Trend Watch เปิดเมกะเทรนด์ Life Purpose คีย์เคลื่อนองค์กรมีอายุยืนยาว

by ESGuniverse, 27 กุมภาพันธ์ 2567

Trend Watch เปิด เมกะเทรนด์ ขับเคลื่อนองค์กรดำรงอยู่ยั่งยืน คำตอบอยู่ที่ ความหมายดำรงชีวิตจากคนสู่องค์กร ร่วมขับเคลื่อนพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลก ยก 3 เคส แบรนด์ เป็นที่รักและศรัทธาอยู่คู่โลก 'พาทาโกเนีย'  'โคคา โคลา'  และ 'ไนกี้'

 

​“Life purpose” เจตจำนงการดำรงชีวิตทั้งคนและองค์กร เปรียบเสมือนเข็มทิศที่ทำให้คนและธุรกิจตระหนักรู้ตัวเองว่า จะเอายังไงกันต่อ และจะไปยังไงกันต่อ

​ในฐานะที่ปรึกษาการจัดการองค์กร“พจนารถ ซีบังเกิด”(โค้ชจิมมี่) ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท จิมมี่เดอะโค้ช มักจะตั้งคำถามชวนคุยกับบรรดาผู้บริหารในองค์กรชั้นนำว่า ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย ว่า purpose ของบริษัทนี้เป็นอย่างไร มีส่วนน้อยของน้อยที่สุด ที่จะตอบได้ชัดเจนเห็นภาพว่า อะไรคือ purpose ของบริษัท และถ้าบริษัทไม่อยู่แล้ว ยังมีภาพจำอะไรให้คิดถึงได้อีก

 

 

 

เธอยกตัวอย่าง สุนัข 3 ขา ที่ยังใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เจ้าสี่ขาตัวนี้เหลือเพียงแค่ 3 ขา เพราะไปติดบ่วงนายพรานในป่านานถึง 11 วัน จนต้องเลือกที่จะงับขาตัวเองให้ขาด เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด แต่การอยู่ในป่านานกว่าอาทิตย์ โดยไม่ได้กินอาหาร การรอดชีวิตมาได้ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า สุนัขตัวนี้มี purpose ของการอยากมีชีวิตต่อ

“วันหนึ่งถ้าชีวิตเราตกทุกข์ได้ยาก ถึงจุดที่สมควรตายได้แล้ว แต่มันไม่ตาย purpose ของสุนัขตัวนั้น ก็เป็นแรงฮึดบางอย่างให้เราเลือกที่จะมีชีวิตต่อไป ไม่จำนน ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ”

​การมีเจตจำนงทำให้ชีวิตมีความหมาย แรงบันดาลใจจากสุนัข 3 ขา หรือชีวิตที่เหลืออยู่ของเราๆ สามารถแปลงเป็นพลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (contribute) อะไรต่อมิอะไรให้กับโลกใบนี้ได้ แม้แต่สัตว์ตัวเล็กๆ อย่างแมลง ก็มีส่วนช่วยทำให้พืชผักผลไม้งอกงาม ถ้าไม่มีแมลงในวันนั้น เราก็คงไม่มีพืชผักผลไม้ให้เรากินในวันนี้

ทุกอย่างจึงมีความสัมพันธ์ต่อกัน และเป็นเพื่อนร่วมโลก ทำให้เข้าใจได้ว่า การมีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นต้องสงวนรักษาไว้ เฉพาะชีวิตของเรา ทุกชีวิตสามารถไปต่อได้

ไม่จำเป็นต้องไปเข่นฆ่า เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้า ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่ดีหมด

​หลายปีมานี้ คำว่า “purpose driven organization” เป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กร กลายเป็น trend of the trend จากการจัดอันดับของสถาบัน trend watching ใน global trend summit

อย่างไรก็ดี การจัดวาง purpose ในหลายองค์กร ยังเป็นแค่เป้าหมาย เป็นแค่วิสัยทัศน์ ทำให้ purpose ไม่แข็งแรง

เวลาที่องค์กรตั้งโจทย์วิสัยทัศน์ จึงปราศจากแรงขับเคลื่อน เพราะองค์กรดำรงอยู่เพื่ออะไร ภาพในหัวยังเบลอๆ ตอบไม่ได้ว่าเพื่ออะไร

​หน้าที่ของ HR ในการสร้างคนให้หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน (engage) กับองค์กรจึงทำให้องค์กรแข็งแรงขึ้น ถือเป็นการเดินทางที่ต้องใช้ความพยายามระยะยาว ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่

แต่ถึงวันหนึ่งเมื่อสถานการณ์สุกงอม องค์กรเปี่ยมพลังทำเพื่อเป้าหมายของการดำรงชีวิตอยู่ (purpose X energy) จะทำให้ได้ในหลายระดับ (up ได้หลาย level)

​organization driven แปลว่า ต้องมีวัตถุประสงค์ของการอยู่ชัดเจน ว่าอยู่ทำไม ถ้าไม่ชัดเจน ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าองค์กรหายไป เท่ากับโลกนี้หายไปไหม?

ถ้าองค์กรหายไป แล้วโลกนี้ไม่ขาดอะไรเลยแล้วหละก็ แสดงว่าองค์กรยังไม่มี purpose ที่ชัดเจน คืออยู่ไม่ได้ ไม่มีคุณค่าอะไร

​ขณะเดียวกัน การเช็กว่าองค์กรมี purpose ไหม จะต้องมีคำอธิบายเกี่ยวกับ purpose ชัดเจน ที่พอฟังแล้วรู้ได้เลยว่า ต้องใช้กลยุทธ์อะไร ต้องตัดสินใจอย่างไร ต้องทำอะไรต่อไป โดยที่เจ้านายไม่ต้องสั่ง เพราะสื่อสารชัดเจน หรือการมี purpose ที่อฺธิบายได้ว่า องค์กรนี้อยู่กันอย่างไร และคุณค่าขององค์กรแห่งนี้คืออะไร

3 แบรนด์ มีLife Purpose แข็งแกร่ง ความหมายชัดเจน

​ตัวอย่างที่น่าสนใจขององค์กรที่มี purpose ที่แข็งแรงชัดเจนคือ

บริษัทขายเครื่องกีฬายี่ห้อ “พาทาโกเนีย” (Patagonia) ของแคนาดา

แบรนด์ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำกำไร แต่เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโลกซึ่งเป็นบ้านของเรา (to save our home planet )ไม่ได้แค่ save บริษัทอย่างเดียว แต่อยากจะปกป้องโลกทั้งใบ

อธิบายขยายความได้ว่า เป้าหมายธุรกิจแทนที่จะดึงคุณค่าจากธรรมชาติ แล้วเปลี่ยนเป็นความมั่นคงแก่นักลงทุน แต่ Patagonia จะใช้ความมั่งคั่งจากบริษัทที่สร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องแหล่งที่มาของความมั่งคั่งนั้น

“วิธีที่ Patagonia ทำที่แคนาดาคือ ขายจักรยานในประเทศที่รักษาสภาพแวดล้อมอย่างแคนาดา ถ้าจักรยานใครหาย ให้เอาใบแจ้งความ มาซื้อสินค้าได้ส่วนลดครึ่งหนึ่ง มันโดนใจคนที่ใช้สินค้า และจักรยานหาย ไม่ต้องไปขับรถ เพราะช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และบริษัทจะลดราคาสินค้าทุกชิ้นถ้าเอาของเก่ามาแลก”

"นอกจากรักษาธรรมชาติแล้ว ยังอยากให้ธรรมชาติยั่งยืน ด้วยการบ่มเพาะนิสัยของลูกค้า”

อีกตัวอย่างของ “โคคา โคล่า” (Coca-Cola) ที่กำหนด purpose ว่า ไม่ได้แปลว่าต้องทำยอดขายเท่าไหร่ แต่เลือกที่จะบอกว่า refresh the world and make different

​อีกตัวอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “ไนกี้” (Nike) purpose คือ ผลิตรองเท้าที่เอาวัยรุ่นไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ไม่ใช่กำไรจากการขายรองเท้าได้เท่าไหร่ เพราะไม่ได้ทำรองเท้าเพื่อรองเท้า แต่ทำรองเท้าเพื่อไม่ให้เยาวชนนอนดู Netflix อยู่ที่บ้านอย่างเดียว แต่ให้ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง

เพราะนี่คือชีวิต การไปสัมผัสธรรมชาติ ทำให้จิตใจเติบโตเบิกบาน และทำให้ใช้ชีวิตเต็มได้เต็มที่กับชีวิต

 

CEO ผู้ขับเคลื่อนเชื่อม Purpose ที่หัวใจ
HR ต้องฝังเข้าไปในพนักงานทุกระดับ

​เธอแนะนำนี่คือภารกิจของ HR ว่า งาน HR ต้องเปิดหูเปิดตากว้างๆ อะไรที่ไม่เกี่ยวกับ HR ก็ต้องไปเผือกกับเขาทุกเรื่อง เพราะไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวข้อง ทุกสิ่งในโลกนี้สัมพันธ์กันทั้งหมด มันคือองค์รวม

ดังนั้นสาเหตุองค์กรสั่นคลอน ไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ จึงเป็นผลมาจากบางจุดของชีวิตของคนในองค์กรมีPurpose สะดุดไม่ตรงกัน เหมือนเด็ดดอกหญ้าสะเทือนถึงดวงดาว

ส่วนใหญ่ HR จะรับรู้เมื่อดวงดาวสะเทือนแล้ว แล้ว CEO ให้ HR ไปหาสาเหตุว่ามันสะเทือนได้อย่างไร ซึ่งมัน too late

“HR มีหน้าที่สร้างคนในองค์กร ถ้าสร้างผู้นำ แล้วผู้นำมี purpose มันจะเป็นพันธสัญญา ที่เมื่อผู้นำเดินทุกฝีก้าว เขาจะประชุม เขาจะพูดเรื่อง purpose เขาจะลิงก์ purpose ที่หัวใจเขา มันจะเป็น DNA แต่ถ้าพนักงานมี purpose จะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือเป็นเครื่องยนต์ขององค์กร เพราะฉะนั้นเราต้องสร้าง purpose ฝังลงไปกับคนทำงานในทุกระดับ”

​ถามว่าเราสามารถมีเป้าหมายในชีวิตส่วนตัวได้ไหม ถ้าองค์กรไม่มี purpose มีแต่ profit อย่างเดียว คนรุ่นใหม่อยากอยู่ทำงานด้วยไหม ผู้ใหญ่อาจจะทน คิดแต่ว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ทนอยู่ อยู่ทน รอวันเกษียณ แต่เด็กรุ่นใหม่อย่าคิดว่าเขาจะรักองค์กร อยากอยู่จนเกษียณ องค์กรต้องเอา purpose มาเป็นอันดับ1 แล้ว profit มาเป็นอันดับ 2 ซึ่งเรื่องนี้ CEO ฟังแล้วจิ๊ด ทนฟังไม่ได้ ค่อยๆ พูด ไม่ฟังวันนี้ไม่เป็นไร แต่ขอให้ CEO ได้ยิน message นี้ก็พอ”

คำแนะนำสำหรับคนทำงาน ถ้าเราจะไปทำ purpose ให้องค์กร ถามตัวเองว่า เรามี purpose แล้วหรือยัง ให้เช็คว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ถ้าเรารู้ purpose ของเรา เราจะรู้ว่าองค์กรไหนที่เราจะทำงานให้ และกิจกรรมใดที่เราจะ add value ให้กับองค์กรนั้น

ถ้าไม่มีเราอยู่ในโลกนี้แล้ว อะไรจะหายไป ตอบคำถามนี้ให้ได้
​อย่าลืมนะ