EF ปลูกต้นกล้าการศึกษา เสริมความคิด ทักษะชีวิต พิชิตเป้าหมาย

by ESGuniverse, 12 มีนาคม 2567

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ส่งเสริม EF สร้างภูมิคุ้มกัน เตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัย สู่ผู้ใหญ่ที่รู้จักวิธีจัดการชีวิต ผ่านโครงการพัฒนาทักษะสมอง ตั้งเป้าจังหวัดเชียงรายต้นแบบบูรณาการแห่งแรกของไทย

วิกฤตพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทยกำลังรุนแรงขึ้นทุกด้าน ทั้งพัฒนาการร่างกาย จิตใจ สมอง ข้อมูลจาก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) พบว่า เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้า 30% ต่อเนื่อง 20 ปี ทักษะสมอง EF (Executive Function) ล่าช้า 29% ครอบครัว 1.1 ล้านครัวเรือน ไม่มีหนังสือให้ลูกอ่าน พ่อแม่ไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจการส่งเสริมพัฒนาการ ไม่มีเวลาฝึกฝนเด็ก ทำให้พัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กลดลง เด็กเฉื่อยไปจำนวนมาก และครูปฐมวัยเพียง 25% ที่เข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กปฐมวัยกำลังเผชิญ

จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับพรมแดนที่มีความเสี่ยงด้านยาเสพติด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจทำให้พ่อ-แม่ต้องจากบ้านไปทำงาน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า และมีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนในจังหวัดจึงลุกขึ้นมาร่วมมือกับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการสร้างจังหวัดต้นแบบบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) ด้วยเชื่อว่าหากเด็กคิดเป็น โครงสร้างสมองของเด็กจะก่อรูป ฝังเป็นคุณลักษณะนิสัยที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโต เป็นคนคุณภาพของประเทศต่อไป

ทั่วจังหวัดขานรับ พร้อมใจ MOU

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมเครือข่ายพันธมิตร ลุยพื้นที่จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมเสริมภูมิคุ้มกันชีวิตเด็ก ตั้งแต่ปฐมวัย โดยลงพื้นที่ให้ความรู้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุข พัฒนาศักยภาพครูปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ปีที่ 5 ครบทุกอำเภอ พร้อมตั้งเป้าสร้างเชียงรายเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ

องค์กรทั่วจังหวัดขานรับ การยกเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบส่งเสริม การพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) พร้อมใจร่วมมือ ขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย กว่า 50 องค์กร เพื่อยืนยันการร่วมมือกัน ขับเคลื่อนเชียงราย จังหวัดต้นแบบบูรณาการส่งเสริม การพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) และผลักดันแผนปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นรูปธรรม

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และดูแลฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาทักษะสมอง เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน ” จังหวัดเชียงราย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 มาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 5 เรานำแนวคิดการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) มาถ่ายทอดให้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุข ครูปฐมวัย และผู้ปกครอง มาอย่างต่อเนื่องจนครบทุกอำเภอแล้ว โดยมีอำเภอพญาเม็งรายเป็นต้นแบบของความสำเร็จ

“ 5 ปี ผ่านมา ที่นี่เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดูแลเลี้ยงดูเด็ก เด็กปฐมวัยกว่าร้อยละ 70 มีระดับทักษะสมอง EF ในระดับดีถึงดีมาก เรามีตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของทั้งผู้ดูแล และเด็กมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คือ เด็กเลิกติดโทรศัพท์มือถือ พฤติกรรมจากเดิมที่ค่อนข้างก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ เปลี่ยนมาเป็นเด็กที่สนใจหนังสือนิทาน เล่นกับเพื่อนได้ และเข้าสังคมได้เป็นปกติ ”

เตรียมดันเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบ

จากกิจกรรมดังกล่าวพบ เด็กนักเรียนสามารถปรับตัวและมีพัฒนาการด้านความจำเพื่อนำมาใช้งาน มีความยืดหยุ่นทางความคิด รู้จักยับยั้งชั่งใจ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีสำนึกรับผิดชอบ มีสมาธิจดจ่อ กล้าริเริ่มและลงมือทำ มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ และมีความมุ่งมั่นอดทน เพิ่มขึ้น หลังจากครูได้เข้าร่วมโครงการฯ และเปลี่ยนแนวทางการดูแลเด็กนักเรียนตามแนวทาง EF โดยเชื่อมั่นว่า เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของสังคม รวมทั้งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

“มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าเชียงรายจะเป็นจังหวัดต้นแบบในการสร้างเด็กไทยที่มีคุณภาพ และองค์ความรู้ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบอันทรงคุณค่า ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในวงกว้างทั้งประเทศ อันจะช่วยให้เกิดผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืนได้” นายรองรักษ์ กล่าว

EF เด็กเชียงราย สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ (norm) ถึง 20%

นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการ จังหวัดเชียงราย และเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริม EF จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับพรมแดนที่มีความเสี่ยงด้านยาเสพติด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจทำให้พ่อ-แม่ต้องจากบ้านไปทำงาน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า และมีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด

แต่หลังจากที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามาขยายผล “โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” โดยใช้ต้นแบบ EF จากอำเภอพญาเม็งรายที่ได้ขับเคลื่อน EF ในพื้นที่ จนส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการดีขึ้น โดยมีค่า EF สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ (norm) ถึง 20%

ซึ่งการนำต้นแบบ EF มาบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ทั้งจังหวัดเชียงราย หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานการศึกษาปฐมวัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการในแต่ละอำเภอ ส่งผลให้เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ

สำรวจประชากรเด็กปฐมวัยเชียงราย

เด็กปฐมวัยของจังหวัดเชียงรายที่มีอายุระหว่าง 0-6 ปี มีจำนวน 57,853 คน คิดเป็นร้อย 46.3 ของเด็กและเยาวชน ทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย ปัจจุบัน มีเด็กปฐมวัย ที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนกว่า 35,377 คน และมีบุคลากรด้านสาธารณสุข ครูปฐมวัย ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการ 39,177 ราย และมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้เรื่อง EF หรือ EF Facilitator กว่า 270 คน ร่วมกันเผยแพร่ส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขึ้น


นอกจากนี้ จังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมทักษะสมอง Executive Functions (EF) จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินงานเชิงลึกและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง

วางเสาเข็มของชีวิตปฐมวัย

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เปิดเผยว่า การพัฒนาทักษะสมอง EF เริ่มตั้งแต่ขวบปีแรก จนถึงประมาณ 25 ปี แต่ช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทักษะสมอง EF มีการพัฒนาเติบโตได้ดีที่สุด ปฐมวัยจึงเป็นการวางเสาเข็มของชีวิต เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมอง หรือ Executive Functions: EF อย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี มีวินัยและความรับผิดชอบ พร้อมผลักดันพากเพียรพาตนเองไปสู่เป้าหมายของชีวิต

มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า หากเด็กตั้งแต่ปฐมวัยขาดทักษะ EF จะทำให้ไม่สามารถยับยั้งตนเอง หรืออดกลั้นต่อสิ่งเร้ารอบตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้ นำไปสู่การ “ติด” ต่างๆ ในอนาคต เช่น ติดเกม ติดเพื่อน ติดสุรา ติดบุหรี่และยาเสพติด หรือการตกอยู่ในภาวะจิตใจบกพร่อง เช่น ซึมเศร้า จิตเภท กำกับพฤติกรรมตนเองไม่ได้ ก้าวร้าว ทำผิดกฎหมาย แต่หากเด็กมีทักษะ EF เขาจะมีความสามารถในการกำกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนได้ดี นอกจากนี้ ทักษะสมอง EF เป็นฐานรากของการพัฒนาต่อยอดกระบวนการคิดและบุคลิกภาพที่ซับซ้อนขึ้น หรือที่เรียกว่าเป็น “การคิดขั้นสูง” อันจะนำไปสู่การมี “ทักษะศตวรรษที่ 21” ที่จำเป็นยิ่งต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่

“ปัญหาเยาวชนไม่ว่า การกราดยิง ความก้าวร้าวรุนแรง ยาเสพติด แม่วัยใส โรคซึมเศร้า ฯลฯ ล้วนมีรากมาจากการเลี้ยงดูพัฒนาในช่วงปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสะสมมาจนปรากฏเป็นความเสียหายในช่วงวัยรุ่น ส่งผลต่ออนาคตที่ง่อนแง่นคลอนแคลน แต่หากเด็กได้รับการพัฒนาให้เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถกำกับตนเองได้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และอยู่กับคนอื่นเป็นตั้งแต่ปฐมวัย โดยผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวในระบบนิเวศร่วมมือกันดูแลและให้โอกาสฝึกฝนอย่างจริงจัง ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบจังหวัดเชียงราย โครงสร้างสมองของเด็กก็จะก่อรูป ฝังเป็นคุณลักษณะนิสัยที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโต เป็นคนคุณภาพของประเทศต่อไปในโลกที่แปรปรวน”

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ของกลุ่มคนที่เป็นรากฐานของสังคม โดยมีแนวทางในการทำงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย