‘ปลูกป่าล้านไร่’ ปลุกชุมชนร่วมสร้าง ร่วมหวงแหนป่า

by ESGuniverse, 23 กุมภาพันธ์ 2567

กฟผ. ร่วมกับ พันธมิตร และคนในชุมชน ร่วมกันปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ดำเนินการปลูกป่าจริงครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 แสนไร่ มุ่งสู่เป้าหมาย 1 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่ปอดสีเขียวให้กับประเทศ ในขณะเดียวกันยึดหลักธรรมาภืบาลพร้อมรับการตรวจสอบ

 

 

 

ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ายิ่งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นฐานการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เนื่องจากทรัพยากรป่าไม้สามารถอำนวยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ และยังมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของคนในสังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

จากข้อมูล กรมป่าไม้ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ถึง ปี พ.ศ. 2552 จะพบว่าในช่วงระยะเวลา 36 ปี พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยลดลงจำนวนทั้งสิ้น 30,951,695 ไร่ โดยมีอัตราการลดลงเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 859,769 ไร่

 

 

 

ปลูกป่าแล้วกว่า 188,692 ไร่

 

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึง โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับพันธมิตรและประชาชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเป็นการปลูกป่าในพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วยการปลูกฟื้นฟูสภาพป่า (200 ต้นต่อไร่) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในช่วงปี 2565 – 2566 สามารถดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าคิดเป็นพื้นที่กว่า 188,692 ไร่ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมปลูกป่าแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการทำสัญญาจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ เสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เกิดความหวงแหนป่า และสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในพื้นที่

 

สำหรับการคัดเลือกประชาชนในพื้นที่มาเป็นผู้รับจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าในโครงการนี้ดำเนินการผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน และกรมที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะออกหนังสือรับรองความเชี่ยวชาญในการปลูกและบำรุงรักษาป่าของผู้รับจ้าง กฟผ. จึงจะลงนามสัญญาจ้างบุคคลดังกล่าวได้ จากนั้นผู้รับจ้างก็ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าตามรายละเอียดที่กำหนดในเงื่อนไขงานจ้าง

 

สุ่มตรวจสอบอัตราการรอดของต้นไม้

 

ส่วนการลงพื้นที่ตรวจรับงานปลูกและบำรุงรักษาป่าจะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลพิกัดพื้นที่และเอกสารประกอบการตรวจรับงานจ้าง พร้อมประสานนัดหมายผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อตรวจรับงานทุกครั้งต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย ร่วมกันลงพื้นที่ ดังนี้

 

1. หน่วยงานกรมเจ้าของพื้นที่ (เจ้าหน้าที่ประจำแปลงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากอธิบดีกรมฯ ที่เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่)
2. ผู้รับจ้าง (คู่สัญญา) ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่
3. ผู้แทน กฟผ. (กรรมการตรวจรับ และทีมสนับสนุนการตรวจรับ)

 

โดยการตรวจรับงานเป็นการสุ่มตรวจในพื้นที่ดำเนินการปลูกหรือบำรุงรักษาป่าทุกแปลงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ พร้อมสุ่มตรวจอัตราการรอดตายของต้นไม้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย และสอดคล้องกับแนวทางการตรวจแปลงสำรวจและเก็บข้อมูลโครงการประเภทป่าไม้ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งการเบิกจ่ายค่าจ้างปลูกและบำรุงรักษาป่าจะจ่ายตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงโดยจ่ายตรงกับประชาชนที่เป็นคู่สัญญากับ กฟผ. แต่หากพื้นที่ใดไม่มีการปลูกป่าจริงก็จะถูกยกเลิกสัญญา

 

ทั้งนี้ กฟผ. ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม โปร่งใสตลอดมา โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงพร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก สำหรับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา กฟผ. มิได้นิ่งนอนใจ โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่างกระบวนการสอบหาข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน.