ภาคีเครือข่ายร่วมปลูกป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชายทะเล

by ESGuniverse, 9 มีนาคม 2567

โตโยต้า ปลูกป่าชายเลน ปีที่ 17 จับมืออาสาสมัคร กว่า 2,000 คน ลุยสถานตากอากาศบางปู ฟื้นฟูป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 50,000 ต้น

 

ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งในหลายด้าน ในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์จะเป็นแหล่งรวมของพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำนานาชนิด และมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ ทั้งในเขตป่าชายเลนและตามแนวชายฝั่งทะเลหลายรูปแบบ ซึ่งมีคุณค่าในด้านต่างๆ ได้แก่ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่มีการสะสมของคาร์บอนหนาแน่น มีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) สูงกว่าป่าประเภทอื่น ไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง จึงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของเนื้อไม้และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ

  

 

ล่าสุด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับภาคีเครือข่าย เดินหน้าจัดโครงการปลูกป่าชายเลน ปีที่ 17 เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในอากาศเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมมุ่งเป้าร่วมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกัน ณ สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อต้นเดือนทื่ผ่านมา

นายสมคิด ประดิษฐกำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า กิจกรรม โตโยต้า ปลูกป่าชายเลน ปีที่ 17 ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัคร กว่า 2,000 คน ประกอบด้วย กลุ่มพนักงานโตโยต้าและครอบครัว สมาชิกชมรมโตโยต้าจิตอาสา ตัวแทนจากบริษัทในเครือ สมาชิกเครือข่าย Facebook Toyota Happiness Club สมาชิก e-TOYOTACLUB ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า ผู้ผลิตชิ้นส่วน ตลอดจนตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดสมุทรปราการ กองทัพบก และประชาชน ที่มาร่วมแรงร่วมใจปลูกพันธุ์ไม้ชายเลน 50,000 ต้น ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา โตโยต้าได้ปลูกป่าชายเลนในพื้นที่บางปูไปแล้ว 792,800 ต้น

ต่อลมหายใจป่าชายเลนปากแม่น้ำผืนสุดท้ายของภาคกลาง

“โตโยต้า ปลูกป่าชายเลน” เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับ กรมพลาธิการทหารบก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ FEED โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนบางปู ซึ่งเป็นป่าชายเลนปากแม่น้ำผืนสุดท้ายของภาคกลาง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีสภาพเหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์ในระบบนิเวศชายเลน และเป็นการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนภาคประชาชน ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกคนไทยให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

เพิ่มพื้นที่สีเขียว กว่า 2.6 ล้านต้น ดูดซับคาร์บอน

"หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของโตโยต้า คือ การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ผ่านการจัดการกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน การขนส่ง การผลิตในโรงงาน การจำหน่าย จนถึงการกำจัดเมื่อหมดอายุการใช้งาน ควบคู่ไปกับ การเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง (Multi Pathways) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่สังคมไทย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมจำนวนกว่า 2,600,000 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 27,950 * ตันต่อปี" นายสมคิดกล่าว

 

 

 

 “เราเชื่อมั่นว่าการจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่สามารถเป็นไปได้ ด้วยความพยายามของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคน โดยกิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งในความพยายาม ภายใต้โครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว” ที่มุ่งขยายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมทั่วประเทศ อาทิ โครงการชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนประเทศไทย มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050”