขึ้น ไม่อิงกฎเกณฑ์กติกา กับกรอบกติกาในระบบศูนย์กลางที่ยังมีอยู่ จนกว่าจะเจอดุลยภาพใหม่”

ทั้ง 6C ต่างมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา และสร้างสภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพ ถ้าบริหารจัดการไม่ดี จะนำไปสู่ polycrisis ดังนั้นบรรดาผู้นำในทุกระดับขององค์กร จะบริหารความท้าทาย ความซับซ้อน ความย้อนแย้ง ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นได้อย่างไร

ท่ามกลางโจทย์ ESG (Environment, Social and Governance) ซึ่งถือเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ ของการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่มองแค่ผลกำไร แต่คำนึงถึงอีก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ตราบเท่าที่การเดินทางไกล ต้องเริ่มจากก้าวแรก การปักหมุดความคิด ESG จึงต้องเริ่มจากมีใจ ดร.วิรไท บอกว่า ชีวิตคนเรามี 3 ฐาน คือ ฐานคิด ฐานการกระทำ และฐานใจ

สำหรับผู้บริหารแล้ว ฐานใจเป็นเรื่องสำคัญเหมือน operating system ที่กำหนดวิธีคิด ทัศนคติ พฤติกรรม แต่ในความเป็นจริง เราให้ความสำคัญกับเรื่องใจ ค่อนข้างน้อยในองค์กร ทั้งการดูแลใจตัวเอง ดูแลใจพนักงาน การเห็นอกเห็นใจ สำคัญสุดคือการสร้างความไว้วางใจ ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ก็ต้องบริหารใจตัวเองไปพร้อมกับใจทีมงาน

 

 

6 C ปลุกฐานใจ ..เติมไฟคนในองค์กร

ดังนั้นท่ามกลางโลกที่ซับซ้อนผันผวน การสร้างความแข็งแรงให้กับใจ ผู้นำองค์กรในทุกระดับ จึงต้องหันกลับมาดูคุณลักษณะของฐานใจใน 6 ด้านคือ

1. concentration มีสมาธิ ใจจดจ่อกับเรื่องที่กำลังทำ รักษาสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง multitasking เป็นสัญญาณของคนขาดสติ ขาดสมาธิ ไม่ได้เป็นสัญญาณของคนเก่งแต่อย่างใด

2. clarity เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็น เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่เห็นแบบที่ตัวเองเชื่อว่าเป็น หรืออยากให้เป็น ต้องรักษาใจให้เป็น กลางเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ รอบด้าน

3. contentment สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าเจอแรงกดดันแบบใด ความพึงพอใจทำให้เรารู้จักพอประมาณ สามารถตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า สิ่งที่กำลังทำเป็นความจำเป็นหรือความโลภ

4. compassion ผู้บริหารต้องสามารถเข้าใจคนอื่น ด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตร ด้วยความคิดอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นดีขึ้น เคารพทัศนคติ ความเห็น และข้อจำกัดของคนอื่น สามารถมองบทบาทของตนกว้างมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง มองโลกและมองทีมงานที่เชื่อมโยงกัน เป็นภูมิคุ้มกันลดความขัดแย้งในองค์กร

5. creativity ความคิดสร้างสรรค์ เราอยู่บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นต้องเป็นการหาทางออกที่ทำได้จริง ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มี peace of mind

6. cushioned mind ใจที่มีกันชน รับแรงปะทะได้กับเรื่องกวนใจ

“คุณลักษณะทางใจ 6 ประการ ทำให้ผู้บริหารทำหน้าที่ได้ท่ามกลางความท้าทาย เรียกว่าเป็น competency ทางใจ ให้ผู้บริหารแต่ละคนโดดเด่น มีพลัง มีความอดทนที่จะสร้าง impact ได้”

ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้บริหารขาดคุณลักษณะเหล่านี้ จะส่งผลให้พนักงานทำงานด้วยความเป็นทุกข์ องค์กรก็จะเปราะบาง พนักงานมุ่งหาพื้นที่ปลอดภัย วิ่งไปหาไซโลของตัวเอง ขาดพลังบวก ยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับความท้าทาย

ผู้บริหารจึงต้องฝึกใจให้ดูแลใจของตัวเอง ให้ความสำคัญกับสติ ให้เท่าทันกับการทำงานของใจ ฝึกสติให้ตั้งมั่นกับสภาวะปัจจุบัน ณ เสี้ยววินาที

“ชีวิตคนเราประกอบด้วย 2 สิ่งเท่านั้นคือ กายและใจ เราลืมความสำคัญของการดูแลรักษาใจ ฝึกใจ โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ที่เน้นประสิทธิภาพประสิทธิผล คนจะมีความเปราะบางทางใจ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะฝึกใจให้ดูแลใจตัวเอง ซึ่งต้องเริ่มจากการดูสติให้ใจเท่าทันใจ ไปพร้อมกับรู้วิธีออกกำลังใจ เหมือนที่เราออกกำลังกาย”

และเส้นทางของ ESG บนโลกที่มีแต่ความซับซ้อนย้อนแย้ง การสร้างสมดุลของ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้ไปต่อได้ จึงต้องปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ความคิดในใจคน ให้มีความเข้าใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้คน และไม่ใช่แค่กับมนุษย์ด้วยกัน แต่ต้องเผื่อแผ่ไปถึงระบบนิเวศน์ ที่ต่างต้องแบ่งปัน และใช้ชีวิตร่วมกัน...

-------------------------
เรียบเรียงเนื้อหาจากงานสัมมนา Thailand HR DAY 2023 หัวข้อ Managing the World of Polycrisis and Mindfulness Leadership จัดโดย สมาคม PMAT วันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม Centara Grand at Central Plaza Ladprao กรุงเทพฯ